การแยกหน่วยพัฒนาเทคโนโลยีออกมาเป็น SCB Tech X ในช่วงปีที่ผ่านมา ได้กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้เข้าไปปลดล็อกรูปแบบการทำงานหลายๆ อย่าง จากเดิมที่มีข้อจำกัดในความเป็นธนาคารที่มีกฎข้อบังคับต่างๆ ให้ทำตามเพื่อให้สามารถรักษาความปลอดภัยได้ตามมาตรฐานเดิมที่วางไว้
แต่ด้วยการพัฒนาของเทคโนโลยีที่ปรับเปลี่ยนแปลงไป SCB Tech X จึงไม่ได้หยุดอยู่แค่การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อให้บริการแก่ธนาคารอีกต่อไปแล้ว พร้อมกับประกาศวิสัยทัศน์ในการเป็นบริษัทที่ต้องการสร้างนวัตกรรมที่มีการทำงานแบบ Agile ทำให้สามารถนำเสนอโซลูชัน และผลิตภัณฑ์ได้ตรงกับความต้องการอย่างรวดเร็ว
ปวเรศ หวังดี Chief Product Officer SCB Tech X เล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นของทีม Tech X ว่าเกิดขึ้นจากทีมไอที และดิจิทัลในธนาคารไทยพาณิชย์ ที่แยกออกมาเป็นบริษัทใหม่ และนับว่าเป็นโชคดีมากๆ ที่ก่อนหน้าเกิดสถานการณ์โควิด-19 ในทีมมีการเตรียมความพร้อมเรื่องแผนดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง (Business Continuity Planning) ไว้อยู่แล้ว แต่ไม่มีใครคาดคิดว่าจะได้ใช้
“ในช่วงที่มีการล็อกดาวน์ ทีมเทคโนโลยีนับเป็นทีมแรกที่สามารถ Work from Home ได้ในทันที แสดงให้เห็นถึงความพร้อม จนกลายเป็นรูปแบบการทำงานใหม่ที่ต้องทำงานจากที่ไหนก็ได้ ก่อนที่ในช่วงมีแผนแยกออกมาตั้งบริษัท เลยแทบไม่กลายเป็นปัญหาเลย เพราะนำ BCP ที่เตรียมไว้มาใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ”
นอกเหนือจากการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไปของ Tech X การเพิ่มตัวเลือกดีไวซ์ในการนำมาใช้งานก็นับเป็นอีกเรื่องที่มีการเปลี่ยนแปลง จากเดิมในยุคที่อยู่ภายใต้ธนาคารไทยพาณิชย์ นโยบายในการใช้งานอุปกรณ์จะอยู่กับเงื่อนไขของงานที่ทำเป็นหลัก ทำให้เกิดเป็นการตีเส้นของการทำงาน พอปรับเปลี่ยนมาเป็น Tech X จึงได้มีการปรับปรุงนโยบายให้เปิดกว้างมากขึ้น
“ด้วยการพัฒนาของเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้แนวคิดการนำอุปกรณ์ส่วนตัวมาใช้งาน หรือการเลือกคอมพิวเตอร์ที่ใช้งานตามความถนัด กลายเป็นจุดเด่นของทีม Tech X ที่เปิดให้เลือกได้ว่าจะใช้งานเครื่องบนระบบปฏิบัติการวินโดวส์ หรือแมคก็ได้ และที่สำคัญการเปิดให้นำอุปกรณ์ส่วนตัวมาใช้งานอย่าง iPhone หรือ iPad ก็จะช่วยให้บริษัทสามารถควบคุมความปลอดภัย และตรวจสอบได้ด้วย”
เรียกได้ว่าก่อนหน้าที่จะมาเป็น Tech X ทีมจะเลือกใช้งาน Device by Design หรือตามลักษณะงานที่ต้องทำ แต่พอมาเป็น Tech X จะกลายเป็น Device of Choice ที่เปิดให้พนักงานได้เลือกใช้งานอุปกรณ์ที่มีความถนัด และที่สำคัญคือทั้งวินโดวส์ และแมคต่างมีความน่าเชื่อถือ และความปลอดภัยในระดับสูงอยู่แล้ว
ที่ผ่านมา Macbook นับเป็นอุปกรณ์หลักของทั้งทีมนักพัฒนา และทีมออกแบบประสบการณ์ผู้ใช้ (User Experience : UX) อยู่แล้ว ซึ่งตามเป้าหมายของการเพิ่มทีมงานในปีนี้จากเดิมที่มีพนักงานราว 700 คน เป็น 1,000 คน ในปีนี้ โดยราว 60% จะเป็นทีมนักพัฒนาที่ใช้งาน Macbook และอีกราว 40% ที่เป็น UX และทีม Non Tech ก็จะมีสัดส่วนที่ใช้งาน Macbook เพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับ Windows
ประเด็นสำคัญที่ทาง Tech X มองว่าการเลือกใช้งาน MacBook โดยเฉพาะเครื่องรุ่นใหม่ที่ทำงานบนชิปเซ็ต Apple M1 คือการเปรียบเทียบในเรื่องของราคากับประสิทธิภาพที่ได้ เปรียบเหมือนการลงทุนที่ได้ผลลัพธ์กลับมาที่ดีขึ้น แน่นอนว่าด้วยระดับราคาที่สูง แต่ถ้าเทียบกับจำนวนปีที่ใช้งาน MacBook นับเป็นอุปกรณ์ที่มีความคุ้มค่ามาก
ไมเคิล แทน Software Development Director ให้ข้อมูลเสริมถึงการใช้งานในฝั่งของทีมนักพัฒนาที่ปัจจุบันเน้นพัฒนาแอปพลิเคชันบนโมบายเป็นหลัก ทำให้ต้องมีการรัน Native Mobile SDK ในขั้นตอนของการพัฒนาแอปพลิเคชันต่างๆ ซึ่งกลายเป็นว่าเครื่อง MacBook ที่ใช้ชิป Apple M1 ช่วยย่นระยะเวลาในการทำงานได้ดีขึ้น จากเดิมที่อาจจะใช้เวลา 20 นาทีในการรันโค้ด แต่ปัจจุบันใช้เวลาเพียงครึ่งเดียวเท่านั้น
“สิ่งที่เกิดขึ้นคือนักพัฒนาทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ช่วยลดระยะเวลาในการพัฒนาแอปพลิเคชัน หรือแก้ไขงาน ทำให้สามารถนำเวลาไปพัฒนาอย่างอื่นต่อได้”
ขณะที่ วัยวุฒิ นิ่มกิตติกุล Senior UX Designer ซึ่งนับเป็นหนึ่งในทีมที่ใช้งาน Macbook มาตั้งแต่ในยุคของธนาคารไทยพาณิชย์ เนื่องจากส่วนใหญ่แล้วโปรแกรมในการทำงาน UX จะอยู่บนเครื่องแมคเป็นหลัก ซึ่งในยุคก่อนการใช้งานค่อนข้างจะมีปัญหาเพราะทีมงานฝ่ายไอทีซัปพอร์ตจะไม่ค่อยมีความเชี่ยวชาญเท่ากับอุปกรณ์หลักที่ใช้งานกันคือวินโดวส์
อย่างไรก็ตาม ด้วยการที่อยู่ในส่วนของ UX การได้ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มี UX ที่ดีอย่างแมค ได้ช่วยให้เห็นถึงแนวทางในการพัฒนา และนำมาเป็นมาตรฐานสำคัญในการออกแบบประสบการณ์ผู้ใช้ รวมถึงในแง่ของการแสดงผลของหน้าจอที่ให้สีสันแม่นยำ และแทร็กแพดที่ใช้งานได้ลื่นไหล จึงมองว่าการเลือกใช้ MacBook นับเป็นเครื่องมือที่ช่วยในการทำงาน
ไม่ใช่แค่ในฝั่งของผู้ใช้งานเท่านั้นที่มีพัฒนาการขึ้น แต่ในฝั่งของไอที ซัปพอร์ต ก็เห็นถึงความแตกต่างเช่นกัน โดยเฉพาะในการติดตั้งโปรแกรม หรือแอปพลิเคชันในอุปกรณ์ใหม่เพื่อใช้ทำงานแบบมาตรฐาน จะสามารถประหยัดเวลาไปได้เกือบ 2 ชั่วโมง รวมถึงในของการดูแลรักษาที่เครื่อง MacBook จะไม่ค่อยเกิดปัญหาเท่ากับในฝั่งของ Windows ทำให้ช่วยประหยัดเวลา และแรงงานของทีมซัปพอร์ตไปในตัว
ปัจจุบัน SCB Tech X ให้บริการทั้งเป็นที่ปรึกษาเทคโนโลยี ผลิตภัณฑ์ทางการเงิน รวมถึงแพลตฟอร์มทางด้านดาต้า และซิเคียวริตีต่างๆ และอยู่เบื้องหลังของแอปพลิเคชันที่รู้จักกันทั้ง SCB Easy ที่ให้บริการทางการเงิน Spring Up แพลตฟอร์มด้านสุขภาพ แอปแม่มณี สำหรับร้านค้าปลีก และ Robinhood ที่ครอบคลุมทั้งเรื่องฟูดเดลิเวอรี ท่องเที่ยว และจะขยายไปยังบริการอื่นๆ ในอนาคต