xs
xsm
sm
md
lg

ผ่าวิสัยทัศน์ “ชไนเดอร์ อิเล็คทริค” ปี 65 ตอกย้ำมุ่งพาไทยทรานส์ฟอร์มสู่ความยั่งยืน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เปิดวิสัยทัศน์ล่าสุดจากบริษัทที่ถูกจัดอันดับให้เป็นอันดับ 1 ด้านความยั่งยืนที่สุดในโลกในปี 2564 “ชไนเดอร์ อิเล็คทริค” ระบุปี 65 องค์กรต่าง ๆ ในไทยมีความตื่นตัวด้านการทรานส์ฟอร์มไปสู่ความยั่งยืน ทั้งองค์กรขนาดใหญ่ กลาง และเล็ก ความตระหนักรู้ของสังคมผลักดันให้ชไนเดอร์ฯ มุ่งเดินหน้าแสดงให้ทุกฝ่ายทราบว่า โซลูชันด้านความยั่งยืนมีอยู่จริง มีอยู่แล้ว เป็นโซลูชันที่ไม่ซับซ้อน และคุ้มค่าการลงทุนเพราะให้ผลดีกับทั้งกับธุรกิจและโลก มุมมอง 3 ส่วน “โซลูชัน-อีโคซิสเต็มส์-ระบบไฟฟ้าดิจิทัล” เป็นส่วนผสมหลักที่ชไนเดอร์ฯ จะส่งถึงชุมชน เพื่อให้ประเทศไทยเกิดการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลที่สามารถจัดการพลังงานและช่วยให้โลกดีขึ้นอย่างยั่งยืน

"สเตฟาน นูสส์" (Stephane Nuss) ประธานกลุ่มคลัสเตอร์ ดูแลประเทศไทย ลาว และเมียนมา ของชไนเดอร์ อิเล็คทริค กล่าวถึงวิสัยทัศน์ล่าสุดของบริษัทผ่านเวทีงานประชุม BCG Economy and Growth Opportunities for Thai Industries ซึ่ง ชไนเดอร์ อิเล็คทริค เป็นหัวเรือใหญ่ในการเปิดพื้นที่ เพื่อให้ผู้บริหารและผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีจากองค์กรชั้นนำต่าง ๆ ได้เชื่อมโยงกันผ่านภารกิจด้านความยั่งยืน โดยได้อัปเดตถึงสิ่งที่องค์กรต่าง ๆ รวมถึง ชไนเดอร์ฯ ได้ลงมือทำและพัฒนาแล้ว ซึ่งแนวทางหลักของทุกองค์กรยังคงมุ่งเน้นไปที่ การร่วมเป็นพันธมิตรซึ่งกันและกันเพื่อการทำดิจิทัลทรานสฟอร์เมชันสู่ความยั่งยืน

“อีโคซิสเต็มส์ คือ การที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน ระบบไฟฟ้าดิจิทัล (digital-electricity) คือทางออกเพื่อการจัดการพลังงานที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งไม่เพียงลูกค้า แต่ ชไนเดอร์ฯ ได้สร้างความตระหนักให้เกิดขึ้นทุกฝ่าย ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดการทำงานร่วมกัน ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นบนวิสัยทัศน์ที่เราต้องการอธิบายว่า โซลูชันที่ดีต่อโลกนั้นมีอยู่ พร้อมใช้งาน และไม่มีความซับซ้อน ไม่ใช่การลงทุนที่สูญเปล่า แต่เป็นการนำเสนอสิ่งที่ชไนเดอร์ได้ทำขึ้นมาแล้ว”

วิสัยทัศน์นี้ไม่ได้ใหญ่เกินไปสำหรับชไนเดอร์ฯ เนื่องจากชไนเดอร์ อิเล็คทริค เป็นบริษัทผู้นำด้านดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน เรื่องการจัดการพลังงานและระบบอัตโนมัติ จุดยืนของบริษัทมุ่งเน้นอย่างต่อเนื่องชัดเจนเรื่อง ESG (สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล) จนปีที่แล้ว ชไนเดอร์ฯ ได้รับตำแหน่งบริษัทที่ยั่งยืนที่สุดในโลก (Most sustainable corporations) ในทำเนียบ Global 100 ประจำปี 2564 ซึ่งสเตฟานย้ำว่าบริษัทพร้อมที่จะก้าวต่อไปให้เร็วขึ้นอีก

ลดคาร์บอนสำเร็จ 134 ล้านตัน

ความมั่นใจของสเตฟานมาจากศักยภาพโซลูชันของชไนเดอร์ฯ ที่สามารถลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ให้กับลูกค้าได้มากกว่า 134 ล้านตัน จากปี 2561-2563 เมื่อรวมในไตรมาสแรกของ 2564 เท่ากับ 276 ล้านตัน โดย 80% ของรายได้บริษัทนั้นมาจากโซลูชั่นที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จุดนี้ชไนเดอร์ฯ ยืนยันว่าจะยังคงเร่งมุ่งมั่นเพื่อสร้างความยั่งยืนต่อไป และจะนำร่องการพัฒนาด้าน ESG ด้วยตัวอย่างในระบบนิเวศของบริษัท ผ่านการเป็นพันธมิตรด้านดิจิทัลเพื่อความยั่งยืนและเพิ่มประสิทธิภาพให้ลูกค้าทุกราย

“ทุกประเทศต่างตื่นตัวกับเรื่องความยั่งยืน สำหรับประเทศไทยนั้นมีความตื่นตัวทั้งในภาครัฐ และเอกชน แนวโน้มที่เกิดขึ้นคือการใช้ดิจิทัลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน และข่าวดีคือดิจิทัล ช่วยทำให้ประสิทธิภาพของการทำงานทุกอย่างดีขึ้น โดยเฉพาะการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลกับระบบไฟฟ้า เพื่อลดคาร์บอนไดออกไซด์ นำไปสู่ความยั่งยืน ที่อัจฉริยะกว่าและรักษาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น”


ชไนเดอร์ฯ ระบุว่าได้เริ่มดำเนินการโดยมุ่งไปที่ 2 ส่วน คือ บริษัทชไนเดอร์ฯ เองและภายนอกบริษัท ซึ่งในฐานะที่เราได้รับการจัดอันดับให้เป็นผู้นำด้าน ESG เราพร้อมในการเป็นพันธมิตรดิจิทัล เพื่อช่วยลดคาร์บอนไดออกไซด์ให้กับลูกค้า โดยคาดว่าปี 2568 จะทำให้เกิดความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutral) และปี 2573 จะเป็นบริษัทที่ปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ (Net Zero) ขณะที่ปี 2583 จะขยายต่อไปยังบริษัทอื่น ๆ ในการไม่ปล่อยคาร์บอนด้วย

หลักคิดของชไนเดอร์ฯ คือการมุ่งสู่ภาพรวมของซัพลายเชน เป็นหัวใจสำคัญของเส้นทางการสร้างความยั่งยืน จึงเกิดความร่วมมือกันหลายฝ่าย ทำให้ชไนเดอร์ฯ สามารถประกาศเป้าหมายสำคัญในด้านต่าง ๆ ตั้งแต่การตั้งเป้าในปี 2550 ในการลดความเข้มข้นของน้ำให้ได้ที่ 30% ใน 12 ปี ปี 2552 บริษัทตั้งเป้าลดการใช้พลังงาน 10-12% ในทุก 3 ปี เมื่อช่วง 12 ปีที่ผ่านมา และในปี 2560 บริษัทตั้งเป้าใช้ไฟฟ้าหมุนเวียน 2-80% ใน 3 ปี และในปี 2564 ที่ชไนเดอร์ฯ ตั้งเป้าให้ 51 ไซต์งาน มีปริมาณการปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศสุทธิเป็นศูนย์

อีกความสำเร็จหนึ่ง คือ ตัวอย่างโรงงานของชไนเดอร์ที่บางปู โรงงานนี้ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ครอบคลุม ถึง 22% ของการใช้พลังงานทั้งหมดต่อปี หรือคิดเป็น 60% ของการทำงานในเวลากลางวัน สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 686 ตันต่อปี ทั้งหมดนี้ถือว่าการลงทุนคิดเป็นศูนย์ จากการประหยัดได้ 3-5% ต่อปีในช่วง 12 ปีแรก หลังจากนั้น สามารถประหยัดได้ประมาณ 22% ต่อปี สะท้อนว่าการลงทุนในระบบโซลูชัน เพื่อสิ่งแวดล้อมนั้นส่งผลดีในเรื่องของการลดค่าใช้จ่ายที่แท้จริง

การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) ถือเป็นหนึ่งในบริษัทที่นำเทคโนโลยีของชไนเดอร์ฯ ไปใช้กับศูนย์กระจายไฟฟ้าได้อย่างโดดเด่น ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น คือการเพิ่มประสิทธิภาพ ทำให้ความถี่ของอัตราการหยุดชะงักของการจ่ายไฟฟ้าลดลง โดยเฉลี่ย 30% ความเสี่ยงของระบบจ่ายไฟล่ม ลดลงถึง 20% พร้อมทั้งรองรับความต้องการในอนาคต ขยายระบบไฟฟ้าไปสู่การรองรับ EV และ PV หรือ MG ได้

หากมองในภาพกว้าง ชไนเดอร์ อิเล็คทริค ยังวางเป้าหมายให้ปี 2568 เป็นปีที่เกิดผลกับ 5 ส่วนในอีโคซิสเต็มส์ของบริษัท ส่วนแรกคือพนักงานที่จะเป็นกำลังสำคัญในการบรรลุภารกิจให้เป็นกลางทางคาร์บอน ส่วนที่ 2 คือลูกค้า ที่จะลดการปล่อยคาร์บอนให้ได้ 800 เมตริกตัน ส่วนที่ 3 คือนักลงทุน ซึ่งจะได้รับประโยชน์จาก 80% ของ “รายได้สีเขียว” จากชไนเดอร์ฯ รวมถึงการปฏิบัติตามหลัก ESG ส่วนที่ 4 คือชุมชน ซึ่งประชาชนกว่า 50 ล้านคนจะได้เข้าถึง “ไฟฟ้าสีเขียว” และอีก 1 ล้านคนจะได้รับการฝึกอบรมด้านการจัดการพลังงาน ขณะที่ส่วนที่ 5 คือซัพพลายเออร์ ที่จะลดการปล่อยมลพิษลงครึ่งหนึ่งหรือ 50%

ทั้งหมดนี้ สเตฟานย้ำว่า ชไนเดอร์ฯ กำลังก้าวไปสู่ภารกิจที่สำคัญ โดยตั้งเป้าที่จะระดมหน่วยงาน องค์กรในระบบนิเวศทั้งหมด ของบริษัท เพื่อหาทางออกให้โลกได้มีผลลัพธ์เชิงบวกในแง่ของสภาพภูมิอากาศ ตามหลักคิด BCG Economy ที่รวม 3 หัวข้อหลักไว้ด้วยกัน ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) ซึ่งเป็นโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาแบบยั่งยืน ที่จะไม่จำกัดแค่อุตสาหกรรมหลัก แต่ต้องทำกับทุกภาคส่วนของไทย โดยจะต้องเห็นความสำคัญของการส่งเสริมความยั่งยืน ท่ามกลางวิกฤตมากมายในโลกปัจจุบัน

หลังโควิด-19 ลุยเอสเอ็มอี

เมื่อถามว่า ชไนเดอร์ฯ เห็นเทรนด์ความตื่นตัวเรื่อง BCG ขององค์กรไทยในช่วง 1-2 ปีหลังการระบาดของโควิด-19 ว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปขนาดไหนเมื่อเทียบกับช่วงก่อนการระบาด สเตฟานระบุว่าเห็นแนวโน้มเชิงบวก แม้อยู่ในช่วงหลังการระบาด แต่ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศก็เป็นสิ่งที่ทุกคนให้ความสำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะองค์กรใหญ่ที่เป็นตัวอย่างที่ดี ทำให้กลุ่มเป้าหมายของชไนเดอร์ฯ ในช่วงหลังจากนี้ครอบคลุมทุกกลุ่มธุรกิจทั้งขนาดใหญ่ กลาง และเล็ก ซึ่งปัจจุบัน ชไนเดอร์ฯ พบว่าหลักคิดเรื่อง BCG สามารถเข้าถึงเอสเอ็มอีได้อย่างชัดเจนมากขึ้น

สำหรับความคืบหน้าในการบุกตลาดเอสเอ็มอีไทย สเตฟานเผยว่า เป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยปัจจุบัน ชไนเดอร์ฯ มีพันธมิตรกว่า 1,000 ราย ที่มีความร่วมมือกันทั้งในฐานะพันธมิตรและลูกค้าของชไนเดอร์ฯ เพื่อเดินหน้าอธิบายให้ทุกองค์กรเข้าใจว่าต้องมีกระบวนการอย่างไร ในการทำดิจิทัลทรานฟอร์เมชัน เพื่อให้สามารถลดการใช้พลังงาน หรือเพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียนได้

ทั้งหมดนี้เป็นไปตามเป้าหมายการลดผลกระทบต่อโลก ทั้งในส่วนของชไนเดอร์ฯ และลูกค้า ซึ่งจะเกิดผลดีต่อชุมชนในอนาคต ตามวิสัยทัศน์ที่ชไนเดอร์ อิเล็คทริค จะมุ่งพาประเทศไทยสู่การทรานส์ฟอร์เมชันอย่างยั่งยืนให้ได้


กำลังโหลดความคิดเห็น