กสทช.หารือทีวีดิจิทัล กรณีเสนอข่าว “หลวงปู่แสง” ชี้ยังไม่มีความผิดทางปกครอง เหตุยังไม่มีผู้เสียหายเข้ามาร้องเรียน เผยเชื่อใจองค์กรวิชาชีพ และเจ้าของทีวีดิจิทัลตรวจสอบกันเอง และมีบทลงโทษที่เหมาะสม พร้อมจับมือองค์กรวิชาชีพสื่อตั้งคณะทำงานคุมเนื้อหาไม่เหมาะสม ปิ๊งไอเดียนำ AI ตรวจับเนื้อหาสุ่มเสี่ยง จูงใจทีวีดิจิทัลน้ำดี ปั้นคะแนน สร้างดาว เพื่อรับส่วนลดหรือสิทธิพิเศษ จูงใจเอเยนซีตระหนักการลงโฆษณาทีวีดิจิทัลที่มีดาว แทนการพิจารณาแค่เรตติ้ง
น.ส.พิรงรอง รามสูต กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 19 พ.ค.2565 ได้หารือเรื่อง “แนวทางการนำเสนอข่าวภายใต้มาตรฐานจริยธรรมวิชาชีพ” ร่วมกับบรรณาธิการข่าวทีวีดิจิทัล และองค์กรวิชาชีพสื่อที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างความเข้าใจต่อแนวทางในการนำเสนอข่าวภายใต้มาตรฐานจริยธรรม แนวทางการป้องกันแก้ไข และผลักดันกลไกการกำกับดูแลกันเองของสื่อมวลชนในกิจการกระจายเสียง ในกรณีการนำเสนอข่าว หลวงปู่แสง โดยที่ประชุมได้สรุปถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า เกิดมาจากความไม่รู้ของนักข่าวภาคสนาม และการตรวจสอบไม่ดีพอของกองบรรณาธิการข่าว มีวิธีการได้มาซึ่งข่าวสารโดยมิชอบ ซึ่งเรื่องนี้เจ้าของทีวีดิจิทัลได้แสดงความรับผิดชอบด้วยการลงโทษให้นักข่าวพ้นสภาพการทำงาน นับเป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่เกิดขึ้นในการลงโทษรูปแบบนี้ ซึ่งก็ต้องเคารพในการตัดสินใจของกองบรรณาธิการ รวมถึงองค์กรวิชาชีพสื่อก็ออกมาตรวจสอบกันเองด้วย
ส่วนเรื่องความผิดของทีวีดิจิทัลในกรณีการนำเสนอข่าว หลวงปู่แสง นั้น ขณะนี้ กสทช.ยังไม่มีการลงโทษตามมาตรา 37 แห่งพ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 ในการนำเสนอเนื้อหาไม่เหมาะสม มีผลกระทบต่อให้เกิดความเสื่อมทรามทางจิตใจ เนื่องจากบทลงโทษดังกล่าวตามมาตรา 40 ระบุว่า ผู้ที่ได้รับความเสียหายซึ่งถูกละเมิดสิทธิ เสรีภาพ เกียรติยศ ชื่อเสียง ต้องเข้ามาร้องเรียนที่กสทช.แต่ขณะนี้ผู้เสียหายยังไม่ได้เข้ามาร้องเรียน หากเข้ามาร้องเรียน กสทช.ก็มีมาตรา 39 ผู้กระทำผิดเยียวยาผู้เสียหายด้วย
อย่างไรก็ตาม ในประเด็นการดูแลเนื้อหาของทีวีดิจิทัลนั้น กสทช.กำลังอยู่ระหว่างการตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อดูแลเนื้อหาชุดใหม่ด้วย จากเดิมที่มี 3 ชุด ตามหน้าที่ของกรรมการ กสทช.เดิมที่มีด้านกระจายเสียง 3 คน มีคณะอนุกรรมการ 3 ชุด แต่ด้วยโครงสร้างใหม่ที่มีตนเองดูแลด้านกิจการโทรทัศน์คนเดียวนั้น กสทช.ต้องตั้งคณะอนุกรรมการชุดใหม่ให้หลอมรวมอยู่ในชุดเดียวกัน และต่อไปการตีความในมาตรา 37 จะอาศัยการตีความในด้านการเสริมสร้างกันมากกว่าการมีบทลงโทษทางปกครองตามกฎหมายที่ กสทช.มีอำนาจเพียงอย่างเดียว เพราะเนื้อหาในมาตรา 37 ต้องอาศัยการตีความให้ชัดเจน
น.ส.พิรงรอง กล่าวว่า ในที่ประชุมมีข้อเสนอที่สามารถเป็นแนวทางในการดูแลมาตรฐานจริยธรรมวิชาชีพสื่อที่สามารถทำเป็นรูปธรรมได้ นั่นคือ การใช้เทคโนโลยี AI ในการตรวจจับเนื้อหาที่มีความสุ่มเสี่ยง เนื้อหาไม่เหมาะสม นำมาเป็นการให้คะแนน และมีการติดดาวให้ช่องที่มีการนำเสนอเนื้อหาสร้างสรรค์ นำไปสู่การให้สิทธิบางอย่างกับช่องที่ติดดาว เช่น การลดค่าธรรมเนียม การเป็นข้อพิจารณาในการลงโฆษณาในสื่อนั้นๆ โดย กสทช.จะมีการตั้งคณะทำงานร่วมกับองค์กรวิชาชีพสื่อเพื่อทำงานร่วมกัน เพราะสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ทีวีดิจิทัลแข่งขันนำเสนอเนื้อหารวดเร็ว เพราะต้องการเรตติ้งเพื่อมียอดโฆษณา เนื่องจากต้นทุนของธุรกิจทีวีดิจิทัลสูง