xs
xsm
sm
md
lg

สิ่งที่ได้ยินและไม่ได้ยินจากโฟกัสกรุ๊ปควบรวมทรู-ดีแทค ครั้งที่ 1 / ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา อดีตกรรมการ กสทช.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กสทช. ได้จัดการรับฟังความคิดเห็นครั้งแรกต่อการรวมธุรกิจไปแล้วเมื่อวันที่ 9 พ.ค.2565 ที่ผ่านมา โดยเริ่มรับฟังความเห็นจากผู้เกี่ยวข้องภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรม และจะมีการจัดรับฟังความคิดเห็นต่อเนื่องเพื่อรวบรวมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน

การรวมธุรกิจนั้น เอกชนผู้ขอรวมธุรกิจย่อมเล็งเห็นประโยชน์ที่จะเกิดแก่ตนเองเป็นเบื้องต้น แต่หากไม่เกิดประโยชน์กับผู้อื่นหรือทำให้ผู้อื่นได้รับผลกระทบเชิงลบ การรวมธุรกิจก็จะได้รับเสียงคัดค้าน ในการรับฟังความคิดเห็นครั้งแรกนี้ ภาคอุตสาหกรรมดิจิทัลที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์จากการรวมธุรกิจต่างพาเหรดออกมาสนับสนุน เพราะเห็นว่าการรวมธุรกิจครั้งนี้เป็นโอกาสที่จะทำให้มีเม็ดเงินที่จะมาสนับสนุนอุตสาหกรรมดิจิทัลให้เติบโตยิ่งขึ้น

แต่คำถามที่สำคัญในการพิจารณาการรวมธุรกิจ คือ การรักษาระดับการแข่งขันภายหลังการควบรวมและผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ซึ่งเป็นภาระที่ กสทช. ต้องให้ความสำคัญ ปรากฏว่า ผู้ให้บริการรายอื่นซึ่งถือได้ว่าเป็นคู่แข่งในตลาดเดียวกันกับผู้ขอควบรวมออกมาคัดค้าน โดยยกเหตุผลเรื่องระดับการแข่งขันที่จะลดลงภายหลังการรวมธุรกิจและการถือครองคลื่นความถี่ที่เกินกว่าเกณฑ์ที่กำหนดเมื่อครั้งประมูลคลื่นความถี่มาเป็นเหตุผลสำคัญ

แน่นอนว่า กสทช. คงจะได้นำความคิดเห็นทั้งหมดไปประมวลอย่างรอบคอบเพื่อประกอบการตัดสินใจ แต่คำถามที่สำคัญที่มีการถามในเวทีการรับฟังความคิดเห็น ซึ่งไม่ได้เกิดจากการคาดการณ์ว่าฝ่ายใดจะได้ประโยชน์ ฝ่ายใดจะเสียประโยชน์ แต่เป็นคำถามที่อยากให้ผู้ขอรวมธุรกิจตอบให้ชัดเจน ซึ่งหากมีความชัดเจนย่อมจะเป็นประโยชน์ในการตัดสินใจของทุกฝ่าย คือคำถามจากผู้แสดงความคิดเห็นที่สังกัดหอการค้าไทย

เป็นคำถามเกี่ยวกับผลกระทบทั้งเชิงบวกและเชิงลบที่จะเกิดขึ้นในกลุ่มต่างๆ โดยแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ ผลกระทบที่จะเกิดกับผู้บริโภค กับพนักงานหรือคู่ค้ารวมถึงทรัพยากรโครงสร้างพื้นฐานในปัจจุบัน และผลกระทบที่จะเกิดกับสังคมโดยรวม ซึ่งหากผู้ขอควบรวมมีเจตนาที่จะให้ผู้บริโภค พนักงาน คู่ค้า และสังคมได้รับประโยชน์สูงสุดก็สามารถแสดงทิศทางของเป้าหมายและการดำเนินการเพื่อตอบโจทย์เหล่านี้ รวมถึงความพยายามในการลดผลกระทบเชิงลบด้วย เมื่อมีความชัดเจนแล้วย่อมเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคำขอรวมธุรกิจไปในตัวว่าจะได้รับการสนับสนุนหรือไม่

และในเวทีรับฟังความคิดเห็นที่ผ่านมา เสียงที่หายไปคือเสียงจากภาคธุรกิจ หรืออุตสาหกรรมที่เป็นลูกค้าประเภทองค์กรจากภาคธุรกิจหรืออุตสาหกรรมต่างๆ เช่น ภาคการผลิต ภาคการเกษตร ที่จะต้องใช้โครงข่าย 5G หรือใช้โครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่อื่นๆ ในการประกอบการในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หากการรวมธุรกิจทำให้การแข่งขันลดลงอย่างรุนแรง อาจทำให้เกิดภาระต้นทุนที่สูงขึ้นต่ออุตสาหกรรมต่างๆ ที่เป็นลูกค้า ท้ายที่สุดภาระย่อมตกไปสู่ผู้บริโภคผลผลิตเหล่านั้น เข้าใจได้ว่าที่ไม่มีการส่งเสียงคัดค้านหรือสนับสนุน ต่างจากกลุ่มที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์อย่างภาคอุตสาหกรรมดิจิทัล ก็เพราะความไม่ชัดเจนในอนาคตนั่นเอง

การแสดงความชัดเจนจากผู้ขอรวมธุรกิจจึงเป็นจุดสำคัญควบคู่ไปกับการรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ หากไม่มีความชัดเจนย่อมเป็นธรรมดาที่สังคมจะกังวลต่อการรวมธุรกิจครั้งนี้


กำลังโหลดความคิดเห็น