xs
xsm
sm
md
lg

Veeam มองตลาดสำรองข้อมูลไทยบวกปนลบ คว้าดีล กฟผ. กู้ไฟล์เร็วจากชั่วโมงเหลือ 5 นาที

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ผู้บริหารวีมชี้ว่า บริษัทกำลังหาลู่ทางขยายดีลกับ กฟผ. เพื่อให้บริการระบบสำรองข้อมูลบนบริการสร้างเอกสารบนคลาวด์อย่าง Office 365
วีม ซอฟต์แวร์ (Veeam Software) ประเมินตลาดโซลูชันการบริหารจัดการการสำรองและกู้คืนข้อมูลในไทยปี 65 มีทั้งปัจจัยบวกและลบ โชว์เคสธุรกิจไปได้สวยด้วยดีลการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่เลือกใช้โซลูชันของวีม จนสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการกู้ข้อมูลสาธารณูปโภคด้านพลังงานของรัฐถึง 12 เท่า แถมยังลดต้นทุนด้านบุคลากรได้ชัดเจน

นายเจษฎา ภาสวรวิทย์ ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย Veeam Software (Thailand) กล่าวระหว่างการประกาศดีล กฟผ. เลือกใช้โซลูชันของวีม ถึงทิศทางของตลาดโซลูชันสำรองและกู้คืนข้อมูลในประเทศไทยว่า ปัจจุบันนี้องค์กรอยู่รอดได้ด้วยข้อมูลหรือดาต้า องค์กรต้องใช้ดาต้าในการวิเคราะห์ การออกแบบแคมเปญให้โดนใจ รวมถึงการใช้ดาต้าเพื่อสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ เมื่อข้อมูลมีความสำคัญ และภาวะที่ต้องทำงานเวิร์กฟอร์มโฮม รวมถึงการติดต่อประสานงานของซัปพลายเชนทั้งระบบ ทั้งหมดล้วนเป็นตัวขับเคลื่อนให้เกิดการลงทุน ทำให้เห็นปัจจัยบวกที่ชัดเจนคือการที่ทุกฝ่ายเห็นความสำคัญของข้อมูล โดยเฉพาะรัฐบาลที่ออกเป็นกฎหมาย PDPA ออกมา

อย่างไรก็ตาม แม้ภาพรวมตลาดจะเติบโตดี แต่วีม ยอมรับว่าโควิด-19 ซึ่งเป็นตัวเร่งให้เกิดการลงทุนนั้นยังทำให้เกิดความล่าช้าในการลงทุนด้วย โดยปัจจุบันยังมีมุมมองจากบางองค์กรที่อาจเก็บการลงทุนในระบบสำรองข้อมูลเป็นอันดับท้าย ทั้งที่เมื่อเกิดภัย การสำรองข้อมูลจะเป็นตัวแรกที่ถูกพูดถึง ดังนั้นจึงเชื่อว่าจะมีการปรับลำดับความสำคัญใหม่ในเร็ววันนี้

"คนทำแรนซัมแวร์เก่งขึ้น ทำให้มีความท้าทาย ไม่แค่องค์กรระดับใหญ่อย่าง กฟผ. แต่เอสเอ็มอีรายย่อยให้ความสำคัญ ตอนนั้นปี 2020 ช่วงต้นปีเราคิดว่าแย่แล้ว ไม่รู้จะขายของอย่างไร แต่หลายธุรกิจกลับเติบโต โดยเฉพาะวีมเราโตเป็นเลข 2 หลักตลอด แปลว่าทุกองค์กรให้ความสำคัญ และไม่ใช่แค่การสำรองข้อมูลที่ใครก็ทำได้ แต่องค์กรควรพิจารณาความสามารถของระบบว่าจะสามารถกู้เอาข้อมูลเวอร์ชันไหนขึ้นมา ไม่ใช่เอาข้อมูลเมื่อ 1 ชั่วโมงที่แล้วขึ้นมาใช้"

ปิยพงศ์ วรกี
สำหรับดีลระหว่างวีม และ กฟผ. นั้นเพิ่งถูกประกาศอย่างเป็นทางการ โดยจากระบบเดิมที่ กฟผ. ต้องกู้คืนข้อมูลในหลักชั่วโมง สามารถลดเวลาลงเป็น 5 นาที (เร็วขึ้น 12 เท่า) เมื่อใช้งานระบบของวีม ซึ่งเป็นผลดีในกรณีที่ถูกโจมตี และ กฟผ. ต้องหาทางกลับมาให้บริการได้เร็วที่สุด

นายปิยพงศ์ วรกี ผู้ช่วยผู้ว่าการเทคโนโลยีสารสนเทศ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวถึงการเลือกใช้โซลูชันวีมแบ็กอัปแอนด์เรพลิเคชัน (Veeam Backup & Replication) ว่า กฟผ. เป็นรัฐวิสาหกิจที่ดูแลด้านกิจการพลังงาน รับผิดชอบความมั่นคงด้านกิจการพลังงานไฟฟ้าซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญระดับประเทศ การปรับตัวโดยเฉพาะเรื่องรูปแบบวิธีการทำงานเพื่อให้ยังคงความเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมพลังงานไฟฟ้าจึงเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นเพื่อให้การทำงานเป็นไปอย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพสูงสุด การดำเนินงาน จึงต้องพึ่งพาเทคโนโลยีระบบต่างๆ มากขึ้น และ กฟผ. ต้องมั่นใจว่าระบบและข้อมูลสำคัญจะไม่มีปัญหาทำให้การทำงานต้องสะดุด เพราะหากระบบล่ม ความเสียหายจะไม่ได้จำกัดอยู่แค่ภายในองค์กร แต่จะเกิดผลกระทบเป็นลูกโซ่กับรัฐวิสาหกิจอื่นที่ต้องทำงานประสานกัน เช่น การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ซึ่งทำหน้าที่จำหน่ายกระแสไฟฟ้าให้ประชาชนโดยตรง

“โลกปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไปมาก มีการดิสรัปชันเกิดขึ้นทุกวัน ความท้าทายสำหรับเราคือการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยเสริมในระบบการทำงานเพื่อให้ต้นทุนของการผลิตไฟฟ้าอยู่ในจุดที่ต่ำ และทำให้ประชาชนได้รับประโยชน์”

ผู้บริหาร กฟผ. ระบุว่าสามารถลดต้นทุนด้านการเรียนรู้ของบุคลากร รวมถึงลดระยะเวลาในการปรับใช้และศึกษาแพลตฟอร์มใหม่
ปิยพงศ์ มองว่า กฟผ. มีหน้าที่โดยตรงในการดูแลความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้า ความเสี่ยงจากการสูญเสียข้อมูลที่อาจจะเกิดขึ้นจึงเป็นเรื่องที่ผิดพลาดไม่ได้ สำหรับ Veeam ไม่เพียงแต่ตอบโจทย์เรื่องประสิทธิภาพการใช้งานอย่างเดียว แต่ค่าใช้จ่ายสมเหตุสมผลด้วย ทำให้มั่นใจได้ว่าในกรณีที่เกิดปัญหาใดๆ ที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบการปฏิบัติงานของ กฟผ. ระบบจะสามารถกู้คืนกลับมาได้ในเวลาสั้น มีความพร้อมใช้งานอย่างต่อเนื่องในสภาวะฉุกเฉินและข้อมูลที่สำคัญไม่สูญหาย

ผู้บริหาร กฟผ. ระบุว่า สามารถลดต้นทุนด้านการเรียนรู้ของบุคลากร รวมถึงลดระยะเวลาในการปรับใช้และศึกษาแพลตฟอร์มใหม่ ขณะที่ผู้บริหารวีมชี้ว่า บริษัทกำลังหาลู่ทางขยายดีลเพื่อให้บริการระบบสำรองข้อมูลบนบริการสร้างเอกสารบนคลาวด์อย่าง Office 365 ซึ่งยังต้องรอดูว่าจะทำโครงการเพิ่มเติมกับ กฟผ. ในด้านใดอีกบ้าง


กำลังโหลดความคิดเห็น