ออปโป้ (Oppo) เปิดตัวสมาร์ทโฟนรุ่นใหญ่ประจำปี “OPPO Find X5 Pro 5G” ชนไอโฟนและคู่แข่งทุกรายในตลาดสมาร์ทโฟนไฮเอนด์ด้วยนวัตกรรมกล้องสุดล้ำ พร้อมชิปที่พัฒนาเอง ย้ำก่อนเคาะราคา 39,990 บาทสามารถทำยอดจองเพิ่ม 30% เมื่อเทียบกับรุ่นก่อนหน้า ถือเป็นการเติบโตต่อเนื่องท่ามกลางกำลังซื้อและสถานการณ์ในตลาดมือถือไฮเอนด์ไทยยังไม่นิ่ง มั่นใจพิษชิ้นส่วนขาดตลาดไม่กระทบผลลัพธ์การชิงตลาดไฮเอนด์ในภาพรวม
นายชานนท์ จิรายุกุล ประธานกรรมการอาวุโสฝ่ายบริหาร บริษัท ออปโป้ ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยในงานเปิดตัวสมาร์ทโฟนเรือธงรุ่นใหม่ OPPO Find X5 Pro 5G ว่าผลลัพธ์การชิงตลาดไฮเอนด์ของออปโป้ผ่านสินค้าตระกูล Find X ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมานั้นให้ผลเชิงบวก โดยทำยอดขายเติบโตในทุกรุ่นท่ามกลางเสียงตอบรับที่ดีขึ้นต่อเนื่อง เห็นได้ชัดจากยอดจองแบบไม่รู้ราคาของรุ่นใหม่ Find X5 Pro 5G นั้นสูงกว่ารุ่นก่อนหน้าราว 30-40% สำหรับเป้าหมายการวางจำหน่ายคือการแข่งขันกับตัวเอง เพื่อให้ออปโป้เป็นแบรนด์ที่ผู้บริโภคจะนึกถึงเมื่อต้องการซื้อสมาร์ทโฟนแฟลกชิป
"เราเชื่อว่าตลาดสมาร์ทโฟนแฟลกชิปยังมีรูมที่เติบโตได้อีก สิ่งที่เราเพิ่มคือตัวสินค้าที่ต้องพิเศษขึ้น และบริการหลังการขายที่ดีขึ้น ราคาไม่ใช่ปัจจัยหลัก"
ชานนท์ ให้ข้อมูลว่าออปโป้เปิดตัวสินค้ากลุ่ม Find X และเริ่มทำตลาดในปี 2018 เพราะต้องการเป็นแฟลกชิปของคนทั่วโลก จนปี 2020 บริษัทแจ้งเกิด Find X รุ่นใหม่ 2 รุ่นโดยเพิ่มรุ่นพิเศษที่โคแบรนด์กับลัมโบร์กินี จนปี 2021 มีการเปิดตัว Find X เวอร์ชันพิเศษรุ่นใหม่ที่ร่วมมือกับจิม ธอมป์สัน สำหรับปีนี้ ความน่าตื่นเต้นของ Find X5 Pro 5G คือการเป็นพันธมิตรกับฮาสเซลแบลด (Hasselblad) และการทำชิปของตัวเองเพื่อประมวลผลการถ่ายภาพและวิดีโอ ซึ่งทำให้ไม่ต้องดึงพลังจากชิปหลัก เพิ่มความเก่งเรื่องการถ่ายในที่มืดและย้อนแสง ขณะเดียวกัน พัฒนาฝาหลังเครื่องมาใช้วัสดุเซรามิกที่แข็งแรงรองจากเพชร ผ่านการเข้าเครื่องเจียระไนให้มีเส้นโค้งเพิ่มความหรูหราได้อีกระดับ
แม้ชานนท์ จะไม่ได้กล่าว แต่หลายคนรู้ดีว่าการเปิดตัวสินค้าแฟลกชิปเป็นกลยุทธ์ของออปโป้ในการสร้างแบรนด์เพื่อแข่งขันในตลาดกลาง-ล่างด้วย โดยในช่วงก่อนปี 2018 สมาร์ทโฟนออปโป้ถูกมองเป็นสินค้าระดับราคาไม่เกิน 2 หมื่นบาท แต่ในระยะหลังบริษัทพยายามพัฒนาคอนเซ็ปต์โฟน ทั้งแบบม้วนหรือพับได้ (วางจำหน่ายเฉพาะในจีน) และเริ่มเปิดตลาดไฮเอนด์ในราคาเกิน 3 หมื่นบาท จนล่าสุดคือ Find X5 Pro 5G ที่เคาะราคา 39,990 บาท ซึ่งจะจำหน่ายคู่ไปกับตระกูล Reno ที่นับเป็นแฟลกชิปของออปโป้ด้วย
สำหรับ OPPO Find X5 Pro 5G นั้นถูกนิยามว่าเป็นการเขย่าตลาดสมาร์ทโฟนระดับไฮเอนด์ จุดเด่นของรุ่นนี้คือมาริซิลิกอน (MariSilicon X Imaging NPU) ที่ออปโป้ออกแบบขึ้นเองเป็นครั้งแรก ทำให้เกิดเป็นฟีเจอร์ 4K Ultra Night Video ให้ถ่ายวิดีโอคุณภาพสูงในที่แสงน้อย "ที่ดีที่สุดแบบที่ไม่เคยมีมาก่อนจากออปโป้" และการร่วมงานกับแบรนด์กล้องชื่อดังระดับโลก Hasselblad ที่ร่วมพัฒนากล้องให้ได้ภาพและวิดีโอตามแนวสีสวยสมจริงเป็นธรรมชาติเหมือนตาเห็นอย่างสมบูรณ์แบบ โดยเผยโฉมร่วมกับ “OPPO Enco X2” หูฟังไร้สายสุดล้ำที่ออปโป้สร้างสรรค์ร่วมกับ Dynaudio ในราคา 5,999 บาท
"NPU ของออปโป้จะถูกใช้ในรุ่นนี้ และจะขยายต่อไปในรุ่นอื่น" ชานนท์ กล่าว "เราลงทุนวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยีกว่า 7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ยื่นคำขอจดสิทธิบัตรมากกว่า 77,000 รายการ และมีสิทธิบัตรที่ได้รับมากกว่า 38,000 รายการทั่วโลก"
สำหรับภาวะชิ้นส่วนสมาร์ทโฟนขาดตลาด ชานนท์ ยอมรับว่าทำให้เกิดผลกระทบจนส่งให้ราคาจำหน่ายสมาร์ทโฟนสูงขึ้นกว่าเดิม แต่เป็นผลที่เกิดกับสินค้าทุกกลุ่มและทุกรุ่น ไม่เฉพาะไฮเอนด์ และไม่แค่สินค้ากลุ่มโทรศัพท์มือถือ เชื่อว่าภาวะนี้ดันให้ราคาสินค้าเพิ่มขึ้นกว่า 10-20% ทำให้ต้องใส่ใจด้านการตลาดมากขึ้น แต่เบื้องต้นยังไม่มีการตัดสินใจเพิ่มงบการตลาดอย่างเต็มที่ เพราะต้องการเน้นลงทุนอย่างสมดุลในรอบด้าน
"เราไม่ลดจำนวนการเปิดตัวรุ่นใหม่ลงเพราะพิษสินค้าขาดตลาด ไทม์ไลน์อาจเลื่อนเวลาเปิดตัวไปแต่ก็ไม่มาก ออปโป้ได้ผลกระทบเรื่องนี้หนักกว่าหลายเจ้า แต่เรายังทำได้ดี ยอดไม่ตก และมีการขยายตัวมาก สามารถขยายตลาดใหม่ได้ตามที่ประมาณการไว้ เช่นที่ยุโรป และละตินอเมริกา สำหรับตลาดไทยถือว่าโดดเด่น ได้รับจัดสรรเครื่องมาขายไม่ขาด ถือเป็นตลาดที่บริษัทแม่โฟกัส"
ชานนท์ ยอมรับอีกว่าความกังวลเรื่องสายการผลิตระดับโลกที่ยังไม่นิ่งทำให้คาดการณ์การเติบโตของตลาดสมาร์ทโฟนแฟลกชิปได้ยาก นอกจากนี้ ยังมีวิกฤตโควิด-19 ในไทยและต่างประเทศที่ยังผันผวนจนอาจกระทบไปทั่วโลก รวมถึงกำลังซื้อในตลาดไทยที่เห็นสัญญาณว่าหายไป แต่ทั้งหมดยังมีความไม่แน่นอนจนไม่อาจตัดสินได้ว่าตลาดจะซบเซาหรือฟื้นตัว
"ปีนี้ไม่ใช่แย่ไปเลย เราอยู่กับโควิดเป็นปีที่ 3 ปีที่แล้วเหมือนจะไม่ดี แต่ก็ดีขึ้น บ้านเรายอดขายออนไลน์ตลาดรวมยังไม่โตมาก สัดส่วนยังเป็นหน้าร้าน 80 และออนไลน์ 20 เรายังไม่ทิ้งอะไรไป เพราะสัดส่วนใหญ่ แนวโน้มยังเป็นการขายผ่านออฟไลน์ ยอดยังดีแม้จะมีโควิด"
เพื่อรับมือกับความไม่แน่นอนในตลาด ออปโป้ชี้ว่าได้ลงทุนทำการตลาดเพิ่มเติมผ่านการติดจอแอลอีดีทั่วกรุงเทพฯ เพื่อโชว์ความเก่งของชิป NPU ขณะเดียวกัน เพิ่มความเข้มข้นให้บริการหลังการขายมีความสะดวกสบายและรวดเร็วภายใน 1 ชั่วโมง ทั้งหมดนี้สอดรับกับแนวคิดว่าราคาไม่ใช่ปัจจัยหลัก แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดเพื่อแข่งขันในตลาดสมาร์ทโฟนราคา 3 หมื่นบาทขึ้นไปคือ สินค้าและบริการ ซึ่งจะสามารถทำให้ออปโป้ยืนหยัดได้แม้ตลาดจะมีความผันผวนเพียงใด รวมถึงการมีผู้เล่นเจ้าใหญ่ปักหลักครองตลาดอยู่แล้วก็ตาม