กูเกิล (Google) จับมือพันธมิตรโชว์ยอดโครงการ “สะพานดิจิทัล" (Saphan Digital) ฝึกอบรมธุรกิจรายย่อย (เอสเอ็มอี) ไทยใช้ดิจิทัล 2 ปีเข้าเป้า 100,000 ราย เล็งเดินหน้าพัฒนาหลักสูตรเป็นมาตรฐานอาเซียนและเข้าถึงคนไทยทั่วประเทศมากขึ้น มั่นใจโตได้อีกมาก เพราะสถิติชี้ธุรกิจไทยกระทบพิษโควิด-19 เกิน 1 ล้านราย ย้ำทุกอย่างฟรีและเปิดกว้าง แถมไม่มีแผนนำฐานข้อมูลเอสเอ็มอีไทยไปต่อยอดธุรกิจ
น ส.อภิชญา เตชะมหพันธ์ หัวหน้าฝ่าย Google Customer Solutions ประจำประเทศไทย กล่าวว่า สถานการณ์โรคระบาดทำให้ GDP ของประเทศไทยลดลง 6.1 เปอร์เซ็นต์ในปี 2564 เป็นการหดตัวครั้งใหญ่ที่สุดตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ขณะเดียวกัน ธุรกิจเอสเอ็มอีไทยที่มีจำนวนกว่า 3 ล้านราย ยังมีส่วนช่วยสนับสนุน GDP ของประเทศไทยถึง 45% และการว่าจ้างงานในประเทศถึง 86% อย่างไรก็ตาม มีการประเมินว่าเอสเอ็มอีไทยกว่า 1.34 ล้านรายได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ทั้งหมดนี้สอดคล้องกับ Google ที่มุ่งมั่นขับเคลื่อนเพื่อช่วยเหลือธุรกิจเอสเอ็มอีตามแนวคิด Leave No Thai Behind จนเกิดเป็นโครงการ Saphan Digital ซึ่งล่าสุดโครงการนี้ได้บรรลุเป้าหมายในการช่วยฝึกฝนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสำเร็จแล้วกว่า 100,000 ราย จากยอดผู้เข้าฝึกอบรมทั้งหมดกว่า 120,000 ราย
"จากเอสเอ็มอีไทยทั้งหมด 3 ล้านราย เชื่อว่าได้รับผลกระทบ 1 ล้านราย เมื่อหักจากที่อบรมไปแล้ว 1 แสนราย แสดงว่ายังมีพื้นที่ให้โครงการนี้เติบโตได้อีก โดย Google จะเน้นติดตามผลว่าที่สอนไปมีประโยชน์อย่างไร และวางเป้าหมายให้เอสเอ็มอีทั่วประเทศเข้าถึงได้มากยิ่งขึ้น"
“Saphan Digital” เป็นโครงการที่ริเริ่มขึ้นตั้งแต่ พ.ศ.2563 โดย Google ประเทศไทยได้ทำงานร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า และองค์กรชั้นนำในอุตสาหกรรมต่างๆ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ความรู้ด้านดิจิทัลแก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี องค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร (NGO) และบุคคลทั่วไปที่สนใจ ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสทางธุรกิจและการสร้างอาชีพ
ความสำเร็จล่าสุดของโครงการ Saphan Digital อยู่ที่การบรรลุตามเป้าหมายในการฝึกอบรมให้แก่ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมจำนวนมากกว่า 100,000 ราย ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายที่ Google ได้ประกาศถึงความมุ่งมั่นในการสนับสนุนการเข้าถึงเครื่องมือดิจิทัล การเรียนรู้และใช้ประโยชน์จากทักษะดิจิทัลจากผู้เชี่ยวชาญ รวมทั้งเพื่อช่วยผลักดันการฟื้นฟูเศรษฐกิจของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย และเพิ่มขีดความสามารถในการก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจยุคดิจิทัลอย่างยั่งยืน
จากยอดผู้เข้าฝึกอบรมทั้งหมดกว่า 120,000 ราย ผลการวิจัยความคิดเห็นของผู้เข้าร่วมโครงการของ Kantar Google Impact Research พบว่า 99% ของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเห็นด้วยว่าได้เรียนรู้ทักษะดิจิทัลใหม่ที่เป็นประโยชน์ต่อธุรกิจ และ 75% กล่าวว่าโครงการนี้ได้ช่วยให้ธุรกิจยังคงดำเนินต่อไปได้ในช่วงโควิด-19 สถิตินี้ถูกนำมาสะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จของตัวโครงการ โดยไม่มีการอิงจากรายได้แต่อย่างใด
ในผู้ลงทะเบียนอบรม 120,000 ราย พบว่ากว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของผู้เข้าร่วมโครงการสะพานดิจิทัลเป็นผู้หญิง โดยผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่มาจากกรุงเทพฯ และปริมณฑล รองลงมาเป็นเชียงใหม่ ลพบุรี ภูเก็ต และขอนแก่น ขณะที่ผู้ประกอบการ 1 แสนรายในโครงการส่วนใหญ่เป็นธุรกิจประเภทอาหารและเครื่องดื่ม รองลงมาเป็นแฟชั่น ค้าปลีก การบริการ และสุขภาพความงาม
โครงการนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของพันธกิจ Google เรื่องการช่วยสร้างเศรษฐกิจดิจิทัลที่สามารถเป็นประโยชน์ได้กับทุกคนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภายในปี 2573 สำหรับความรู้ทักษะดิจิทัลที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา Google วางแผนว่าในปีข้างหน้า จะมีการอัปเดตเนื้อหาการเรียนรู้ให้เป็นปัจจุบันยิ่งขึ้น พร้อมกับขยายการประชาสัมพันธ์ให้เข้าถึงเอสเอ็มอีเพิ่มเติม
สำหรับแนวทางการพัฒนาหลักสูตรในอนาคต ผู้บริหารระบุว่า ผู้ประกอบการ SME มีเวลาน้อย และการอบรมบางบทเรียนต้องใช้เวลา แต่จากนี้จะปรับให้ผู้ที่มีเวลาน้อยสามารถเรียนได้ และปรับให้เนื้อหามีความสอดรับกับเครื่องมือที่เป็นปัจจุบันมากขึ้น
การอบรมทั้งหมดเกิดขึ้นฟรี ไม่มีการเก็บค่าใช้จ่ายและเปิดรับทุกกลุ่มธุรกิจ โดยการร่วมมือกับภาครัฐนั้นเกิดขึ้นบนความเข้าใจถึงความจำเป็นของเอสเอ็มอีในการพัฒนาความสามารถด้านดิจิทัล ส่วนด้านเนื้อหาจะเป็นความร่วมมือกันกับพันธมิตรเอกชน พันธมิตรส่วนนี้จะแบ่งออกเป็นพันธมิตรด้านองค์ความรู้และพันธมิตรด้านเครื่องมือ ประกอบด้วยเทพช็อป เบนโตะเว็บ สเกาท์เอาท์ ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ทรู ดิจิทัล พาร์ค สํานักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ และดิ เอสเคิร์ฟ
"ทั้งหมดนี้ไม่มีการมุ่งสอนเครื่องมือของ Google แต่เน้นสอนทุกอย่างที่เป็นประโยชน์ ผู้สอนสามารถนำเครื่องมือฟรีไปใช้สอนเพื่อให้เกิดประโยชน์ได้ พันธมิตรของโครงการนี้มีทั้งรายใหญ่ รายเล็ก และสตาร์ทอัป ทุกรายมีทูลส์ มีเครื่องมือที่เข้ากับเอสเอ็มอีที่มีความแตกต่างกัน จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้เกิดความร่วมมือกับพันธมิตร เพื่อสอนการใช้เครื่องมือที่หลากหลาย ซึ่งเอสเอ็มอีสามารถเลือกใช้แบบที่เหมาะสมกับตัวเองมากที่สุด"
การร่วมมือกับกรมธุรกิจการค้า จะเป็นกุญแจสู่การขยายฐานผู้อบรมส่วนหัวเมืองเล็ก เพื่อเจาะให้ได้ถึงเอสเอ็มอีระดับอําเภอ และตําบลในอนาคต ในภาพรวม ผู้บริหาร Google ชี้ว่าแนวทางการปรับหลักสูตรเพื่อเอสเอ็มอีในอนาคตคือการปรับตามแนวโน้มที่เกิดขึ้นในระดับภูมิภาค ทำให้วางแผนต้องจัดการอบรมให้เป็นมาตรฐานของภูมิภาคอาเซียน ไม่ใช่เพียงแค่เป็นหลักสูตรที่เป็นมาตรฐานสำหรับเอสเอ็มอีไทยเท่านั้น
ผู้บริหาร Google ย้ำด้วยว่าโครงการนี้ไม่มีแผนใช้ประโยชน์ทางธุรกิจจากฐานข้อมูลเอสเอ็มอีที่ลงทะเบียนในโครงการ 100,000 ราย โดยฐานข้อมูลส่วนใหญ่จะถูกเก็บเพื่อการสำรวจและวิจัยพัฒนา ขณะที่พันธมิตรด้านธนาคารจะเน้นให้ความรู้เท่าทันเรื่องการเงิน ไม่ได้เน้นโฆษณาเพื่อให้สินเชื่อแก่เอสเอ็มอี แต่อาจจะมีการเจรจาต่อได้เพื่อสนับสนุน SME ในอนาคต