xs
xsm
sm
md
lg

ถอดรหัส "ซิเคียวเว็บเกตเวย์" เจ้าใหม่ในไทย อยากออกเน็ต? แวะที่ ‘ไซเบอร์ อีลีท’ ก่อน!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ซิเคียว เว็บ เกตเวย์ (Secure Web Gateway) หรือ SWG เป็นโซลูชันป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์สุดฮอต ที่ผลการวิจัยมากมายชี้ว่าหลายปัจจัยกำลังหนุนให้ตลาด SWG เติบโตก้าวกระโดดทั่วโลก ล่าสุด ตลาด SWG ไทยกำลังร้อนระอุ เพราะ ‘ไซเบอร์ อีลีท’ ได้ควงแขนพา SWG ดาวรุ่งอย่าง ‘เมนโล’ (Menlo Security) เข้ามาตีตลาดไทยเป็นครั้งแรก โดยเรียกรวมว่าเป็นการเปิดตัวแพลตฟอร์มใหม่ Managed Cloud Cyber Security Platform ซึ่งจะเป็นหนึ่งในอาวุธที่ทำให้ ไซเบอร์ อีลีท ก้าวขึ้นเป็นผู้นำตลาด ‘คลาวด์ ซิเคียวริตี’ เมืองไทย

ความน่าสนใจของเรื่องนี้อยู่ที่ตัวละครหลักของเรื่อง นั่นคือ ไซเบอร์ อีลีทที่เป็นบริษัทในเครือกลุ่มเบญจจินดา และมีฐานลูกค้าไทยเต็มมืออยู่แล้ว ขณะที่เมนโลเป็นผู้นำด้านไซเบอร์ซิเคียวริตีระดับโลกซึ่งต้องการขยายตลาดอาเซียนอย่างจริงจัง ทั้งคู่บอกว่ากลุ่มเป้าหมายของการเปิดตัวแพลตฟอร์มใหม่คือตลาด SMB ไทย และมั่นใจมากว่าเวลานี้เหมาะสมที่สุดสำหรับการเปิดตัวแพลตฟอร์มใหม่ เพราะไทยเป็นตลาดซิเคียวริตีที่เติบโตสูงสุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งอาจทำให้การเปิดตลาด SWG รอบใหม่มีอิทธิพลในตลาดไซเบอร์ซิเคียวริตีไทยโดยตรง

แม้ ‘ดร.ศุภกร กังพิศดาร’ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไซเบอร์ อีลีท จำกัด จะถ่อมตัวว่าเทคโนโลยีในแพลตฟอร์มใหม่นี้ไม่ได้ยิ่งใหญ่ถึงระดับ ‘เปลี่ยนโลก’ ก็จริง และองค์กรยังคงต้องใช้โซลูชันอย่างอื่นคู่ไปด้วย แต่การเปิดตัวแพลตฟอร์มนี้จะตอบความต้องการให้องค์กรทุกขนาดสามารถเข้าถึงไซเบอร์ซิเคียวริตีได้ง่าย และตรงกับความต้องการที่แท้จริง เพราะองค์กรไหนที่ต้องการเชื่อมต่อคอมพิวเตอร์ออกอินเทอร์เน็ต เพียงแค่ ‘แวะไปที่คลาวด์ของไซเบอร์ อีลีทก่อน’ ก็จะลดความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางเว็บได้รอบด้าน และไม่มีปัญหาดีเลย์เหมือนที่เคยเป็นในอดีต

 ***ดีลนี้เป็นคีย์หลัก


ดร.ศุภกร เล่าว่า ไซเบอร์ อีลีท ตั้งเป้าหมายเป็นผู้นำเรื่องบริการไซเบอร์ซิเคียวริตี กลยุทธ์สำคัญที่บริษัทลงมือทำคือการมีพันธมิตรทางธุรกิจที่มีแพลตฟอร์มครอบคลุมตั้งแต่การป้องกัน การเฝ้าระวัง รวมทั้งการหยุดภัยคุกคามซึ่งล้วนเป็นงานที่แทบทุกบริษัทต้องดำเนินการ ดังนั้น การเป็นพันธมิตรระหว่างไซเบอร์ อีลีท และเมนโลในครั้งนี้จึงเป็นกุญแจสำคัญ หรือคีย์หลักเพื่อขยายตลาดตามแผนที่ไซเบอร์ อีลีทตั้งเป้าออกเซอร์วิสใหม่ทุกไตรมาส บนความมุ่งหมายให้บริการครอบคลุมองค์กรใหญ่ กลาง และเล็ก

‘การทำงานที่บ้าน ทำให้แล็ปท็อปที่นำไปใช้งานที่บ้านมีโอกาสออกอินเทอร์เน็ตได้โดยอิสระ กลายเป็นต้นทางสู่ภัยคุกคาม ที่อาจทำให้ติดมัลแวร์และแพร่ไปติดในระบบขององค์กรได้ หนึ่งในแนวทางที่ทำได้ คือความเชื่อว่าไม่ควรวกกลับมาที่ VPN ของบริษัท แต่ควรจะทำคลาวด์เบส ซิเคียวริตี เทคโนโลยีนี้มีมา 4-5 ปี แต่ยังไม่เสถียร เมื่อได้คุยกับเมนโล พบว่าปลอดภัยสูง จึงจับมือเป็นพันธมิตรกัน ให้บริการที่ทำให้พนักงานซึ่งทำงานทางไกลสามารถออกอินเทอร์เน็ตโดยผ่านคลาวด์หนึ่งที่เชื่อมกับไซเบอร์อีลิทและเมนโล ทำให้ปรับแต่งซิเคียวริตีได้ตามการใช้งานก่อนออกเน็ตช่วยให้การใช้งาน Office 365 และบริการออนไลน์อื่นมีความปลอดภัย’

ไซเบอร์ อีลีท ชี้ว่า เทคโนโลยีนี้เริ่มจากหน่วยงานใหญ่อย่างธนาคาร หรือองค์กรที่ต้องการรักษาความลับสุดยอดของข้อมูล ซึ่งมักแยกคอมพิวเตอร์ออกเป็น 2 ชุด โดยกำหนดให้ชุดหนึ่งต่ออินเทอร์เน็ตไม่ได้ เพื่อเก็บข้อมูลสำคัญในเครื่องที่มีการรักษาระยะห่างจากการเข้าถึง (Air-Gap) และอีกชุดสามารถต่อได้โดยเชื่อมผ่านตัวกลาง จากช่วงแรกที่พบปัญหาล่าช้าหรือดีเลย์ และไม่ปลอดภัยเท่าที่ควร ทำให้ตลาดนี้ไม่ขยายตัวในยุคก่อนโควิด-19 แต่แล้วการระบาดใหญ่ก็กระตุ้นให้เกิดความสนใจ ประกอบกับพัฒนาการด้านการไม่ดีเลย์ และคัดกรองภัยได้จริง ทำให้มีการใช้งานอย่างแพร่หลาย โดย 8 ใน 10 สถาบันการเงินรายใหญ่ที่สุดของโลกมีการใช้งานระบบของเมนโล รวมถึงกระทรวงกลาโหมของสหรัฐอเมริกา

ความร่วมมือระหว่างไซเบอร์ อีลีท และเมนโลทำให้เกิดการปรับแต่งตามเงื่อนไขที่องค์กรไทยต้องการ โดยเฉพาะการปรับให้เข้ากับการกำกับดูแลของหน่วยงานไทย เช่น สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) โดยที่องค์กรไม่ต้องลงทุน ‘ซื้อของมากองไว้ในออฟฟิศ’ หรืออยู่ในภาวะที่ ‘ซื้อมาแล้วไม่มีคนดูแล’ แต่สามารถสมัครแล้วรับบริการโดยให้ไซเบอร์ อีลีทดูแลให้ พร้อมทีมงานที่ให้บริการ 24 ชั่วโมง


แพลตฟอร์มใหม่ถูกคาดหวังว่าจะสนับสนุนให้ไซเบอร์ อีลีท ขยายตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศในอนาคต ตามเป้าหมายรายได้รวม 1,000 ล้านบาทใน 3 ปี เพราะแพลตฟอร์มใหม่จะสร้างความมั่นใจให้ลูกค้ารู้สึกได้รับการปกป้องจากการทำซิเคียวริตีแบบเชิงรุก และการร่วมมือกับเมนโลเพื่อให้บริการในไทยเป็นครั้งแรกของประเทศ เชื่อว่าจะเสริมกับธุรกิจแมเนจเซอร์วิสที่มีฐานลูกค้าอยู่แล้ว ส่งให้เบญจจินดาเป็นเซอร์วิสโพรวายเดอร์ที่มีบริการซิเคียวริตีครบมือ

***ใครติดมัลแวร์ รับเลย 1 ล้านดอลล์

มร.ซีเค หม่า ผู้อำนวยการประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริษัท เมนโล ซีเคียวริตี้ กล่าวว่า ความเชี่ยวชาญของบริษัทอยู่ที่การทำไซเบอร์ซิเคียวริตีตามมาตรการ Air-gap แบบ 100% คือรักษาระยะห่างจากการเข้าถึงได้เทียบเท่าระดับความปลอดภัยที่ใช้ในวงการทหาร โดยมาพร้อมการรับประกันว่า ลูกค้าที่ติดมัลแวร์จะได้รับเงิน 1 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ไม่เคยมีกรณีนี้เกิดขึ้นนับตั้งแต่ระบบให้บริการ

‘การจับมือร่วมกันระหว่างไซเบอร์ อีลีท และเมนโลจะช่วยป้องกันการติดแรนซัมแวร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ใช้งานภายในประเทศไทย เห็นได้จากการประเมินภัยคุกคามทางอินเทอร์เน็ตขององค์การตำรวจสากล (Interpol Cyber Threat Assessment) มีการตรวจพบแรนซัมแวร์ถึง 2.7 ล้านชนิดภูมิภาคอาเซียน โดยประเทศไทยตรวจพบแรนซัมแวร์สูงเป็นอันดับที่ 3 ในภูมิภาค ยิ่งไปกว่านั้น ไทยยังเป็นประเทศที่พบมัลแวร์ด้านธนาคารที่มากที่สุดในอาเซียน โดยพบมัลแวร์เพิ่มขึ้นมากกว่า 25%’


ภัยคุกคามบนเว็บนั้นกำลังถูกจับตามากขึ้นในช่วงสงครามยูเครน-รัสเซีย เบื้องต้นพบว่าสงครามนี้มีผลกับโลกไซเบอร์เนื่องจากมีการตรวจพบภัยสมัยใหม่ตลอดเวลา โดยเฉพาะภัยการโจมตีแบบใหม่ที่ถูกใช้ในสงครามไซเบอร์ภายในภูมิภาคอาเซียน ดังนั้น องค์กรจึงถูกกระตุ้นให้ต้องตรวจจับและป้องกัน รวมถึงทำซิเคียวริตีแบบเชิงรุกที่อัปเดตภัยใหม่ และรับมือได้ทันท่วงที

‘เทคโนโลยีของเมนโลเป็น Air Gap 100% คือจะไม่มีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตโดยตรง แต่จะเชื่อมกับไซเบอร์อีลิทและเมนโล เมื่อปลอดภัยจึงปล่อยทราฟฟิก หน้าเว็บไซต์ของผู้ใช้จะรีเจนเนอร์เรตขึ้นใหม่ จะการันตีได้ว่าไม่มีมัลแวร์เข้ามา’

ที่สุดแล้ว ไซเบอร์ อีลีทเชื่อว่าลูกค้าของแพลตฟอร์มนี้จะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ต้องทำตามกฎหมาย ทั้งขนาดกลางและเล็ก อีกกลุ่มคือ องค์กรใหญ่ที่ต้องปรับตัวตามนโยบายซีโร่ทรัสต์ ซึ่งจะทำซิเคียวริตีแบบเดิมไม่ได้ ทั้งหมดนี้ ไซเบอร์ อีลีท จะไม่หยุดที่บริการซิเคียว เว็บ เกตเวย์ เพราะการรุกหนักให้บริการแมนเนจเซอร์วิสที่เป็นคลาวด์เบสนี้กำลังอยู่ในช่วงเริ่มต้น ดังนั้น บริษัทจะขยายความสามารถในด้านอื่นออกไปให้มากขึ้นอีกในอนาคต

แต่ตอนนี้ใครอยากออกเน็ต ควรแวะที่ ‘ไซเบอร์ อีลีท’ ก่อน!




กำลังโหลดความคิดเห็น