xs
xsm
sm
md
lg

AI ไทยไปถึงดวงดาว!? (Cyber Weekend)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เม็ดเงินสะพัดในตลาด AI รวม ML ทั่วโลกที่มีมูลค่า 7.4 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 2.48 ล้านล้านบาท ในปี 2564
เปิดวิสัยทัศน์ “บิสกิต โซลูชั่น” หรือ BIZCUIT บริษัทสัญชาติไทยที่มั่นใจว่าประเทศไทยจะส่งออกบริการเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ (AI) และการเรียนรู้ด้วยเครื่องหรือแมชชีนเลิร์นนิ่ง (ML) สู่ตลาดโลกได้ ท่ามกลางเม็ดเงินสะพัดในตลาด AI รวม ML ทั่วโลกที่มีมูลค่า 7.4 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 2.48 ล้านล้านบาท ในปี 2564 โดย 60% เป็นเม็ดเงินในตลาดแอปพลิเคชันหรือโซลูชัน (ราว 1.48 ล้านล้านบาท) ขณะที่ตลาด AI ทั่วเอเชียแปซิฟิกถูกประเมินว่าจะมีการขยายตัวไม่ต่ำกว่า 41.69% ต่อปีแบบยิงยาวถึงปี 2570

การขยายตัวเหล่านี้เกิดขึ้นได้เพราะยูสเคส หรือการปรับใช้ AI เข้ากับชีวิตประจำวันของผู้คน และระบบธุรกิจที่จะติดปีกให้แทบทุกอุตสาหกรรมสามารถตอบโจทย์เป้าหมายที่ตั้งไว้ ตัวอย่างเช่น AI สามารถทำให้ผู้คนโบกมือใส่กล้องดิจิทัล เพื่อเรียกแท็กซี่โดยไม่ต้องไปยืนโบกข้างทางให้ร้อน ขอเพียงโบกให้ครบจำนวนครั้งที่กำหนด และยังทำให้ลูกค้าแสดงความเห็นหลังซื้อสินค้า-ใช้บริการด้วยการพูดเสียงภาษาไทยแบบไม่ต้องพิมพ์ โดย AI จะรับหน้าที่วิเคราะห์ต่อเพื่อส่งผลสรุปให้องค์กรธุรกิจได้ 

นายสุทธิพันธุ์ สุทัศน์ ณ อยุธยา ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิสกิต โซลูชั่น จำกัด (BIZCUIT) ประเมินว่า วงการ AI และ ML โลกมีแนวโน้มขยายตัวใน 5 ด้านหลัก และทุกด้านเน้นพัฒนาให้ AI ทำในสิ่งที่มนุษย์ทำไม่ได้ ขณะเดียวกัน น่ากังวลกับภาวะที่ประเทศไทยยังต้องดิ้นรนพยายามไล่ตามให้ทันอย่างน้อย 2 ด้าน

***5 เทรนด์แรง ตามให้ทัน

แนวโน้มแรกที่บิสกิตเห็นชัดคือการพัฒนาให้ “เสียง” เป็นเหมือนแขนที่สามของมนุษย์ที่จะคอยสั่งการทุกสิ่งแบบไร้สัมผัส แนวโน้มนี้ทำให้โซลูชัน AI ในอนาคตจะโฟกัสเรื่องการทำให้ข้อมูลเสียงมีหน้าที่ควบคุมระบบงานที่หลากหลาย พร้อมกับยืนยันตัวตน และแจ้งตำแหน่งด้วยการพูดของผู้ใช้ แนวโน้มที่ 2 คือการใช้ AI เป็นตัวสร้างคอนเทนต์หรือเนื้อหาขึ้นมาอัตโนมัติ (Computer Generated Content) ซึ่งทำได้บนเทคโนโลยี Natural Language Generation หรือ NLG 

สุทธิพันธุ์ สุทัศน์ ณ อยุธยา
แนวโน้มที่ 3 คือการพัฒนาให้ AI เข้าใจภาษามนุษย์ หรือ Natural Language Understanding (NLU) ซึ่งจะถูกใช้ร่วมกับอุปกรณ์ IoT เช่นกล้องวงจรปิด หรือลำโพงในบ้าน เพื่อทำให้เกิดประสบการณ์ใหม่จากการทำให้ระบบสามารถเข้าใจสิ่งที่ผู้ใช้ต้องการ ไม่ใช่แค่เข้าใจคำสั่งเท่านั้น ขณะที่แนวโน้มที่ 4 คือการใช้ AI เพื่อวิเคราะห์ภาพแบบเรียลไทม์ (Computer Vision) จะถูกใช้อย่างแพร่หลายมากขึ้น สุดท้ายคือแนวโน้มที่ 5 โลก AI จะเดินเข้าสู่การพัฒนาระบบการประมวลผลแบบใหม่ เช่น ควอนตัมคอมพิวเตอร์ (Quantum Computer) ที่จะยกขีดความสามารถของ AI ไปแบบก้าวกระโดด

“2 แนวโน้มที่มีความแตกต่างมากในวงการ AI ไทยคือแนวโน้มที่ 5 เพราะการเข้าถึงฮาร์ดแวร์ไทยยังล่าช้า บริษัท AI ต่างประเทศมีการทำระบบฮาร์ดแวร์ขึ้นมาใช้เอง ทำให้แนวโน้มที่ 5 เห็นความต่างชัด ตัวอย่างเช่นกูเกิลที่ใช้ฮาร์ดแวร์นำหน้าประเทศไทยไปแล้วน่าจะ 20 ปี ยังมีแนวโน้มที่ 1 คือเรื่องเสียงหรือวอยซ์ เนื่องจากฐานข้อมูลเสียงภาษาไทยยังน้อย ยังต้องใช้เวลาเก็บข้อมูลพอสมควร”

สุทธิพันธุ์ ประเมินว่า พัฒนาการเข้าใจภาษาของ AI หรือ NLU สำหรับภาษาไทยนั้นมีความสามารถแยกประเภทเสียงที่ได้ยินเป็นเชิงบวกหรือลบได้ระยะหนึ่งแล้ว แต่ที่เห็นเป็นพัฒนาการที่โดดเด่นในช่วง 1-2 ปีนี้คือความสามารถเข้าใจเจตนาของผู้พูด เช่น เข้าใจประโยค “อย่ามาลำไย” ว่าไม่ใช่เรื่องของผลไม้ แต่เป็นคำแสลงหมายถึงความไม่จริงใจ

ในภาพรวม สุทธิพันธุ์ ประเมินว่าภาครัฐและเอกชนไทยมีความตื่นตัวลงทุนในระบบ AI สูง โดยเฉพาะสถาบันการเงินที่พบว่าทุกรายหรือ 100% มีการใช้เทคโนโลยี ML ในที่ใดที่หนึ่งในองค์กร สำหรับในอุตสาหกรรมรีเทลหรือค้าปลีก เชื่อว่าเกิน 60% มีการใช้ ML ขณะที่ภาคการผลิตของไทยนิยมใช้ AI เพราะการมุ่งที่ระบบอัตโนมัติ แต่การใช้ ML ยังมีส่วนน้อย ทำให้บิสกิตวางแผนขยายธุรกิจไปภาคอุตสาหกรรมการผลิตมากขึ้นในปี 65

***ธุรกิจโตเกินเท่าตัว

สำหรับบิสกิต บริษัทจะต่อยอดฐานะผู้ให้บริการโซลูชันด้าน AI เป็น “AI Enabler” เพื่อให้บริการครบวงจรด้านการนำเทคโนโลยี AI และ ML มาช่วยส่งเสริมการพัฒนาในองค์กรธุรกิจและภาครัฐ โดยปี 2565 บิสกิตเชื่อว่าธุรกิจจะขยายตัวมากกว่าเท่าตัวหรือ 100% ต่อยอดจากปี 2564 ที่บริษัทสามารถเพิ่มจำนวนลูกค้าคู่สัญญารายใหม่ คิดมูลค่ารวม 150 ล้านบาท

ความสำเร็จของบิสกิตโดนใจกลุ่มบุญรอดซัปพลายเชน ซึ่งได้มาร่วมลงทุนเพื่อนำเทคโนโลยี AI ไปต่อยอดให้กลุ่มลูกค้าและบริษัทในเครือ ปัจจุบัน บิสกิตมีฐานลูกค้ามากกว่า 60 องค์กร เป็นลูกค้าในประเทศไทย 80% และลูกค้าต่างประเทศ 20% ครอบคลุม 8 อุตสาหกรรม ทั้งกลุ่มค้าปลีก ธุรกิจอาหาร อีคอมเมิร์ซ ภาคการผลิต การเงินและประกันภัย อสังหาริมทรัพย์ รวมถึงธุรกิจความงาม การเข้าสู่เซกเตอร์ใหม่สามารถใช้เวลาพัฒนา 3 เดือนเท่านั้น

หนึ่งในบริการครบวงจรด้านการนำเทคโนโลยี AI และ ML ของบิสกิต
องค์กรที่เป็นลูกค้าบิสกิตในไทยส่วนใหญ่ใช้งานระบบ NLU มากที่สุด เนื่องจากมีฐานลูกค้าในช่วงเริ่มก่อตั้งซึ่งเปิดให้บริการก่อนที่บิสกิตจะเริ่มธุรกิจด้าน Computer Vision ปัจจุบัน 2 ธุรกิจเติบโตทั้งคู่ และสามารถขยายไปให้บริการใน 5 ประเทศ ได้แก่ ไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ โดยรองรับภาษาไทย อังกฤษ และบาฮาซาของอินโดนีเซีย บนระดับความแม่นยำที่บิสกิตพยายามรักษาให้เกิน 80%

“ความท้าทายของธุรกิจ AI ในไทยปีนี้แบ่งเป็น 2 เรื่อง คือ ด้านเทคนิค เราต้องสร้างยูสเคสใหม่ในบริบทของไทย ความท้าทายคือการยึดกับบริบทหลายอย่างที่มีความเป็นประเทศไทยจริงๆ อีกด้านคือคอมเมอร์เชียล เราต้องทำความรู้จักกับหลายอุตสาหกรรมให้มากขึ้น เพราะแต่ละอุตสาหกรรมมีความต้องการไม่เหมือนกัน ต้องการเข้าใจเพื่อดูสิ่งที่มี จะได้ปรับใช้” สุทธิพันธุ์ กล่าว “ในระยะยาว ด้วยความที่เราเป็นบริษัทเทคโนโลยี เราอยากเป็นผู้พัฒนาโซลูชันที่มีคนใช้งานโซลูชันของเราอยู่ทุกที่ในโลก เพราะ ML เป็นโลกที่ใครมีดาต้าเยอะก็จะชนะ ซึ่งลูกค้าแต่ละเจ้ามีข้อมูลเป็นล้านบรรทัดมาให้ ดังนั้นเราจะเก่งขึ้นทุกวัน แปลว่าเราจะเป็นคนที่ชักพา AI ให้ไปในทางที่เราอยากจะเป็นได้ และสำหรับภาษาไทย ถ้าคนไทยไม่ทำให้เก่งที่สุด แล้วใครจะทำ? เราจึงอยากเป็นหัวหอกในการพัฒนาโซลูชัน ML ให้ใช้เกิดประโยชน์มากที่สุด และไทยเป็นสนามแรกที่ต้องชนะให้ได้”

***AI ไทยยังอีกไกล

สำหรับวงการ AI ไทย สุทธิพันธุ์ เชื่อว่าจะต้องบุกเบิกใหม่เรื่องการเทรนนิ่งดาต้า ในส่วนของบิสกิตนั้นทำได้เพราะเริ่มจากการทำระบบวิเคราะห์ข้อมูล ซึ่งมีการเก็บมาก่อนแล้ว 10-20 ปี การใช้ดาต้าที่บริษัทเก็บมาเองจึงพัฒนา AI ได้เร็ว

นอกจากนี้ สุทธิพันธุ์ อธิบายว่าข้อมูลการเทรนนิ่ง AI ยังไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูลส่วนบุคคล เพราะ AI ทำงานเหมือนสายตามนุษย์ ที่แม้จะมองไปยังคนที่ไม่รู้จัก แต่ก็จะเห็นได้ว่าเป็นบุคคลที่แต่งตัวอย่างไร ขณะเดียวกัน บริษัทยังเน้นหมั่นตรวจสอบภาวะ “มนุษย์ควบคุม AI ไม่ได้” ที่อาจเกิดขึ้นในกรณีที่ AI จำนวน 2 ตัวถูกสร้างมาให้คุยกันเอง ระบบจึงไปสร้างภาษาใหม่ที่มนุษย์เข้าถึงไม่ได้ ประเด็นนี้ทำให้สุทธิพันธุ์ มองว่ามนุษย์ต้องรู้จักควบคุม และบิสกิตถือเป็นจริยธรรมทางวิชาชีพ ที่จะมุ่งป้องกันและไม่ทำอะไรที่เกิดผลกระทบในอนาคต

เมื่อถามถึงมุมมองที่ AI ถูกกำหนดเป็นยุทธศาสตร์ชาติ สุทธิพันธุ์ เชื่อว่าเป็นสิ่งดีที่รัฐบาลไทยตื่นตัว เพราะจะเกิดซัปพลายเออร์กลุ่มใหม่ หรือบุคลากร ซึ่งสุดท้ายก็จะมาช่วยผลักดัน และเป็นปัจจัยบวกที่เอื้อต่อการขยายตัว

…ส่งให้ AI ไทยไปถึงดวงดาวได้


กำลังโหลดความคิดเห็น