xs
xsm
sm
md
lg

DGA เร่งผลักดันหน่วยงานรัฐเปิดรับดิจิทัล พร้อมเดินหน้าแผนรัฐบาลดิจิทัลต่อเนื่อง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (DGA) หวังใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลช่วยลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการดิจิทัลของประชาชน ประเดิมนำปัญญาประดิษฐ์ โดยเฉพาะแชตบอท และการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อช่วยลดระยะเวลาการทำงานของหน่วยงานรัฐ ให้บริการประชาชนได้รวดเร็วขึ้น พร้อมเดินหน้าแผนรัฐบาลดิจิทัลต่อเนื่อง ปูทางสู่การนำข้อมูลขับเคลื่อนการบริหารงานของภาครัฐ

ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA กล่าวว่า การทำงานของ DGA ในปัจจุบันจะเน้นไปที่การสร้างแพลตฟอร์มกลางให้หน่วยงานรัฐเข้ามาใช้ เพื่อเปิดโอกาสให้หน่วยงาน หรือบุคลากรเกิดความมั่นใจในในการนำเทคโนโลยีมาใช้งาน โดยไม่ได้บังคับให้ทุกหน่วยงานเข้ามาใช้ แต่เป็นในลักษณะของการลดช่องว่างในการเข้าถึงดิจิทัลเป็นหลัก หลังจากนั้นเมื่อหน่วยงานใดมีงบประมาณก็สามารถสานต่อการใช้งานดิจิทัลต่อไปในอนาคตได้

“เป้าหมายสำคัญของ DGA คือนำแพลตฟอร์มกลางขึ้นมาให้หน่วยงานรัฐที่สนใจเข้าไปใช้งาน โดยลดระยะเวลาในการพัฒนา และเมื่อใช้งานแล้วจะสามารถต่อยอดไปสู่การให้บริการในอนาคตได้ ที่สำคัญคือทุกงบประมาณที่ลงทุนไปต้องคุ้มค่า และมีหน่วยงานนำไปใช้งาน”

โดยปัจจุบัน DGA เริ่มนำเทคโนโลยี AI เข้ามาใช้งานแล้ว อย่างการพัฒนาระบบต้นแบบปัญญาประดิษฐ์เพื่อการตรวจสอบ (Artificial Intelligence for Performance Audit: AI for PA) มาเป็นเครื่องมือช่วยสืบค้น และวิเคราะห์ดิจิทัลภาครัฐ ที่ทำงานร่วมกับทาง สตง. ช่วยลดระยะเวลาการทำตรวจสอบข้อมูลลง

นอกจากนี้ เริ่มนำหุ่นยนต์สนทนาอัตโนมัติ (แชตบอท) สำหรับหน่วยงานภาครัฐที่ปัจจุบันอยู่ในระหว่างทดสอบ (Sandbox) เปิดให้หน่วยงานรัฐราว 20 แห่ง เข้ามาทดสอบนำระบบตอบคำถามผ่านหน้าเว็บไซต์ และแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอย่างเฟซบุ๊ก และไลน์

“คาดว่าในช่วง 2 เดือนข้างหน้าระบบแชตบอทจะพร้อมให้หน่วยงานที่สนใจนำไปใช้งาน และจนถึงสิ้นปีนี้จะมีหน่วยงานรัฐเข้ามาใช้งานกว่า 200 แห่ง ควบคู่ไปกับการพัฒนาระบบ Auto Tag เพื่อคัดกรองปัญหาร้องเรียนของประชาชนให้สามารถตรวจสอบและแก้ปัญหาได้ง่ายขึ้น ซึ่งจะพร้อมให้บริการในช่วงปลายปีนี้เช่นกัน”

สำหรับแผนรัฐบาลดิจิทัลระยะที่ 2 ที่จะเริ่มในช่วงปี 2566-2570 นั้น จะครอบคลุมใน 3 ส่วนหลักคือ การนำบริการดิจิทัล (e-Service) มาให้ประชาชนเข้าถึงบริการดิจิทัลได้ การเก็บข้อมูล (Data) เพื่อนำไปบูรณาการใช้งานในการวางแผน และกำหนดแผนในการพัฒนา และลงทุน สุดท้ายคือการสร้างขีดความสามารถของบุคลากรดิจิทัล


กำลังโหลดความคิดเห็น