เปิดสถิติน่าทึ่งบน “ติ๊กต็อก” (TikTok) พบคนถูกใจคอนเทนต์ข่าวบน TikTok จนทำให้ #TikTokNews มียอดรับชมทั่วโลก 7.3 หมื่นล้านครั้ง โดยเฉพาะเมืองไทย #ข่าวTikTok มียอดชมทะลุ 3.8 หมื่นล้านครั้ง คาดปีนี้ TikTok จะจับมือกับสำนักข่าวชั้นนำมากมายเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือและนำเสนอความหลากหลายของ #ข่าวTikTok ให้มากขึ้นอีก ผู้บริหารยอมรับ “TikTok Shop” ธุรกิจอีคอมเมิร์ซบน TikTok จะเปิดตัวในประเทศไทยอย่างเป็นทางการเมื่อรวมผู้ขายได้ถึงระดับที่เหมาะสม
น.ส.สิรินิธิ์ วิรยศิริ หัวหน้าฝ่ายการตลาดธุรกิจประจำประเทศไทยของ TikTok ให้ข้อมูลในงานสรุปเทรนด์ที่เกิดขึ้นบนแพลตฟอร์ม TikTok ว่าแผนการดำเนินธุรกิจปีนี้ของ TikTok จะเน้นเจาะตลาดตั้งแต่แบรนด์ขนาดย่อมถึงแบรนด์ใหญ่ รวมถึงผู้บริโภคทุกกลุ่มในประเทศไทยที่มีพฤติกรรมออนไลน์นานขึ้น ทั้งการรับคอนเทนต์ การสื่อสาร การชอปปิ้ง และการแสวงหาความบันเทิง โดยในส่วนการชอปปิ้ง บริษัทมีแผนรองรับความต้องการด้วยบริการชื่อ TikTok Shop ซึ่งเริ่มเปิดดำเนินการในไทยแล้ว แต่ยังอยู่ในช่วงเริ่มเชิญให้เข้ามาตั้งและเปิดร้านในชอป คาดว่าจะมีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อมีจำนวนร้านค้าถึงระดับที่ตั้งไว้
“อยากให้ทุกอย่างเข้าที่เข้าทาง เพื่อให้เราได้ประเมินอิมแพกต์ หรือโอกาสที่จะมาสู่แบรนด์”
ข่าวลือเรื่อง TikTok Shop นั้นมีรายงานผ่านสื่อออนไลน์ในช่วงปลายกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยระบุว่า หน่วยธุรกิจอีคอมเมิร์ซของ TikTok กำลังจะผลักดันตลาดครั้งใหญ่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยการตั้ง TikTok Shop ในประเทศไทย เวียดนาม และมาเลเซีย รายงานย้ำว่า ตั้งแต่กุมภาพันธ์ 2021 แบรนด์ดาวรุ่งอย่าง TikTok ได้ทำการทดสอบร้านค้าในอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีการกำหนดว่าเฉพาะบริษัทที่จดทะเบียนในอินโดนีเซียเท่านั้นที่ได้รับอนุญาตให้ตั้งร้านในประเทศได้ ในขณะที่การซื้อจะจำกัดเฉพาะผู้ใช้ชาวอินโดนีเซียเท่านั้น
***ยังอยู่ระหว่างศึกษาหลายเวอร์ชัน?
นอกจากเอเชีย สำนักข่าวแพนเดลีระบุว่าเดือนเมษายนปี 2021 บริการ TikTok Shop ได้เข้าสู่สหราชอาณาจักร โดยเน้นบริษัทที่จดทะเบียนในสหราชอาณาจักร ก่อนจะทยอยเปิดให้ผู้ค้าต่างประเทศเข้ามาเปิดร้านในช่วงมิถุนายนที่ผ่านมา ต่างกับเวอร์ชันของชาวอินโดนีเซียที่ TikTok Shop มีให้บริการสำหรับผู้ใช้ชาวอินโดนีเซียเท่านั้น
เบื้องต้น เชื่อว่า TikTok Shop ยังต้องใช้เวลาทดสอบอีกนานในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากเป็นตลาดที่มีการแข่งขันสูง โดยเฉพาะคู่แข่งเบอร์ใหญ่ในวงการอีคอมเมิร์ซทั้งช้อปปี้ (Shopee) และลาซาด้า (Lazada) รวมถึงอีกหลายแบรนด์ที่แข่งขันกันดุเดือดตลอดหลายปีที่ผ่านมา
สำหรับข้อมูลอินไซต์บน TikTok ช่วงปี 2022 บริษัทพบว่าความบันเทิง หรือ “Entertainment” กำลังมาแรงในวงการแพลตฟอร์มออนไลน์ บริษัทจึงตั้งเป้าสร้างคอนเทนต์ที่หลากหลาย และมีแผนสนับสนุนครีเอเตอร์เพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้ ขณะเดียวกัน วางกลยุทธ์ 3C ช่วยให้แบรนด์สื่อสารตรงใจผู้บริโภค เพื่อสร้างประสบการณ์ Digital Marketing ควบคู่กับ Community Commerce ทั้งหมดนี้อยู่บนเป้าหมายการสร้างประสบการณ์ที่สร้างสรรค์และสนุกสนานอย่างต่อเนื่องสำหรับชุมชนที่เชื่อมต่อผู้ใช้ ผู้สร้าง และแบรนด์ต่างๆ
“พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง คนหันมาใช้สมาร์ทโฟนเป็นอุปกรณ์หลักในการเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ทั้งการเสพคอนเทนต์ การสื่อสาร การชอปปิ้ง และการแสวงหาความบันเทิง ผู้บริโภคกว่า 40% ได้เปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคสื่อจากแบบดั้งเดิมเป็นออนไลน์ ซึ่งเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็วจากสถานการณ์โควิด-19 ผู้คนค้นหาความสนุกสนานและความบันเทิง เพื่อบรรเทาข้อจำกัดในชีวิตประจำวัน ซึ่งสถิติแสดงให้เห็นว่า 85% ของคนไทยใช้สมาร์ทโฟนเพื่อความบันเทิง TikTok แพลตฟอร์มวิดีโอสั้นที่มอบความบันเทิงให้แก่ผู้ใช้งานทั่วโลกกว่า 1 พันล้านคน พบว่าคอนเทนต์ที่ได้รับความนิยมมักจะเปี่ยมไปด้วยความสนุกสนานเสมอ และสำหรับปีนี้ TikTok มุ่งยกระดับแพลตฟอร์มให้เป็น ‘Trusted Entertainment Platform Powered by Our Community’ ที่มอบความบันเทิงและน่าเชื่อถือสำหรับทุกคน” TikTok ระบุในแถลงการณ์
สำหรับ 5 เทรนด์บน TikTok ที่ต้องจับตามองในปีนี้ ได้แก่ 1.Edutainment หรือการแจ้งเกิดของครีเอเตอร์รุ่นใหม่บน TikTok ที่มีความเชี่ยวชาญที่แตกต่างกัน มีวิธีที่จะสร้างคอนเทนต์และปรับย่อยคอนเทนต์ให้เข้าใจง่าย ทั้งยังสนุกและมีคอนเทนต์ที่หลากหลายมากขึ้น และผู้คนจะให้ความสนใจกับการแสวงหาความรู้ใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น 2.Creative Entertainment การเปลี่ยนบทบาทจาก Passive user ที่เป็นเพียงผู้เสพคอนเทนต์เพียงอย่างเดียว กลายเป็น Active Creator ที่สร้างคอนเทนต์คุณภาพให้ผู้อื่นชมมากขึ้น ผู้คนสามารถสร้างคอนเทนต์ใหม่ๆ ร่วมกันได้แม้กระทั่งกับคนที่ไม่รู้จักผ่านการ Duet และ Stitch
3.Authentic & Positive Entertainment หรือแนวคิดการสร้างพื้นที่ความบันเทิงที่ปลอดภัยเพื่อให้คนสามารถโชว์ตัวตนที่แท้จริงของตนเอง ทำให้ทุกคนรู้สึกมั่นใจ เป็นตัวของตัวเองได้อย่างเต็มที่ 4.Live Entertainment Live-streaming มีการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว สร้างการมีส่วนร่วมระหว่างครีเอเตอร์และผู้รับชมได้เป็นอย่างดี ด้วยฟีเจอร์ชั้นนำต่างๆ เช่น Multi-Guest, Live Match และอื่นๆ ใน TikTok LIVE และ 5.Cultural Entertainment การสร้างคอนเทนต์ด้านความบันเทิงที่ผสมกลมกลืนกับวัฒนธรรม ให้ทุกคนสามารถดื่มด่ำกับความแตกต่างได้อย่างลงตัว รวมถึงร่วมกันเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมให้ร่วมสมัยยิ่งขึ้น
สุรยศ เอี่ยมละออ Head of Consumer Marketing - Thailand, TikTok กล่าวว่า ทั้ง 5 เทรนด์มีสิ่งพื้นฐานร่วมกันคือ การสร้างความรู้สึกเชิงบวกให้ผู้ใช้งานได้ ไม่ว่าจะเป็นบทบาทของผู้เสพคอนเทนต์หรือผู้สร้างคอนเทนต์ ช่วยทำให้คอนเทนต์มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น ทำให้มีครีเอเตอร์เพิ่มขึ้น มีการเชื่อมต่อระหว่างกันและกันมากขึ้น ซื่งเมื่อการเชื่อมต่อเปิดกว้างมากขึ้น จะนำไปสู่การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและสร้างสิ่งใหม่ๆ ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยยกระดับคอมมูนิตีของ TikTok ให้เติบโตและเป็น ‘Trusted Entertainment Platform Powered by Our Community’ ที่แข็งแกร่ง”
*** คนดู TikTok เน้นบันเทิง
สำหรับเทรนด์คอนเทนต์มาแรงบน TikTok ที่เป็นที่นิยมสูงสุดในปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เน้นไปที่ความบันเทิง ไม่ว่าจะเป็น #แนนโน๊ะ หรือ #Nanno ที่มียอดรับชมวิดีโอมากกว่า 763 ล้านครั้ง กลายเป็นกระแสทั่วภูมิภาคเอเชีย #SquidGame ที่มียอดรับชมวิดีโอสูงถึง 72 พันล้านครั้ง ทั้งยังมีการผลิตผลงานเพลง TikTok Original Music ร่วมกับครีเอเตอร์ จนกลายเป็นไวรัลทั้งในและนอกแพลตฟอร์ม
นอกจากนี้ #TikTokUni การนำเสนอคอนเทนต์ที่เข้าใจง่ายแต่เปี่ยมไปด้วยสาระความรู้ในด้านต่างๆ นับเป็นคอนเทนต์การศึกษาที่ประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง ด้วยยอดรับชมมากที่สุดในไทยที่สูงถึง 86 พันล้านครั้ง ส่งผลให้การเรียนรู้ด้วยตนเองเกิดขึ้นในสังคมไทยได้อย่างน่าทึ่ง
"ส่วนคอนเทนต์ข่าวเติบโตขึ้นจากพฤติกรรมของคนที่หันมาเสพข่าวจากออนไลน์มากขึ้น #TikTokNews มียอดรับชมทั่วโลกถึง 73 พันล้านครั้ง สำหรับเมืองไทย #ข่าวTikTok มียอดรับชมถึง 38 พันล้านครั้ง ในปีนี้ TikTok จะจับมือกับสำนักข่าวชั้นนำมากมายเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือและนำเสนอความหลากหลายของ #ข่าวTikTok ให้มากขึ้นอีกด้วย" TikTok ย้ำ
***3C ต้องท่องให้ขึ้นใจ
สำหรับคำแนะนำเรื่องการสื่อสารเพื่อให้แบรนด์ยิงตรงกลางใจกลุ่มเป้าหมายในปี 2022 ผู้บริหาร TikTok พบว่ามี 3 สิ่งที่น่าสนใจ ได้แก่ 1.Online Community พบว่าคนไทยใช้สมาร์ทโฟนในแต่ละวันกว่า 5 ชั่วโมง ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยของโลก และมีการเสพคอนเทนต์ออนไลน์มากขึ้นกว่าช่วงก่อนสถานการณ์ของโควิด-19 โดย TikTok มีการเติบโตทั่วโลกมากกว่าปีก่อนถึง 85% มีวิดีโอถูกสร้างขึ้นกว่า 800 ล้านวิดีโอ และมียอดรับชมวิดีโอรวมกว่า 1 ล้านล้านครั้ง 2.Online Media 60% ของผู้บริโภคเห็นว่าสื่อออนไลน์มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจสูง ส่งผลให้แบรนด์มีการซื้อสื่อออนไลน์เพิ่มขึ้น โดยคาดว่าจะสูงถึง 27,000 ล้านบาทในปีนี้ เทียบเป็น 32% ของการซื้อสื่อทั้งหมด 3.Online Shopping การซื้อของออนไลน์เติบโตแบบก้าวกระโดด 79% ของคนไทยชอบชอปปิ้งออนไลน์เพราะสามารถเข้าถึงสินค้าที่หลากหลายมากกว่าที่หน้าร้าน และ 69% ของคนไทยชอบชอปปิ้งออนไลน์เพราะมีความคล่องตัวและสามารถซื้อได้ตลอดเวลา
"Online Community, Online Media และ Online Shopping มีความเกี่ยวเนื่องกัน ผลกระทบที่เกิดจากข้อจำกัดต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้ผู้บริโภคต้องการความสุขและความบันเทิง ซึ่งพวกเขาสามารถพบได้ที่ TikTok ซึ่งเราพบว่าผู้ใช้ TikTok ไม่เพียงเข้ามาดูคอนเทนต์ แต่ยังสนใจและอยากมีส่วนร่วมกับสิ่งที่แบรนด์ต้องการสื่อสารอีกด้วย จึงเป็นโอกาสที่ดีสำหรับแบรนด์ในการเข้าถึงผู้บริโภคผ่าน TikTok โดยสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพผ่าน 3C"
3C ของ TikTok ได้แก่ 1.Content เป็นส่วนสำคัญในการสร้างโอกาสให้แบรนด์และผลิตภัณฑ์สื่อสารไปถึงผู้บริโภค ซึ่งจะเห็นว่า 86% ของผู้ใช้ TikTok บอกว่าโฆษณาบน TikTok ให้ความสนุกสนานและบันเทิง ส่งผลให้ผู้ใช้ TikTok มีส่วนร่วมกับโฆษณาบน TikTok มากกว่าแพลตฟอร์มอื่นถึง 1.7 เท่า โดยในทุกๆ 1 นาที จะมีส่วนร่วมไม่ว่าจะ like, share หรือ comment ถึง 10 ครั้ง 2.Culture โอกาสของแบรนด์คือการขับเคลื่อนไปกับวัฒนธรรมบน TikTok เนื่องจากทุกคนสามารถแสดงความเป็นตัวของตัวเองได้บน TikTok โดย 77% ของผู้ใช้งานรู้สึก TikTok เป็นแพลตฟอร์มที่สามารถแสดงออกได้อย่างเต็มที่ และครึ่งหนึ่งของผู้ใช้งานรู้สึกว่าผู้ใช้งานคนอื่นๆ ก็แสดงความเป็นตัวเองบนTikTok เช่นกัน ส่งผลให้ TikTok สามารถนำไปสู่การสร้างวัฒนธรรมใหม่ๆ ได้ โดย 71% ของผู้บริโภคเห็นว่าเทรนด์ใหญ่ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมมีจุดเริ่มต้นมาจาก TikTok
และ 3.Commerce โอกาสทางการค้า ความสนุกสนานของคอนเทนต์ที่เกิดขึ้นบน TikTok จะทำให้การซื้อขายมีความเป็น Shoppertainment มากขึ้น และจะกระตุ้นให้ผู้ใช้งานเกิดพฤติกรรมการซื้อแบบ Infinity loop นั่นคือ การค้นพบสินค้าจากคอนเทนต์ต่างๆ ที่แบรนด์สร้างขึ้น พิจารณาว่าจะซื้อสินค้าหรือไม่ เกิดการซื้อสินค้า และการรีวิวสินค้าในชุมชน TikTok ทำให้เกิดการับรู้เพิ่มเติมในวงกว้างต่อๆ กันจนเป็นโอกาสที่แบรนด์จะถูกค้นพบและซื้ออย่างไม่สิ้นสุด จากสถิติพบว่า 67% ของผู้ใช้งานรู้สึกว่า TikTok ช่วยให้ค้นพบสินค้าและแบรนด์ที่ไม่เคยเห็นมาก่อน"
TikTok เชื่อว่าทั้ง 3C จะช่วยทำให้แบรนด์สื่อสารไปยังผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพ คอนเทนต์ที่เต็มไปด้วยความบันเทิงจะสร้างความรู้สึกเชิงบวกให้ผู้บริโภค และทำให้ผู้บริโภคอยากเข้าถึงและอยากมีส่วนร่วมในคอนเทนต์นั้น