AIS ขยายบริการ NDID สู่การให้บริการ Public IDP (Public Identity Provider) ผ่านแอป myAIS ข่วยยืนยันตัวตนเพื่อทำธุรกรรม ไม่ว่าจะเป็นการเปิดบัญชีออนไลน์ การสมัครกองทุน หรือประกันต่างๆ ภายใต้มาตรฐานจากสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) และธนาคารแห่งประเทศไทย (BOT)
นายปรัธนา ลีลพนัง หัวหน้าคณะผู้บริหาร กลุ่มลูกค้าทั่วไป บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS กล่าวว่า ที่ผ่านมาเอไอเอสได้เดินหน้าพัฒนา Digital Service รูปแบบต่างๆ เพื่อส่งเสริมวิถีชีวิตในยุคดิจิทัลไลฟ์สไตล์ของผู้คน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริการด้านธุรกรรมทางการเงิน ที่นอกเหนือจากตัวเลขการใช้จ่ายของคนไทยผ่านระบบ Mobile Banking จะสูงติดอันดับต้นๆ ของโลกแล้ว การทำธุรกรรมด้านอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการเปิดบัญชี การสมัครกองทุน ประกันต่างๆ มีแนวโน้มที่เติบโตขึ้นไม่แพ้กัน
ทำให้ AIS ในฐานะ Digital Life Service Provider ได้เปิดให้บริการยืนยันตัวตนผ่านช่องทางต่างๆ ของ AIS ทั้ง AIS Shop, AIS Buddy, Telewiz และร้านค้า AIS ในเครือพันธมิตรกว่า 16,277 จุดทั่วประเทศ เมื่อปี 2020 ที่เรียกว่าบริการ IDP Agent ผ่านความร่วมมือกับบริษัท เนชั่นแนลดิจิทัลไอดี จำกัด พร้อมกับสถาบันทางการเงิน ธนาคาร และบริษัทหลักทรัพย์ชั้นนำที่เข้ามารองรับบริการการยืนยันตัวตนผ่านช่องทางของ AIS อีกมากมาย
"วันนี้เรายังคงเห็นโอกาสและไม่ได้หยุดพัฒนาเพื่อตอบโจทย์พฤติกรรมของลูกค้า จึงเป็นที่มาของการขยายบริการไปที่สู่ช่องทางที่ลูกค้าสามารถทำการยืนยันตัวตนได้เองผ่านแอป my AIS ที่มีผู้ใช้งานกว่า 33 ล้านรายการต่อเดือน ด้วยบริการ Public IDP (Public Identity Provider) ซึ่งกำลังจะเปิดให้บริการเร็วๆ นี้ จะทำให้ลูกค้ามีทางเลือกในการใช้บริการที่มากขึ้น"
อีกทั้งยังไม่ต้องเดินทางไปยังสาขาและจุดให้บริการต่างๆ เป็นการอำนวยความสะดวก ลดความเสี่ยงในการพบปะ อีกทั้งยังมีความแม่นยำ ทำให้มั่นใจได้ว่าตัวตนของผู้ใช้บริการเป็นตัวตนของลูกค้าท่านนั้นจริงๆ และ ระดับความน่าเชื่อถือ หรือ IAL (Identity Assurance Level) ที่ใช้เป็นไปตามหลักสากลที่จะช่วยลดความผิดพลาดของการพิสูจน์ตัวตนได้ แน่นอนว่าเรายังคงยึดมั่นปลอดภัยของผู้ใช้งานตามมาตรฐานสากลที่มีความเข้มงวดสูงสุด
“การที่เราลุกขึ้นมาเปิดให้บริการการยืนยันตัวตนสำหรับลูกค้าที่ต้องการทำธุรกรรมกับสถาบันทางการเงินต่างๆ เป็นรายแรกในธุรกิจโทรคมนาคมคงไม่ใช่แค่การมีบริการใหม่ที่ตอบโจทย์ลูกค้า แต่เรายังมองถึงการเชื่อมต่อไลฟ์สไตล์ของลูกค้ากับภาคส่วนต่างๆ ที่จะเสริมขีดความสามารถของการทำงานแบบทั้งระบบเพื่อยกระดับ Digital Ecosystem ของประเทศให้มีความแข็งแรง”