xs
xsm
sm
md
lg

“ชัยวุฒิ” รับหนังสือร้องเรียนจากหมอโอ๊ค สมิทธิ์ ถูกสวมรอยโปรไฟล์ปลอมบัญชีโซเชียล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ชัยวุฒิ” รมว.ดีอีเอส รับหนังสือร้องเรียนจาก หมอโอ๊ค สมิทธิ์ คนดังรายล่าสุดที่ถูกมิจฉาชีพนำรูปภาพและโปรไฟล์ไปสวมรอยสร้างบัญชีโซเชียลปลอม ใช้แอบอ้างหลอกลวงแฟนคลับทั้งในและต่างประเทศ เร่งประสานตำรวจรวบรวมหลักฐาน เล็งใช้ 3 กฎหมายลงดาบ ทั้ง พ.ร.บ.คอมพ์ กม.อาญา และ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า วันนี้ (9 มี.ค.) นพ.สมิทธิ์ อารยะสกุล (หมอโอ๊ค สมิทธิ์) เดินทางเข้ามายื่นหนังสือร้องเรียนกรณีถูกผู้อื่นนำรูปภาพและโปรไฟล์ในโซเชียลไปสวมรอยสร้างบัญชีโซเชียลปลอม แอบอ้างและหลอกลวงแฟนคลับ และผู้ติดตามให้หลงเชื่อ บางรายถูกหลอกจนสูญเสียทรัพย์สินเงินทอง มีผู้ได้รับความเสียหายทั้งในไทยและต่างประเทศ

ปัจจุบัน ดีอีเอสได้ประสานงานกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) เพื่อรวบรวมพยานหลักฐานดำเนินคดี โดยบางบัญชีปลอมมีการปิดไปแล้ว สำหรับพฤติกรรมมิจฉาชีพดังกล่าวเป็นความผิดตามกฎหมาย ทั้งในส่วนของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ประมวลกฎหมายอาญา และ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์

โดย พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (1) ระบุว่า ผู้ใดกระทําความผิดโดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอม ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ขณะที่มาตรา 16 ได้กำหนดโทษสำหรับการนำรูปผู้อื่นหรือโปรไฟล์ใช้แอบอ้าง สวมรอยเป็นบุคคลอื่นไว้ว่า “ผู้ใดนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่ประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ปรากฏเป็นภาพของผู้อื่น และภาพนั้นเป็นภาพที่เกิดจากการสร้างขึ้น ตัดต่อ เติม หรือดัดแปลงด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือวิธีการอื่นใด ทั้งนี้ โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

นอกจากนี้ ยังมีความผิดฐานฉ้อโกง ตามประมวลกฎหมายอาญา โดยมาตรา 341 กำหนดไว้ว่า “ผู้ใดโดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงดังว่านั้น ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานฉ้อโกง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

“ในกรณีนี้ยังมีการนำภาพ เสียง วิดีโอของหมอโอ๊ค ไปใช้ในบัญชีโซเชียลปลอมนั้นด้วย ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ มีความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ โทษปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท อีกทั้งยังเป็นการนำไปใช้โดยมีเจตนาเพื่อการค้าอีกด้วย ยิ่งผิดขึ้นอีก โดยมีโทษปรับตั้งแต่ 100,000-800,000 บาท หรือจำคุก 6 เดือน-4 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ” นายชัยวุฒิ กล่าว

นพ.สมิทธิ์ อารยะสกุล (หมอโอ๊ค สมิทธิ์) กล่าวว่า พบการแอบอ้างในลักษณะหลอกลวง (Scammer) โดยมีการนำภาพ มีการแต่งเรื่อง นำภาพปกไปทำการหลอกลวง สร้างบัญชีโซเชียลปลอมหลอกลวงผู้เสียหายหลากหลาย ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ โดยเฉพาะในอาเซียน ได้แก่ เวียดนาม สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และล่าสุดขยายไปถึงอเมริกาใต้ โดยมักเจาะกลุ่มผู้หญิงสูงอายุ หลอกลวงโดยมีเป้าหมายเพื่อความสัมพันธ์ และเรียกร้องเงินทอง มีการขอให้โอนเงินผ่านบัญชีต่างๆ

“ผมได้รับข้อมูลนี้ผ่านช่องทางส่วนตัวของผม โดยมีผู้เสียหายติดต่อเข้ามาสอบถามว่าเป็นตัวเราจริงหรือไม่ หรือลักษณะว่ามีการโอนเงินไปแล้วขอเงินคืนได้หรือไม่ หลายท่านมาด้วยความเดือดร้อนใจ เพราะจำนวนเงินค่อนข้างเยอะ และผู้เสียหายที่อยู่ต่างประเทศสอบถามด้วยว่าในประเทศไทยมีการจัดการอย่างไรบ้างกับปัญหานี้” นพ.สมิทธิ์ กล่าว

ทั้งนี้ ในฐานะที่รู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดความเสียหายในลักษณะนี้ เพราะถูกนำไปแอบอ้างตัวตน จึงอยากช่วยเหลือผู้เสียหาย และรับผิดชอบในแง่มุมการให้ข้อมูลการเข้าถึงช่องทางร้องเรียนของผู้เสียหาย รวมทั้งอยากให้ประเทศเพื่อนบ้านที่มีผู้เสียหายได้รับข้อมูลช่องทางช่วยเหลือนี้ ซึ่งมิจฉาชีพมักเห็นช่องโหว่ เช่น ความอับอาย ความไม่รู้ จึงสบโอกาส ดังนั้น ปัจจุบันมีการแจ้งความออนไลน์ ให้สามารถเอาผิดมิจฉาชีพพวกนี้ได้ จึงอยากให้ผู้เสียหายใช้ช่องทางนี้แจ้งความดำเนินคดีเรียกร้องความยุติธรรม

พ.ต.อ.ทำนุรัฐ คงมั่น รอง ผบ.สอท.1 กล่าวว่า ทุกส่วนกำลังดำเนินการเร่งรัดแก้ไขกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับปัญหาและคดีทางเทคโนโลยีและสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งช่วง 2 ปีนี้พบมีสูงมากโดยเฉพาะการหลอกลวงออนไลน์ และการแฮกระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งในกรณีของ นพ.สมิทธิ์ ตรวจสอบแล้วมีการกระทำผิดเกิดขึ้นทั้งในและนอกประเทศ ถูกแอบอ้างตัวตนนำไปโพสต์โซเชียล ในทางกฎหมายจึงถือเป็นผู้เสียหายสามารถไปแจ้งความได้ และล่าสุด สตช. ได้เปิดศูนย์รับแจ้งความออนไลน์ในคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี มีผู้เสียหายแจ้งความเข้ามาบ้างแล้ว ซึ่งมองว่าน่าจะเป็นช่องทางหนึ่งในการแก้ปัญหาด้านนี้ไปในทิศทางที่ดีขึ้น

ขณะที่ รมว.ดีอีเอส กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับแนวทางป้องกันการถูกแอบอ้างสวมรอยบนโซเชียล อยากแนะนำให้คนดังหรือดารา เข้าไปทำการยืนยันตัวตนผ่านระบบยืนยันบัญชี (Verified Badge) ซึ่งทั้งในแพลตฟอร์มโซเชียล เช่น เฟซบุ๊ก ไอจี มีให้บริการอยู่ ให้ยืนยันผ่านระบบนี้ จากนั้นจะมีเครื่องหมายถูกสีฟ้า verify บัญชีโซเชียลนั้นๆ ว่าเป็นตัวตนจริง ขณะที่ในส่วนของประชาชน หากไม่เห็นเครื่องหมายยืนยันบัญชีดังกล่าวในเพจหรือไอจีใคร ก็อย่าหลงเชื่อ อย่าโอนเงิน
นอกจากนี้ หากพบว่ามีบัญชีปลอมให้มีการ Report เพื่อให้แพลตฟอร์มนั้นๆ ทำการพิจารณาปิด หรือแจ้งมาที่ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนปัญหาออนไลน์ 1212 หรือสายด่วน 1441 ของตำรวจไซเบอร์ หรือแจ้งความออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ศูนย์รับแจ้งความออนไลน์ในคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี www.thaipoliceonline.com


กำลังโหลดความคิดเห็น