ทวิตเตอร์ย้ำตัวเองคือ "สถานที่ในการแสดงออกถึงตัวตนของทุกคน" แต่หากใครพบว่าข้อมูลส่วนตัว รูปภาพ หรือคลิปวิดีโอของใครถูกนำไปใช้โดยไม่ได้มีการขออนุญาตก่อน ก็สามารถส่งรายงานได้ทันที ระบุได้ร่วมมือกับพันธมิตรทั่วภูมิภาคภายใต้ความร่วมมือ "Together for a Better Internet" และเชิญชวนให้ผู้คนร่วมมือกันเพื่อทำให้อินเทอร์เน็ตเป็นสถานที่ที่ปลอดภัยและดีขึ้นสำหรับทุกคน ฉลอง 8 กุมภาพันธ์ "วันการใช้อินเทอร์เน็ตที่ปลอดภัยขึ้น" หรือ Safer Internet Day ผ่าน 7 ทิปส์ใช้ทวิตเตอร์ให้ปลอดภัยยิ่งขึ้นพร้อมแฮชแทค #SaferInternetDay
ทวิตเตอร์กล่าวถึงการประกาศ 7 ทิปส์ใช้งานแพลตฟอร์มให้ปลอดภัยว่าเกิดจากจุดมุ่งหมายในการให้บริการบทสนทนาสาธารณะ และเพื่อให้สอดคล้องกับธีม Together for a better internet ของ "#วันการใช้อินเทอร์เน็ตที่ปลอดภัยขึ้น" ในปีนี้ ทวิตเตอร์จึงขยายนโยบายและอัปเดตฟีเจอร์ในการช่วยให้ผู้คนได้รับประสบการณ์ที่ดีในการใช้ทวิตเตอร์ ซึ่งแม้จะยังมีงานอีกมากที่ต้องดำเนินการ แต่ทวิตเตอร์เชื่อว่าได้พัฒนาอัปเดตบริการต่างๆ ไปได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว
หนึ่งในไฮไลต์สำคัญที่ทวิตเตอร์ได้ทำการอัปเดตเกี่ยวกับความปลอดภัยและคุณภาพของบทสนทนา คือ บางครั้งคอนเทนต์ที่มีเนื้อหาล่อแหลมปรากฏขึ้นอาจไม่มีการแจ้งเตือนล่วงหน้า ทวิตเตอร์จึงเปิดให้มีการแจ้งเตือนเนื้อหาก่อนทวีตในแต่ละครั้งซึ่งสามารถใช้งานได้ทั่วโลก เพื่อเป็นการเตือนว่า ทวีตนั้นๆ มีเนื้อหาล่อแหลม และเป็นเนื้อหาที่มีความละเอียดอ่อนปรากฏอยู่บนหน้าไทม์ไลน์
ขณะเดียวกัน ทวิตเตอร์ได้ออกคู่มือการใช้งานบนโลกดิจิทัลอย่างไรให้ปลอดภัย หรือ Digital Safety playbook ซึ่งจะช่วยให้ใช้ทวิตเตอร์ได้อย่างปลอดภัยยิ่งขึ้น สามารถควบคุมการใช้งานต่างๆ บนทวิตเตอร์ และจัดการดิจิทัลฟุตพรินต์ของตัวเองบนทวิตเตอร์ คู่มือนี้สามารถดาวน์โหลดได้และมีทั้งหมด 7 ภาษา ได้แก่ ภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส ภาษาฮินดี ภาษาญี่ปุ่น ภาษาโปรตุเกส ภาษาสเปน (ประเทศสเปน) และภาษาสเปน (กลุ่มประเทศละตินอเมริกา) โดยย้ำว่าทวิตเตอร์ได้มีการอัปเดตนโยบายในเรื่องของข้อมูลโควิด-19 ที่อาจนำไปสู่ความเข้าใจที่ผิดพลาดได้เพื่อให้ทุกคนได้รับข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับโควิด-19 บนทวิตเตอร์
นอกจากนี้ ทวิตเตอร์ยังได้ขยายบริการการแจ้งเตือน #ThereIsHelp เพื่อให้บริการข้อมูลที่น่าเชื่อถือจากแหล่งที่เชื่อถือได้ สำหรับผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ
หากย้อนกลับไปเดือนธันวาคม 2564 ทวิตเตอร์ระบุว่า ได้เพิ่มการแจ้งเตือนเกี่ยวกับการติดเชื้อ HIV ซึ่งสามารถใช้งานได้ทั่วโลกเพื่อนำเสนอข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับเชื้อ HIV และโรคเอดส์ทั้งในกลุ่มประเทศเอเชียแปซิฟิก ทวีปอเมริกา เช่น บราซิล รวมทั้งฮ่องกง อินเดีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไต้หวัน ไทย และสหรัฐอเมริกา
ความเคลื่อนไหวนี้เกิดตามหลังเดือนพฤษภาคม 2564 ซึ่งทวิตเตอร์ได้เปิดให้บริการการค้นหาเพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับเสรีภาพในการแสดงออกในประเทศไทย โดยเมื่อผู้ใช้ทวิตเตอร์ค้นหาคำสำคัญที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกบนทวิตเตอร์ จะได้รับการแจ้งเตือนอัตโนมัติเป็นเบอร์สายด่วนและลิงก์ที่สามารถติดต่อไปยังองค์กรพันธมิตร
อีกด้าน ทวิตเตอร์ได้ร่วมมือกับองค์การเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (@UNWomenAsia) เพื่อขยายความช่วยเหลือและสนับสนุนในการสร้างความตระหนักรู้ถึงความรุนแรงทางเพศในประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม
สำหรับ 7 ทิปส์ควบคุมประสบการณ์การใช้ทวิตเตอร์ แถลงการณ์ระบุว่าในยุคของโลกดิจิทัล ความต้องการที่จะมีบทสนทนาที่เป็นความจริง มีความครอบคลุม และมีความปลอดภัยเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ทวิตเตอร์เองมุ่งมั่นที่จะทำให้ผู้ใช้งานมีความรู้สึกปลอดภัยยิ่งขึ้นและสามารถควบคุมประสบการณ์การใช้ทวิตเตอร์ของตนเองได้
เคล็ดลับ 7 ข้อที่จะช่วยให้คุณรู้สึกปลอดภัยยิ่งขึ้นในขณะเข้าร่วมบทสนทนาบนทวิตเตอร์ ได้แก่ 1.การสร้างความปลอดภัยให้แอ็กเคานต์ทวิตเตอร์ของคุณด้วยการยืนยันตัวตน 2 ขั้นตอน (หรือ 2FA) เพื่อเพิ่มขั้นตอนพิเศษในการรักษาความปลอดภัยให้แอ็กเคานต์ของคุณว่าจะมีเพียงคุณซึ่งเป็นเจ้าของแอ็กเคานต์เท่านั้นที่จะสามารถล็อกอินเข้าใช้งานได้
2.ทวิตเตอร์คือสถานที่ที่ทุกคนมีเสรีภาพในการแสดงออก การตั้งค่าปกป้องทวีตของทุกคนจะช่วยให้สามารถแชร์ทวีตความคิดและความคิดเห็นกับกลุ่มคนที่ติดตามได้ในจำนวนที่จำกัด 3.เมื่อไม่นานมานี้ทวิตเตอร์ได้ออกฟีเจอร์ใหม่ที่ผู้ใช้งานสามารถควบคุมได้ว่าใครสามารถติดตามบัญชีใครได้บ้าง ถ้าหากต้องการตั้งค่าจำกัดการใช้งานกับบางแอ็กเคานต์ ก็สามารถลบแอ็กเคานต์เหล่านั้นออกจากรายชื่อผู้ติดตามได้โดยที่ไม่ต้องบล็อกแอ็กเคานต์เหล่านั้น (สามารถเข้าไปตั้งค่าบนเว็บที่ Twitter.com)
4.ทวิตเตอร์ย้ำว่าได้ช่วยให้ผู้คนจำกัดการเห็นทวีตจากบางแอ็กเคานต์โดยที่ไม่จำเป็นต้องกดเลิกติดตามหรือบล็อก เพียงแค่เข้าไปตั้งค่าซ่อนแอ็กเคานต์เหล่านั้น หรืออาจจะเข้าไปจัดการแอ็กเคานต์เพื่อซ่อนคำเฉพาะบางคำ ซ่อนบทสนทนา ซ่อนกลุ่มคำชื่อแอ็กเคานต์ อีโมจิ หรือแฮชแท็ก 5.ควรหลีกเลี่ยงการแชร์โลเกชันที่เป็นข้อมูลตำแหน่งที่อาจจะเป็นการระบุถึงสถานที่ตั้งของบ้าน ที่ทำงาน หรือแม้แต่โรงเรียนของลูก 6.ข้อความส่วนตัว หรือการ DM ช่วยให้ทุกคนสามารถมีบทสนทนาแบบส่วนตัวหรือสามารถสร้างบทสนทนาแบบกลุ่ม แต่มีบางครั้งที่อาจจะได้รับข้อความส่วนตัวที่ไม่อยากได้ การตั้งค่าข้อความส่วนตัวจะช่วยให้ทุกคนสามารถกรองข้อความที่ไม่ต้องการและจำกัดการได้รับข้อความจากคนที่ไม่ได้ติดตาม หากการตั้งค่าตรงข้อความส่วนตัวปิดการใช้งานอยู่ จะได้รับข้อความส่วนตัวเฉพาะจากคนที่กำลังติดตามเท่านั้น นอกจากนี้ ยังสามารถเปิดใช้งานเพื่อกรองข้อความที่มีคุณภาพต่ำหรือข้อความที่อาจจะเป็นสแปมได้ด้วย
ข้อสุดท้าย 7.ทวิตเตอร์ย้ำว่าตัวเองคือสถานที่ในการแสดงออกถึงตัวตนของทุกคน แต่หากใครพบว่าข้อมูลส่วนตัว รูปภาพ หรือคลิปวิดีโอของใครถูกนำไปใช้โดยไม่ได้มีการขออนุญาตก่อนสามารถส่งรายงานได้ทันที
กลับมาพบกันอีกครั้งในรูปแบบใหม่
กับ HUG LIVE SESSION
8 ก.พ. นี้ #วันแห่งใช้อินเทอร์เน็ตที่ปลอดภัยยิ่งขึ้น
มาร่วมรับฟัง รู้เท่าทัน ทักษะที่จำเป็น
ที่จะทำให้คุณและครอบครัว👨👩👧👦
🌐ปลอดภัยบนโลกออนไลน์มากขึ้น#SID2022 #Onlinesafety4Girls #Xposed #หยุดคลิปหลุด https://t.co/Yp144JN3sm— The HUG Project (@HugProjectTH) January 27, 2022
สำหรับประเทศไทย ทวิตเตอร์ได้ร่วมกับโครงการของ HUG ประเทศไทย (@HugProjectTH) ในการจัดไลฟ์สตรีมมิ่งเพื่อพูดคุยกันในเรื่องของความปลอดภัยบนโลกออนไลน์ในวันอังคารที่ 8 กุมภาพันธ์ เวลา 19.30-20.40 น.อีกด้วย
และเพื่อเป็นการผลักดันให้เกิดบทสนทนาในวันการใช้อินเทอร์เน็ตที่ปลอดภัยขึ้น ทวิตเตอร์ได้เปิดตัวอิโมจิพิเศษ ซึ่งจะปรากฏอัตโนมัติเมื่อทวีตพร้อมติดแฮชแท็ก #SaferInternetDay, #SID2022, #วันการใช้อินเทอร์เน็ตที่ปลอดภัยขึ้น ตั้งแต่วันนี้-13 กุมภาพันธ์ 2565 นี้