xs
xsm
sm
md
lg

อีคอมเมิร์ซ B2B บานสะพรั่งปี 65 “อาลีบาบา” คว้า SME ไทยเพิ่ม 50%  (Cyber Weekend)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“อาลีบาบากรุ๊ป” เผยว่าจำนวนซัปพลายเออร์ชาวไทยบน Alibaba.com มีมากขึ้นกว่า 50% เมื่อเทียบจากปี 63
ตลาดอีคอมเมิร์ซแบบจำหน่ายระหว่างธุรกิจด้วยกัน หรือ B2B (Business-to-Business) ในประเทศไทยกำลังเติบโตต่อเนื่อง ปัจจัยบวกส่วนหนึ่งมาจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เพิ่มและกระตุ้นการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่โลกอีคอมเมิร์ซอย่างเข้มข้น ล่าสุด ยักษ์ใหญ่ “อาลีบาบากรุ๊ป” เผยว่าจำนวนซัปพลายเออร์ชาวไทยบน Alibaba.com มีมากขึ้นกว่า 50% เมื่อเทียบจากปีก่อนหน้า ทำให้มั่นใจว่าธุรกิจรายย่อย หรือ SME ไทยจะเปิดรับดิจิทัลและขยายธุรกิจทั่วโลกยิ่งขึ้นอีกในปี 2565 

ปัจจุบัน ตลาดอีคอมเมิร์ซ B2B ทั่วโลกมีมูลค่า 23.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ สถิตินี้เชื่อว่าจะขยายตัวไม่หยุดจากเม็ดเงินลงทุนของผู้เล่นหลายเบอร์ในตลาด หนึ่งในการลงทุนสำคัญที่จะอัดฉีดการขยายตัวคือการจัดโครงการฝึกอบรมผู้ค้าหรือผู้ประกอบการให้เข้าใจวิธีการลงโฆษณาคีย์เวิร์ด รวมถึงแพกเกจหลากหลายที่แพลตฟอร์มมีให้บริการ ซึ่งทั้งหมดจะไม่เพียงเป็นประโยชน์ต่อ SME ในการคว้าโอกาสจำหน่ายสินค้าล็อตใหญ่บนเวทีนานาชาติโดยไม่ต้องไปออกงานแสดงสินค้า แต่ยังทำให้เจ้าของแพลตฟอร์มมีธุรกิจแข็งแกร่งเป็นปึกแผ่นยิ่งขึ้นด้วย

ความคืบหน้าล่าสุดของวงการอีคอมเมิร์ซ B2B ไทยในขณะนี้มาจาก Alibaba.com แพลตฟอร์ม B2B เพื่อการค้าสัญชาติจีนที่เปิดตัว “โครงการฟื้นฟูจากภาวะโรคระบาด สู่ความสำเร็จทางเศรษฐกิจของประเทศไทย” หรือ Alibaba.com Seller Training E-course (ASTE) โดยร่วมมือกับ Thaitrade.com และได้รับการสนับสนุนจากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ บนจุดประสงค์หลักคือ เพื่อช่วยส่งเสริมการค้าข้ามพรมแดนให้แก่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของไทย ท่ามกลางโรคระบาดที่เกิดขึ้นทั่วโลก

Alibaba.com มองว่าโครงการนี้คือการติดปีกธุรกิจไทยสู่การค้าข้ามพรมแดน เป็นการอบรมอีคอมเมิร์ซฟรีเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของ SMEs ไทยหลังโควิด เป้าหมายหลักคือช่วยให้ผู้ประกอบการ SMEs ไทยหลายร้อยคนได้รับทักษะในการทำธุรกิจอีคอมเมิร์ซ B2B ได้โดยตรงภายใน 3 เดือน ตัวหลักสูตรออกแบบมาเพื่อผู้ส่งออกที่เพิ่งเริ่มใช้แพลตฟอร์ม Alibaba.com ระยะเวลาฝึกอบรมออนไลน์ประมาณครึ่งวัน เริ่มการอบรมในระหว่างเดือนมกราคม-มีนาคม 2565 หัวข้อครอบคลุมตั้งแต่เทรนด์การค้าทั่วโลก ทักษะที่จำเป็นในการทำธุรกิจอีคอมเมิร์ซ รวมไปถึงคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญและผู้ขายออนไลน์ที่มีประสบการณ์

   สตีเฟน คูโอ
นอกจากตัวหลักสูตรที่มักจะเปิดให้เฉพาะสมาชิกแบบชำระเงินของ Alibaba.com เท่านั้น โครงการยังมอบสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมให้ผู้ประกอบการ SMEs ที่เข้าร่วมจนจบโครงการ เช่น ส่วนลดในการเป็นสมาชิกและส่วนลดแพกเกจการเตรียมความพร้อมของสมาชิกใหม่ อีกทั้งยังมอบเครดิตเงินโฆษณาคีย์เวิร์ดและบัตรกำนัลมูลค่าเริ่มต้นประมาณ 16,500 บาท 

***เน้นธุรกิจไทยที่มีหน้าร้าน

สตีเฟน คูโอ ผู้อำนวยการ Alibaba.com ประจำเอเชียแปซิฟิก มองว่าโครงการอบรมฟรีเป็นการช่วยให้ธุรกิจต่างๆ ในประเทศไทยเปลี่ยนผ่านสู่โลกออนไลน์ในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจที่มีหน้าร้านจริงเท่านั้น เบื้องต้น เชื่อว่าไทมิ่ง หรือการเลือกเวลาในการจัดอบรมนั้นเหมาะสมเพราะการระบาดของไวรัสโควิด-19 นั้นทำให้การค้าโลกเปลี่ยนไปขับเคลื่อนด้วยอีคอมเมิร์ซ โรคระบาดทำให้การเปลี่ยนไปทำธุรกิจแบบดิจิทัลไม่ได้เป็นแค่ทางเลือกสำหรับผู้ประกอบการ SMEs บางรายอีกต่อไป แต่กลายเป็นสิ่งที่จำเป็นเพื่อให้แบรนด์ยังคงอยู่ในตลาดได้

“ธุรกิจต่างๆ ในไทยถือว่าสามารถใช้ประโยชน์จากโอกาสการค้าข้ามพรมแดนจากคนทั่วโลกในการขายสินค้าไทย และเรายึดมั่นที่จะทำให้เส้นทางการค้าทั่วโลกของผู้ประกอบการง่ายขึ้น ด้วยการช่วยปลดล็อกและพาพวกเขาไปหาโอกาสในโลกออนไลน์ เราวางแผนที่จะเพิ่มวิทยากรภาษาไทย เพื่อให้มั่นใจว่าเรามีแหล่งข้อมูลที่เพียงพอในการยกระดับอีคอมเมิร์ซแบบ B2B ให้แก่ซัปพลายเออร์ชาวไทยมากยิ่งขึ้น ในระยะยาว เราวางแผนที่จะแนะนำชุดการเรียนรู้ออนไลน์ที่จำเป็นในตลาด รวมถึงหัวข้อที่น่าสนใจอื่นๆ เช่น ทักษะการเจรจาต่อรองกับผู้ซื้อ และทักษะการวางแผนการเติบโตของธุรกิจขั้นสูง ออกมาเป็นภาษาไทย เพื่อให้สะดวกแก่การเสริมความรู้สำหรับซัปพลายเออร์ชาวไทยให้มากยิ่งขึ้น”

ผู้บริหารอาลีบาบาย้ำถึงเป้าหมายทางธุรกิจโดยรวมของอาลีบาบา กรุ๊ป ในประเทศไทย ว่าเป็นไปตามภารกิจของอาลีบาบา กรุ๊ป คือการทำให้การทำธุรกิจเป็นเรื่องง่ายไม่ว่าจะเป็นที่ไหนก็ตาม และเป้าหมายของบริษัทภายในปี 2579 คือ การให้บริการแก่ผู้บริโภค 2 พันล้านคนทั่วโลก ช่วยให้ธุรกิจกว่า 10 ล้านธุรกิจสามารถทำกำไรและสร้างงานได้ 100 ล้านตำแหน่ง และประเทศไทยเป็นประตูสำคัญที่จะช่วยให้อาลีบาบาเข้าใกล้เป้าหมายนี้มากขึ้นในแง่ของการสนับสนุนธุรกิจและผู้บริโภคในยุคดิจิทัล

ปัจจุบัน Alibaba.com เป็นแพลตฟอร์มที่มีฐานผู้ซื้อกว่า 20 ล้านคน ครอบคลุมกว่า 190 ประเทศและภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก
ในภาพใหญ่ อาลีบาบามีแผนนำอีโคซิสเต็มทั้งยวงของบริษัทเข้ามาให้บริการแก่ตลาดที่หลากหลายในประเทศไทย ไม่เพียง Alibaba.com ที่เป็นแพลตฟอร์มการค้า B2B แต่ยังมี “ทีมอลล์ โกลบอล” ที่เป็นแพลตฟอร์ม B2C สำหรับการขายสินค้าให้ผู้บริโภคชาวจีนกลุ่มยักษ์โดยตรง ซึ่งในปี 2564 ที่ผ่านมา ทีมอลล์ โกลบอล ได้เร่งเตรียมความพร้อมและอบรมผู้ค้าเช่นกัน รวมไปถึงการเปิดตัวระบบบริการลูกค้าเป็นภาษาอังกฤษเพื่อดึงดูดลูกค้านอกประเทศจีนที่สนใจเข้าร่วมแพลตฟอร์ม

ไม่เพียงเท่านั้น อาลีบาบาจะขยายฐานธุรกิจ “อาลีบาบา คลาวด์” เทคโนโลยีดิจิทัลที่ถือว่าเป็นกระดูกสันหลังของอาลีบาบา กรุ๊ป ผ่านการสนับสนุนกลยุทธ์ดิจิทัลของประเทศไทยด้วย ตรงนี้นำไปสู่การฝึกอบรม และการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ซึ่งรวมไปถึงการเปิดตัว Academic Empowerment Program สำหรับนักศึกษา นักวิชาการ และนักวิจัย เพื่อสร้างแรงงานที่มีทักษะคลาวด์ และเทคโนโลยีอื่นในอนาคต คาดว่าอาลีบาบาจะเปิดตัวศูนย์ข้อมูล (Data Center) แห่งแรกในประเทศไทย เพื่อรองรับการใช้งานคลาวด์ที่มากขึ้นและความต้องการศูนย์ข้อมูลที่มากขึ้นเพราะโควิด-19

ปัจจุบัน Alibaba.com เป็นแพลตฟอร์มที่มีฐานผู้ซื้อกว่า 20 ล้านคน ครอบคลุมกว่า 190 ประเทศและภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก ในขณะที่ประเทศไทยมีความได้เปรียบในด้านการส่งออก อาหาร การเกษตร และความงาม ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากเศรษฐกิจเชิงอุตสาหกรรมที่มุ่งเน้นการส่งออกของประเทศ สถานการณ์นี้ทำให้อาลีบาบามองแนวโน้มตลาด B2B ในประเทศไทยและภูมิภาคในทางสดใส ขอเพียงให้ธุรกิจไทยเข้าใจว่าการมีตัวตนบนโลกออนไลน์จะทำให้ SME สามารถทำตามความต้องการทั่วโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะผู้ซื้อทั่วโลกอายุน้อยขึ้นและเข้าใจอินเทอร์เน็ตมากขึ้นกว่าแต่ก่อน

หากทำได้ ปัญหาเรื่อง “SME ไทย 99% ไม่สามารถขายหรือส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ” ก็จะหมดไป และอีคอมเมิร์ซ B2B ไทยจะบานสะพรั่งสดใส ขณะที่อาลีบาบาและแพลตฟอร์มต่างชาติอื่นๆ ก็จะกระเป๋าตุงยิ่งขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น