มาแล้ว "คอนแทกต์เลนส์อัจฉริยะ" แบบนิ่มตัวแรกที่จะทำให้ทุกคนมองการณ์ไกลมากขึ้นแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ผู้พัฒนาเผยออกแบบสำหรับการใช้ AR ในงานประจำวัน เช่น ผู้ขับขี่ที่สวมใส่เลนส์อยู่จะได้เห็นอัตราความเร็วที่จำกัดบนถนนแต่ละเส้นที่ขับผ่าน ขณะที่ใครสายตายาวจะสามารถปรับภาพที่เห็นได้อัตโนมัติ รวมถึงการเข้าสู่จักรวาลเมตาเวิร์สซึ่งผู้ใช้จะไม่ต้องสวมแว่นตาให้หนาหนักอีกต่อไป
จากที่หลายคนเคยเห็นเทคโนโลยีลักษณะนี้ในภาพยนตร์ไซไฟ ซึ่งตัวละครในเรื่องสามารถสแกนสภาพแวดล้อมที่ยืนอยู่ในขณะนั้นเพื่อรับข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับทำภารกิจ มาตอนนี้ภาพฝันทั้งหมดกำลังเข้าใกล้ความเป็นจริงมากขึ้น เพราะที่งานประชุม CES 2022 บริษัทเทคโนโลยีด้านการมองเห็นด้วยสายตาชื่ออินวิธ (InWith Corporation) ได้โชว์ตัวสินค้าต้นแบบที่ตัวเองเรียกว่า "Metaverse Contact Lenses" จนเป็นข่าวฮือฮาทั่วโลก
*Hot Video*
See it & Touch it.
The future of mass market smart contact lenses is @InWithCorp IP.#AR #XR pic.twitter.com/pq3ABR1HZi— InWith (@InWithCorp) July 23, 2020
InWith อ้างว่า คอนแทกต์เลนส์นี้เป็นคอนแทกต์เลนส์อัจฉริยะตัวแรกของโลกที่สามารถนำไปใช้กับเรตินาในดวงตามนุษย์ได้โดยตรง เพื่อให้ผู้สวมใส่ได้สัมผัสภาพเสมือนจริงบนสภาพแวดล้อมรอบตัวแบบเรียลไทม์ ทำให้บริษัทเรียกคอนแทกต์เลนส์เหล่านี้ว่า "คอนแทกต์เลนส์ เมตาเวิร์ส" และได้ยื่นจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า "Metaverse Contacts" และ "Metaverse Lens" กับสำนักงานสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้าของสหรัฐอเมริกาแล้ว
ต้นแบบ "คอนแทกต์เลนส์ เมตาเวิร์ส" นี้ใช้เวลาพัฒนา 3 ปี บนเงินทุนมูลค่า 9 ล้านเหรียญสหรัฐ จากสำนักงานวิจัยชีวภาพและสิ่งแวดล้อม ภายใต้กระทรวงพลังงานของสหรัฐฯ ตัวเทคโนโลยีมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้นักพัฒนามีทางเลือกในการปลูกถ่ายชิปแสดงภาพขนาดเล็ก หรือระบบเครื่องกลไฟฟ้าขนาดเล็ก (MEMS) บนคอนแทกต์เลนส์แบบเจลนิ่ม หรือซอฟต์เจล ทำให้ผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องใช้ชุดหูฟังขนาดใหญ่ รวมถึงไม่ต้องมีสมาร์ทโฟนเพื่อรับข้อมูลแบบเรียลไทม์
ไมเคิล เฮย์ส (Michael Hayes) ซีอีโอของ InWith ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซีเน็ต (CNET) ว่า คอนแทกต์เลนส์อัจฉริยะนี้สามารถแจ้งให้ผู้สวมใส่ทราบถึงความเร็วที่แนะนำสำหรับถนนที่กำลังขับผ่านไป รวมถึงข้อมูลทางออกของถนนว่าสถานที่ด้านหน้าคือที่ใด นอกจากนี้ ผู้ที่มีสายตายาวเพิ่มขึ้นตามอายุ (ภาวะสายตาที่เกี่ยวข้องกับอายุ) ซึ่งทำให้วัตถุที่อยู่ใกล้ดูพร่ามัว สามารถใช้เลนส์เพื่อปรับการมองเห็นได้โดยอัตโนมัติ ทำให้ไม่ต้องพึ่งแว่นอ่านหนังสืออีกต่อไป
อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยียังอยู่ระหว่างการพัฒนา ซึ่งยังไม่มีการเปิดเผยกำหนดการพร้อมใช้งานจริงในเร็ววัน คาดว่าจะมีความคืบหน้าอื่นเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีนับจากนี้