ETDA จัดทำข้อเสนอแนะมาตรฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสารที่จำเป็นต่อธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเป็นแนวทางและมาตรฐานให้กับหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนในการเลือกใช้วิธีการลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ ให้เหมาะสมกับการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์
โดยตามข้อเสนอแนะมาตรฐานดังกล่าวจะแบ่งลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ ได้ 3 ประเภท ได้แก่
ประเภทที่ 1 ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ทั่วไป โดยจะเป็นอักษร อักขระ ตัวเลข เสียง หรือสัญลักษณ์อื่นใดที่สร้างขึ้นให้อยู่ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นลักษณะของลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ ตามมาตรา 9 ของกฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ตัวอย่างเช่น การใช้สไตลัส (Stylus) เขียนลายมือชื่อด้วยมือลงบนหน้าจอโทรศัพท์มือถือ หรือแท็บเล็ต การเข้าล็อกอิน Username กับ Password การใส่รหัสบัตร ATM เป็นต้น
ประเภทที่ 2 ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่เชื่อถือได้ โดยเป็นลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่มีลักษณะตามที่กำหนดในมาตรา 26 ของแห่งกฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เช่น ลายมือชื่อดิจิทัล ที่อาศัยโครงสร้างพื้นฐานกุญแจสาธารณะ หรือ Public Key Infrastructure (PKI) ซึ่งสามารถยืนยันตัวบุคคลผู้เป็นเจ้าของได้ว่าคนคนนั้นเป็นใคร และสามารถตรวจพบการเปลี่ยนแปลงของข้อความและลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้ หากว่ามีใครมาแก้ไขข้อมูล
ประเภทที่ 3 ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่เชื่อถือได้ ซึ่งใช้ใบรับรองที่ออกโดยผู้ให้บริการออกใบรับรอง โดยเป็นลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ประเภทที่ 2 ที่มีลักษณะตามที่กำหนดในมาตรา 26 ของแห่งกฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ประกอบกับอาศัยใบรับรองที่ออกโดยผู้ให้บริการออกใบรับรองเพื่อสนับสนุนลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ ตามที่กำหนดในมาตรา 28 ของแห่งกฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ตัวอย่างเช่น ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่ออกโดยผู้ให้บริการออกใบรับรอง ซึ่งปัจจุบันมีหน่วยงานที่ให้บริการออกใบรับรองดังกล่าวแล้ว เช่น บริษัทไทยดิจิทัล ไอดี (TDID) บริษัท อินเทอร์เน็ตประเทศไทย จำกัด (มหาชน) (INET) หรือบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) (NT) เป็นต้น
จะเห็นว่า ฝลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Signature ข้างต้นนั้นมีหลายรูปแบบ และล้วนมีบทบาทสำคัญเกี่ยวข้องกับกิจกรรมในชีวิตประจำวันค่อนข้างมากทีเดียว พร้อมมีประโยชน์ช่วยให้ชีวิตมีความสะดวกรวดเร็วขึ้น ประหยัดพื้นที่จัดเก็บเอกสาร ประหยัดการใช้กระดาษ ประหยัดค่าส่งเอกสาร และช่วยลดความเสี่ยงการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในสถานการณ์เช่นนี้ได้ด้วย