สำนักงาน กสทช. สนับสนุนโครงการ “ศิริราชต้นแบบโรงพยาบาลอัจฉริยะระดับโลกด้วยเทคโนโลยีเครือข่าย 5G” เพื่อนำเทคโนโลยี 5G มาใช้ประโยชน์ ยกระดับการรักษาพยาบาล ช่วยให้คนในพื้นที่ห่างไกลเข้าถึงการรักษา เป็นจุดเริ่มต้นของการนำเทคโนโลยี 5G มาใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม พร้อมให้บริการปีหน้า
วันนี้ (16 ธ.ค.) เวลา 09.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานเปิดโครงการ “ศิริราชต้นแบบโรงพยาบาลอัจฉริยะระดับโลกด้วยเทคโนโลยีเครือข่าย 5G (Siriraj World Class 5G Smart Hospital)” โดยมีนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เข้าร่วมงานเพื่อรับทราบผลการดำเนินงานของโรงพยาบาลศิริราช
นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการ กสทช. กล่าวว่า สำนักงาน กสทช. สนับสนุนงบประมาณ 196 ล้านบาท ในการดำเนิน “โครงการต้นแบบโรงพยาบาลอัจฉริยะด้วยเทคโนโลยีเครือข่าย 5G และระบบปัญญาประดิษฐ์” เป็นเวลา 2 ปี คือปี 2564-2565 ในการเป็นโครงการต้นแบบการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 5G รวมทั้ง Cloud AI และ Digital Technology ภายหลังจากที่คณะกรรมการขับเคลื่อน 5G แห่งชาติ มีมติเห็นชอบแนวทางการดำเนินโครงการดังกล่าว เพื่อยกระดับบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขรูปแบบใหม่ให้มีความทันสมัยและมีประสิทธิภาพ อันนำไปสู่การพัฒนาเป็นโรงพยาบาลอัจฉริยะระดับโลกแห่งแรกของประเทศไทยและภูมิภาค สอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ
กสทช. และสำนักงาน กสทช. มองเห็นถึงประโยชน์ที่ประเทศชาติ และประชาชนคนไทยจะได้รับจากการนำเทคโนโลยี 5G มาใช้ในทางการแพทย์ และสาธารณสุข รวมถึงมั่นใจในศักยภาพของโรงพยาบาลศิริราชที่พร้อมไปด้วยความเชี่ยวชาญของบุคลากรทางการแพทย์ และเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัย อันจะเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้โครงการนำร่องโรงพยาบาลอัจฉริยะ (Smart Hospital) ประสบความสำเร็จได้ เพื่อให้นำไปสู่การใช้งานจริง และขยายผลไปยังโรงพยาบาลอื่นๆ ทั่วประเทศ อันจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาพยาบาลและการสาธารณสุขของประเทศไทย และเพิ่มโอกาสให้ประชาชนคนไทยเข้าถึงบริการสุขภาพขั้นสูงได้อย่างทั่วถึงต่อไป ซึ่งโครงการนี้รพ.ศิริราชดำเนินการแล้วเสร็จ 80-90% และพร้อมให้บริการในปีหน้า
ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า โครงการดังกล่าวประกอบด้วย 9 โครงการย่อย ได้แก่ 1.ระบบการแพทย์ฉุกเฉินอัจฉริยะ ด้วยเทคโนโลยีเครือข่าย 5G และระบบปัญญาประดิษฐ์ : Smart EMS 2.ระบบห้องฉุกเฉินอัจฉริยะ ด้วยเทคโนโลยีเครือข่าย 5G และระบบปัญญาประดิษฐ์ : Smart Emergency Room 3.ระบบการวินิจฉัยทางพยาธิวิทยา ด้วยปัญญาประดิษฐ์ ผ่านเครือข่าย 5G : Pathological diagnosis system with 5G and artificial intelligence 4.ระบบผู้ช่วยการดูแลและสร้างเสริมสุขภาพรายบุคคล สำหรับผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ด้วยระบบปัญญาประดิษฐ์ ผ่านเครือข่าย 5G : 5G AI Platform for NCD
5.ระบบทำนายปริมาณการใช้และการจัดการสินค้าคงคลัง ด้วยระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) ผ่านเครือข่าย 5G : Smart Inventory Management 6.ระบบเวชระเบียนกลางด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชน : Permission based block chain for personal health record 7.ระบบขนส่งกลางด้วยรถไร้คนขับ 5G : Smart Logistic with 5G Self-Driving car 8.จัดหาอุปกรณ์ติดตั้งระบบ Multi-access Edge computing (MEC) และ 9.จัดหาติดตั้งระบบ Hybrid Cloud
ทั้งนี้ แต่ละโครงการสามารถดำเนินการได้ตามแผนงาน และได้ผลลัพธ์อย่างชัดเจน และคาดว่าทุกโครงการจะสามารถดำเนินการเสร็จสิ้นตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ การดำเนินการครั้งนี้จึงถือได้ว่า ศิริราชเป็นโรงพยาบาลแห่งแรกของประเทศไทยในการพัฒนาโครงการต้นแบบการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 5G และการนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาปรับใช้ในการให้บริการทางการแพทย์ในประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อพัฒนาไปสู่การเป็นต้นแบบโรงพยาบาลอัจฉริยะด้วยเทคโนโลยีเครือข่าย 5G และระบบปัญญาประดิษฐ์ (Smart Hospital with 5G cloud AI solution) เป็นการนำร่องในรูปแบบบริการทางการแพทย์ที่มีประสิทธิภาพ สร้างความน่าเชื่อถือ และความศรัทธาสู่ประชาชนคนไทย