xs
xsm
sm
md
lg

วิสัยทัศน์ ‘ซีพี-เทเลนอร์’ ปรับบทบาทหนุนไทยสร้างดิจิทัลอีโคซิสเต็ม (Cyber Weekend)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หลังการประกาศพิจารณาสร้างความร่วมมืออย่างเท่าเทียม (Equal Partnership) ระหว่างเครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP) และกลุ่มเทเลนอร์ (Telenor) เพื่อปรับโครงสร้างธุรกิจสู่การเป็นบริษัทเทคโนโลยีจากความร่วมมือในครั้งนี้ จะก่อให้เกิดการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจดิจิทัลเพื่อผลักดันให้ประเทศไทยกลายเป็นเทคโนโลยีฮับแก่ภูมิภาคอาเซียน จากเป้าหมายในการเข้าไปผลักดันดิจิทัลอีโคซิสเต็ม หนุนกองทุนสตาร์ทอัป จนถึงเข้าไปศึกษาเทคโนโลยีอวกาศที่จะกลายเป็นส่วนสำคัญของการสื่อสารยุคใหม่ โดยเฉพาะการสื่อสารผ่านดาวเทียม

​ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ และประธานกรรมการ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงภาพรวมของอุตสาหกรรมโทรคมนาคม (Telecom Landscape) ว่าได้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จากเทคโนโลยีใหม่ และตลาดที่เปิดกว้างต่อการแข่งขันกลายมาเป็นอุตสาหกรรมที่ไม่สามารถเพิ่มมูลค่าได้ เพราะด้วยต้นทุนในการให้บริการโครงสร้างพื้นฐานทางโทรคมนาคมที่สูงมาก และจำนวนผู้ใช้งานในท้องตลาดอยู่ในจุดที่อิ่มตัวแล้ว จนทำให้ไม่สามารถเพิ่มมูลค่าให้ผู้บริโภค และประเทศไทยได้

​ประกอบกับการที่ผู้ให้บริการดิจิทัลจากต่างประเทศที่เข้ามานำเสนอรูปแบบบริการดิจิทัลต่างๆ ที่ต้องใช้งานเครือข่ายที่เกิดการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก จนทำให้ธุรกิจสื่อสารกลายเป็น Dump Pipe หรือท่อที่ไม่ฉลาด

​เพื่อให้ประเทศไทยสามารถปรับตัวเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม 5.0 จึงจำเป็นต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงด้วยการปรับโครงสร้าง (Transformation) ของบริษัทไทยให้กลายเป็นบริษัทเทคโนโลยี เพื่อให้สามารถแข่งขันกับผู้เล่นชั้นนำในระดับโลกได้ ซึ่งถือเป็นสิ่งที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง


​สำหรับบทบาทใหม่ที่สำคัญในการเป็นส่วนหนึ่งในระบบนิเวศของการสร้างเทคโนโลยีที่ประกอบไปด้วยหลายภาคส่วนด้วยกัน ทั้งการสนับสนุนจากภาครัฐที่เข้าไปลงทุนให้เกิดการสร้างเทคโนโลยี การสนับสนุนสตาร์ทอัปทางด้านเทคโนโลยี การเข้าไปปลูกฝังการศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยี

​รวมถึงพัฒนานักวิทยาศาสตร์ และนักพัฒนาเพื่อสร้างให้เกิดนวัตกรรม จนถึงการเข้าไปพัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้องในทุกๆ ส่วนด้วยการเข้าไปปฏิรูปทางด้านการศึกษา และดึงพันธมิตรระดับโลกเข้ามาช่วยสร้างระบบนิเวศในการพัฒนานวัตกรรม


​‘การปรับโครงสร้างสู่การเป็นบริษัทเทคโนโลยี สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 ที่จะก้าวเป็นฮับของเทคโนโลยีในระดับภูมิภาค โดยอุตสาหกรรมโทรคมนาคมจะยังคงเป็นธุรกิจหนึ่งของโครงสร้าง และจะต้องพัฒนาธุรกิจเพิ่มเติมในส่วนที่มุ่งเน้นด้านเทคโนโลยี รวมไปถึงปัญญาประดิษฐ์ ระบบคลาวด์เทคโนโลยี ไอโอที อุปกรณ์อัจฉริยะ เมืองอัจฉริยะ ดิจิทัลมีเดียโซลูชัน’

​นอกจากนี้ ยังรวมถึงการจัดตั้งกองทุน (Venture Capital) มุ่งเน้นลงทุนในสตาร์ทอัปไทย และสตาร์ทอัปต่างประเทศที่ตั้งในประเทศไทย ด้วยกองทุนมูลค่าประมาณ 100-200 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 3,250-6,500 ล้านบาท) รวมถึงเข้าไปศึกษาด้านเทคโนโลยีอวกาศ (Space Technology) เพื่อนำมาปรับใช้กับธุรกิจ ซึ่งถือว่าเป็นการเปิดกว้างกรอบความคิดในการทำนวัตกรรมใหม่เพิ่มเติม

​โดยเฉพาะการศึกษาโอกาสด้านเทคโนโลยีอวกาศอย่างจริงจัง เพราะจะสามารถช่วยผลักดันให้ประเทศไทยเดินหน้าไปสู่การเป็นฮับเทคโนโลยีของภูมิภาคได้ สอดรับกับการคาดการณ์ที่ว่า ต่อไปในยุคของเทคโนโลยีเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่เจเนอเรชันใหม่ที่จะเกิดขึ้นนั้น การสื่อสารโทรคมนาคมผ่านดาวเทียมจะเป็นตัวสำคัญที่มาเสริมการส่งสัญญาณและการเชื่อมต่อการสื่อสารผ่านระบบที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน

​‘เรามีความตั้งใจเพื่อทำตามเป้าหมายในการสร้างการเข้าถึงให้ทุกคนสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูล แหล่งความรู้ต่างๆ ในด้านของโครงสร้างพื้นฐานถือว่าทำได้สำเร็จลุล่วงในระดับหนึ่งแล้ว และจะทำต่อเนื่องไปอีกแต่สิ่งที่เป็นพื้นฐานใหม่ อย่างการก้าวเข้าสู่ยุคของเทคโนโลยี และดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันจะเป็นความท้าทายใหม่ที่จะต้องผนึกกำลังร่วมกัน’


​เป้าหมายหลักของความร่วมมือนี้คือการที่จะเดินหน้าเข้าสู่ยุคของความยั่งยืน เช่นเดียวกับธุรกิจทั่วโลกที่ให้ความสำคัญกับสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้สามารถเกิดผลได้จากการใช้เทคโนโลยีมาสร้างนวัตกรรม

​‘การก้าวสู่บริษัทเทคโนโลยี คือกุญแจสำคัญที่จะทำให้ประเทศไทยสามารถเดินหน้าการพัฒนาแบบก้าวกระโดด และสร้างความเจริญรุ่งเรืองกระจายไปทั่วประเทศได้ พร้อมกับมุ่งมั่นที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยปลดล็อกศักยภาพที่มีอยู่อย่างมหาศาลของธุรกิจไทยและผู้ประกอบการดิจิทัลไทย รวมทั้งยังจะสามารถดึงดูดคนที่เก่งที่สุดและธุรกิจล้ำสมัยจากทั่วโลกให้มาทำธุรกิจในประเทศไทยได้อีกด้วย’

​โดยเฉพาะสิ่งที่ทุกคนลงมือทำในตอนนี้จะมีส่วนช่วยกำหนดความเจริญรุ่งเรืองของประเทศในทศวรรษข้างหน้า เพราะว่าเทคโนโลยีเหล่านี้จะเปลี่ยนแปลงวิธีการใช้ชีวิต การทำงาน การสื่อสาร การพักผ่อน การเดินทาง การขนส่ง การจับจ่ายซื้อของ และการผลิต นี่จึงเป็นเวลาแห่ง ‘ความเปลี่ยนแปลง’

***ย้ำชัดไม่มีอำนาจเหนือตลาด


​ซิคเว่ เบรกเก้ ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มเทเลนอร์ กล่าวเสริมว่า ในอดีตช่วง 20 ปีที่ผ่านมาธุรกิจโทรคมนาคมไทยถือว่าเติบโตขึ้นอย่างมากจากการแข่งขันระหว่างเอไอเอส ดีแทค และทรูมูฟ เอช แต่ภาพของการเติบโตนั้นอยู่ในช่วงที่ช้าลงแล้ว และอุตสาหกรรมนี้กำลังเผชิญกับพายุลูกใหม่ของเทคโนโลยี

​‘การแข่งขันของธุรกิจในช่วง 20 ปีข้างหน้า จะแตกต่างออกไปจากการมาของ 5G AI IoT Cloud ทำให้เกิดการปฏิวัติของเทคโนโลยี จนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของการทำธุรกิจที่จะไม่ได้อยู่แค่เฉพาะในแต่ละท้องถิ่นเท่านั้น แต่จะขยายไปสู่ระดับโลก’

​ทำให้เทเลนอร์ต้องมีการปรับตัวเพื่อรับกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นใน 20 ปีข้างหน้า โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และประเทศไทยที่มีปริมาณการใช้งานดิจิทัลเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดที่ผ่านมา จนทำให้กลายเป็นภูมิภาคที่ถูกจับตามองจากทั่วโลก

​‘สำหรับความร่วมมือระหว่างเทเลนอร์และเครือซีพีในครั้งนี้จะเกิดขึ้นในลักษณะของการถือหุ้นอย่างเท่าเทียม เพื่อสร้างองค์กรที่มีความเป็นเลิศทางเทคโนโลยี และโทรคมนาคม’

เบื้องต้นจากการประเมินหลังจากที่มีการตั้งบริษัทใหม่ระหว่างเทเลนอร์ และซีพี แล้วจะมีรายได้จากธุรกิจราว 2.17 แสนล้านบาท โดยมีกำไรก่อนหักค่าใช้จ่ายราว 8.3 หมื่นล้านบาท และเมื่อคำนวณในแง่ของส่วนแบ่งทางการตลาดในธุรกิจแล้วจะอยู่ที่ราว 40% เท่านั้น ยังมีส่วนแบ่งตลาดน้อยกว่าพี่ใหญ่อย่าง เอไอเอส ที่ครอบครองอยู่ในเวลานี้ เพราะอย่าลืมว่าในตลาดโทรคมนาคมยังมีผู้ให้บริการอย่างบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติหรือเอ็นทีด้วย และถ้านับรวมในธุรกิจบรอดแบนด์ยังมีบริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จํากัด (มหาชน) หรือ 3BB ด้วย


ศุภชัย ระบุต่อว่า หวังว่าจะได้รับความไว้วางใจเพื่อบรรลุเป้าหมายในการสร้างคุณประโยชน์สูงสุดให้ประเทศ และประชาชนชาวไทย ซึ่งการผนึกกำลัง กำลังเป็นวิถีใหม่ของการดำเนินเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะการแข่งขันในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค จนถึงระดับมหาอำนาจของโลก

***คาดกระบวนการแล้วเสร็จใน 9 เดือน


​สำหรับขั้นตอนดำเนินการนั้น เบื้องต้นหลังจากนี้ทั้ง 2 บริษัทคือทรู และดีแทค จะเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบวิเคราะห์สถานะทางธุรกิจจนกว่าการตรวจสอบกิจการของอีกฝ่ายหนึ่งแล้วเสร็จเป็นที่พอใจ (Due Diligence) ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2565 ก่อนลงนามข้อตกลงต่างๆ

​หลังจากนั้นเมื่อสามารถบรรลุข้อตกลงและเงื่อนไขทางธุรกิจแล้วจะเข้าสู่กระบวนการเพื่อให้ได้รับการอนุมัติที่เกี่ยวข้องจากที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทและผู้ถือหุ้นของทั้งสองบริษัท รวมถึงหน่วยงานภาครัฐต่างๆ ในช่วงไตรมาส 2 ต่อเนื่องไปจนเสร็จสิ้น ในระหว่างนี้ก็จะเริ่มวางแผนงานด้านความร่วมมือจากวันแรก และวันต่อๆ ไป โดยทั้งดีแทค และทรู ยังคงให้บริการลูกค้าและดำเนินธุรกิจตามปกติ

​เยอเก้น โรสทริป รองประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารภูมิภาคเอเซีย กล่าวว่า ถ้ามีการตกลงและทุกอย่างดำเนินการไปจนเสร็จสิ้นได้ บริษัทใหม่ที่จะจัดตั้งขึ้นจะจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยผู้ถือหุ้นทั้งหมดของดีแทค และทรู คอร์ปอเรชั่น มีทางเลือกในการที่จะรับคําเสนอซื้อหุ้นโดยสมัครใจ (Voluntary Tender Offer หรือ VTO) พร้อมกับส่วนต่างเพิ่มเติมในระดับที่น่าดึงดูดใจที่จะนำเสนอให้ด้วย หรือเลือกที่จะร่วมลงทุนเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทใหม่ต่อไปได้

​รวมถึงการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์โดยสมัครใจแบบมีเงื่อนไข (Conditional VTO) ภายใต้การดำเนินการครบตามเงื่อนไข เสนอให้ผู้ถือหุ้นของดีแทค และทรู คอร์ปอเรชั่น หลังจากนั้นจึงจะเป็นการผนึกความร่วมมือระหว่างดีแทค และทรู คอร์ปอเรชั่น จัดตั้งบริษัทใหม่ขึ้น

​ทั้งนี้ ราคา VTO ของหุ้นดีแทคจะอยู่ที่ 47.76 บาทต่อหุ้น คิดเป็นส่วนต่าง 25% ของราคาเฉลี่ยแบบถ่วงน้ำหนักโดยปริมาณ (Volume Weighted Average Price หรือ VWAP) ของหุ้นดีแทคในช่วงหนึ่งเดือน และราคา VTO ของหุ้นทรู คอร์ปอเรชั่น จะอยู่ที่ราคา 5.09 บาทต่อหุ้น คิดเป็นส่วนต่าง 25% ของราคา VWAP ของหุ้นทรูในช่วงหนึ่งเดือน โดยอัตราแลกเปลี่ยนหุ้นที่ตกลงกันคือ หุ้นทรู 10.221 หุ้น เท่ากับหุ้นดีแทค 1 หุ้น และเปอร์เซ็นต์การแบ่งสัดส่วนความเป็นเจ้าของในบริษัทใหม่ของผู้ถือหุ้นหลักทั้งสองราย จะถูกกำหนดโดยผลลัพธ์ของ VTO

***ชี้แจง กสทช.

​เบื้องต้น ทางดีแทคได้เข้าให้ข้อมูลกับ กสทช.ว่า การดำเนินการอยู่ระหว่างระดับบน คือ เทเลนอร์ และซีพี ดังนั้นจึงยังไม่เกี่ยวข้องกับ กสทช. ส่วนระดับกลางซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในกลางปี 2565 นั้น เป็นระดับของบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ ดีแทค ซึ่งยังไม่มีการเจรจากันถึงระดับล่างในบริษัทผู้ที่ได้รับใบอนุญาตจาก กสทช.คือบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด (ดีทีเอ็น) และ บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (ทียูซี) จึงยังไม่เข้าเงื่อนไข กฎเกณฑ์ หรือประกาศของ กสทช. แต่อย่างใด


​เช่นเดียวกับทางทรูที่ยืนยันว่า การประกาศควบรวมครั้งนี้ยังเป็นแค่เจตนารมณ์ที่จะเจรจาหาข้อยุติร่วมกัน ยังไม่มีข้อยุติ แต่จะรวมกิจการไหนบ้างและจะรวมบริษัทลูกหรือไม่ต้องรอเจรจา

​ด้านนายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการ กสทช. ระบุว่า ในระหว่างนี้ได้ขอให้ทั้งสองบริษัทแจ้งความคืบหน้าให้ทางกรรมการ กสทช.ทราบทุกเดือน เพื่อหากเกิดปัญหาจะได้เตรียมการทัน รวมถึงต้องทำตามกฎหมายที่ต้องขออนุญาตและรายงานให้ กสทช.ทราบ ใน 90 วันก่อนที่จะมีการควบรวมกันจริง

​ส่วนจะมีการนำเรื่องนี้เข้าที่ประชุมให้บอร์ด กสทช.พิจารณาหรือไม่นั้น สำนักงาน กสทช.สามารถรายงานให้บอร์ดทราบก่อนได้ แต่หากต้องพิจารณาเรื่องนี้จริงๆ คงต้องรอปีหน้าเมื่อข้อเท็จจริงต่างๆ ครบถ้วนว่าจะผิดหรือไม่ผิดตามประกาศ กสทช.ที่เกี่ยวข้อง


กำลังโหลดความคิดเห็น