หลังจากที่ประเทศไทยเริ่มให้บริการเครือข่าย 5G มาเกือบ 2 ปี ทาง Opensignal ที่คอยเก็บรวบรวมสถิติการใช้งานเครือข่ายโทรศัพท์มือถือในประเทศไทย ได้มีการเปิดเผยรายงานประสบการณ์ใช้งาน 5G ในช่วงไตรมาส 3 ปี 2564 ออกมาได้อย่างน่าสนใจ
แน่นอนว่า จากรางวัลประสบการณ์มือถือ 5G ที่ออกมา ทั้ง AIS และ TrueMove H ที่ถือครองคลื่นความถี่ 5G จำนวนมาก และเร่งขยายโครงข่ายให้ครอบคลุมใช้งานทั่วประเทศ ต่างได้รับรางวัลในแง่ของความพร้อม และการเข้าถึง 5G ไปด้วยกันทั้งคู่ ต่อด้วยการกวาดรางวัลด้านประสบการณ์ความเร็วในการดาวน์โหลด และอัปโหลดของ AIS 5G ที่ปัจจุบันเป็นเครือข่ายที่มีคลื่นความถี่ถือครองมากที่สุด
แต่จุดที่น่าสนใจคือ dtac ที่ปัจจุบันเริ่มให้บริการ 5G บนคลื่นความถี่ 700 MHz ใน 12 จังหวัด กลับได้รับรางวัลร่วมในแง่ของประสบการณ์วิดีโอ ประสบการณ์เกม และประสบการณ์แอปพลิเคชันเสียงบน 5G และในบางหมวดรางวัลได้รับคะแนนในการประเมินสูงกว่าอีก 2 ค่ายที่เหลือ
จนกลายเป็นว่า dtac ที่แม้จะมีคลื่นความถี่ในการให้บริการ 5G น้อยที่สุด แต่สามารถเบียดมาชนะร่วมทั้ง 2 เครือข่ายหลักที่ถือครองแบนด์วิดท์ 5G จำนวนมากได้ในแง่ของการนำเสนอประสบการณ์ใช้งานแก่ลูกค้า ตามกลยุทธ์หลักของ dtac ในการขยายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงให้คนไทยทุกคนเข้าถึง และใช้งานได้
ปริมาณแบนด์วิดท์ยังไม่กระทบประสบการณ์ใช้งาน
จุดเริ่มต้นของการเปิดให้บริการ 5G ในไทย เกิดขึ้นหลังจากที่ทั้ง AIS และ TrueMove H ซึ่งชนะการประมูลคลื่นความถี่ 2600 MHz เข้ารับใบอนุญาต และเริ่มเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ทันทีในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ปี 2563 ส่งผลให้ประเทศไทยกลายเป็นผู้นำ 5G ในภูมิภาคอาเซียนทันที
ขณะที่ dtac ต้องรอการจัดสรรคลื่นความถี่ 700 MHz ซึ่งกสทช. เพิ่งเรียกคืนคลื่นความถี่มาให้ได้ในช่วงปลายปี 2563 ก่อนเปิดให้บริการ 5G เชิงพาณิชย์ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2564 เรียกได้ว่าตามหลังอีก 2 ค่ายถึง 1 ปีเลยทีเดียว
ในมุมของการถือครองคลื่นความถี่ ปัจจุบัน AIS ถือครองคลื่นความถี่ถึง 1420 MHz ในการให้บริการ ประกอบด้วยคลื่นที่นำมาให้บริการ 5G คือ 700 MHz จำนวน 30 MHz (2x15 MHz) คลื่น 2600 MHz จำนวน 100 MHz และคลื่น 26 GHz จำนวน 1200 MHz ส่วนที่เหลืออย่าง 900 MHz จำนวน 20 MHz (2x10 MHz) 1800 MHz จำนวน 40 MHz และ 2100 MHz จำนวน 30 MHz ให้บริการ 3G และ 4G
ตามมาด้วย TrueMove H ที่ถือครองคลื่นความถี่ทั้งหมด 990 MHz แบ่งมาให้บริการ 5G ในคลื่น 700 MHz จำนวน 20 MHz (2x10 MHz) คลื่น 2600 MHz จำนวน 90 MHz และคลื่น 26 GHz จำนวน 800 MHz ส่วนคลื่นที่เหลืออย่าง 900 MHz จำนวน 20 MHz (2x10 MHz) 1800 MHz จำนวน 30 MHz และ 2100 MHz จำนวน 30 MHz ใช้ให้บริการ 3G และ 4G
ในขณะที่ dtac ถือครองคลื่นความถี่เพียง 270 MHz นำมาให้บริการ 5G ในคลื่น 700 MHz (2x10 MHz) และ 26 GHz จำนวน 200 MHz เท่านั้น ส่วนที่เหลือทั้ง 900 MHz จำนวน 10 MHz (2x5 MHz) 1800 MHz จำนวน 10 MHz และ 2100 MHz จำนวน 30 MHz ให้บริการ 3G และ 4G แม้ว่าจะรวมกับคลื่นจากพันธมิตรของทีโอทีเดิมหรือบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ หรือเอ็นที ปัจจุบันในคลื่น 2300 MHz อีกจำนวน 60 MHz มาให้บริการ 4G ด้วยก็ยังถือว่าน้อยกว่าผู้ให้บริการเครือข่ายที่เหลืออยู่ดี
แน่นอนว่า ถ้ามองในแง่ของพื้นที่ให้บริการที่ครอบคลุม และความเร็วในการใช้งาน ยิ่งปริมาณแบนด์วิดท์สูง มีคลื่นมากกว่า จะช่วยให้สามารถขยายบริการได้ครอบคลุม และให้ความเร็วในการดาวน์โหลด และอัปโหลดสูงขึ้น จึงทำให้ทั้ง AIS และ TrueMove H ต่างขึ้นนำ dtac เป็นอย่างมาก
โดยทาง AIS ที่มีคลื่นมากที่สุดได้เป็นผู้ให้บริการที่ให้ความเร็วในการดาวน์โหลด และอัปโหลดสูงที่สุด ส่วน TrueMove H จะได้ในแง่ของความพร้อมใช้งาน 5G ที่เปิดให้ลูกค้าทุกคนได้ใช้งาน แม้จะไม่สมัครใช้งานแพ็กเกจ 5G ก็ตาม
แต่ในแง่ของประสบการณ์ใช้งานกลายเป็นว่า dtac กลับขึ้นนำทั้ง AIS และ TrueMove H ในส่วนของประสบการณ์เกม 5G และแอปพลิเคชันเสียง 5G ส่วนประสบการณ์วิดีโอ 5G ตามหลัง AIS เพียงเล็กน้อยเท่านั้น จนกลายเป็นได้รางวัลร่วมกันในส่วนของประสบการณ์ใช้งาน
แหล่งข่าวในวงการโทรคมนาคม ให้ความเห็นว่า ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ประสบการณ์ใช้งานเครือข่ายของ dtac ได้คะแนนระดับดีเยี่ยม เกิดจากจุดเด่นของคลื่น 5G 700 MHz ที่เป็นคลื่นความถี่ย่านต่ำที่ dtac ยังขาดอยู่ จึงสามารถกระจายสัญญาณเพื่อให้บริการได้ครอบคลุมพื้นที่มากขึ้น แตกต่างจากคลื่นความถี่ย่านกลางแบบ 2600 MHz ที่จะให้บริการในพื้นที่แคบกว่าแต่แลกกับความเร็วที่สูงขึ้นแบบก้าวกระโดด
ประกอบกับการที่ก่อนหน้านี้ dtac ให้บริการโทรศัพท์มือถือด้วยข้อจำกัดด้านคลื่นความถี่มาโดยตลอดจากการที่มีคลื่น 2100 MHz และ 2300 MHz จึงมีการติดตั้งสถานีฐานที่ให้บริการคลื่นความถี่ย่านกลาง ซึ่งสถานีฐานดังกล่าวรองรับ มือถือที่คนส่วนใหญ่ใช้งานคือเทคโนโลยี 4G แต่ด้วยจุดอ่อนเรื่องคลื่นความถี่ต่ำ พอ dtac ได้คลื่น 700 MHz จึงทำให้สามารถเลือกติดตั้งสถานีฐานเพื่อเปิดใช้ 5G และ 4G ร่วมกับการนำข้อมูลการใช้งานของลูกค้ามาวิเคราะห์ในการให้บริการได้ตรงจุดมากที่สุด
เจาะลึก 3 รูปแบบตอบสนองประสบการณ์ผู้ใช้
ทีนี้ เมื่อเห็นถึงรูปแบบการติดตั้งโครงข่ายเพื่อให้บริการ 5G ในภาพรวมแล้ว ลองมองถึงการสร้างประสบการณ์ในการใช้งานกันบ้าง โดย Opensignal ให้ข้อมูลถึงผลสำรวจประสบการณ์วิดีโอ 5G ว่า AIS และ dtac ได้รางวัลประสบการณ์วิดีโอ 5G ในประเทศไทยร่วมกันเป็นครั้งแรกด้วยคะแนนประมาณ 78.2 จาก 100 คะแนน TrueMove H นั้นตามผู้ชนะทั้งสองมาติดๆ ทิ้งห่างเพียง 1.8 คะแนนเท่านั้น
ระดับคะแนนของผู้ให้บริการเครือข่ายทั้งหมดในประเทศไทยอยู่ในเกณฑ์ที่ดีเยี่ยม (75 คะแนนขึ้นไป) นั่นหมายความถึงความสม่ำเสมอของสัญญาณที่ผู้ใช้ทุกคนได้รับ ผู้ให้บริการวิดีโอสตรีมมิ่ง และความละเอียดที่ได้รับการทดสอบ ประกอบกับระยะเวลาโหลดที่รวดเร็วและเกือบไม่มีการหยุดนิ่ง
เหตุผลสำคัญที่ dtac สามารถทำคะแนนขึ้นมาเป็นอันดับ 2 และคว้ารางวัลร่วมกับ AIS ได้ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่เครือข่าย 5G ของ dtac สามารถให้บริการแก่ลูกค้าที่ใช้งานดีไวซ์ที่รองรับ ประกอบกับในแง่ของความเร็วในการเชื่อมต่อเพื่อใช้งานวิดีโอสตรีมมิ่งบนสมาร์ทโฟนนั้น จะใช้ระดับความเร็วเฉลี่ยที่ประมาณ 5-6 Mbps เท่านั้น เพื่อให้สามารถสตรีมวิดีโอคอนเทนต์ระดับ Full HD ได้
ดังนั้น ในแง่ของความเร็วในการเชื่อมต่อที่ได้บนคลื่น 700 MHz ของ dtac ก็เพียงพอกับการใช้งานบนสมาร์ทโฟนแล้ว แต่ในกรณีที่มีการนำไปเชื่อมต่อกับอุปกรณ์แสดงผลที่มีขนาดใหญ่ขึ้นอย่างสมาร์ททีวี หรือโน้ตบุ๊กในการใช้งานความละเอียดระดับ 4K ความเร็วในการสตรีมมิ่งที่ต้องการจะอยู่ที่ราว 20 Mbps
ถัดมาในส่วนของ ประสบการณ์เกม 5G ที่ Opensignal สังเกตการณ์ทางสถิติของทั้ง 3 ผู้ให้บริการที่ชนะร่วมกัน โดยทั้งหมดได้รับการจัดอันดับอยู่ในระดับดี (75-85) หมายความว่าผู้ใช้งานส่วนใหญ่ได้รับประสบการณ์ที่ดี สามารถควบคุมได้และไม่มีความหน่วงหรือล่าช้าในระหว่างการเล่นเกม
เพียงแต่ถ้าดูในรายละเอียดของคะแนน กลายเป็นว่า dtac ได้รับคะแนนสูงสุดที่ 81.2 คะแนน ตามด้วย AIS 80.5 คะแนน และ TrueMove H 79.2 คะแนน ซึ่งตามปกติแล้วจะวัดคะแนนจากการประเมินประสบการณ์เล่นเกมแบบมัลติเพลเยอร์บนสมาร์ทโฟน เน้นที่ความเสถียรในการส่งต่อข้อมูลระหว่างการเล่นเกม เพื่อวัดออกมาเป็นค่าเฉลี่ย
แน่นอนว่า ในส่วนของประสบการณ์เล่นเกม เมื่อผู้ให้บริการเปิดให้ผู้ใช้งานสามารถเชื่อมต่อโมบายอินเทอร์เน็ตผ่าน 5G จะทำให้ค่าความหน่วงในการเชื่อมต่อลดลงเมื่อเทียบกับ 4G ดังนั้นประสบการณ์ใช้งานเล่นเกมก็จะดีขึ้น ซึ่งคลื่น 700 MHz ที่ให้บริการได้ครอบคลุม และมีสมาร์ทโฟนที่รองรับหลากหลายรุ่น สามารถดึงประโยชน์ในการเชื่อมต่อได้ดีกว่า
สุดท้ายประสบการณ์แอปพลิเคชันเสียง 5G ที่ปัจจุบันได้เข้ามาแทนที่การสื่อสารผ่านการโทรศัพท์แบบปกติ ด้วยการที่พฤติกรรมการใช้งานของผู้บริโภคเปลี่ยนไป ใช้การสื่อสารด้วยเสียงผ่านแอปพลิเคชันแทน ไม่ว่าจะเป็น LINE WhatsApp และ Facebook Messenger ด้วยการวัดเวลาที่ผู้ใช้เชื่อมต่อกับ 5G และการรับรู้คุณภาพการโทร ซึ่งทั้ง 3 ค่ายได้คะแนนในระดับที่ดีเยี่ยมเช่นเดียวกัน
คลื่น 700 MHz สร้างความต่าง
ปัจจุบัน dtac ถือเป็นผู้ให้บริการรายเดียวที่ให้ความสำคัญกับคลื่น 700 MHz มากที่สุด ด้วยการนำเทคโนโลยี Dynamic Spectrum Sharing (DSS) ทำให้สามารถให้บริการทั้ง 4G และ 5G ในคลื่นเดียว ภายใต้เป้าหมายหลักคือการสร้างโอกาสให้คนไทยทุกคนสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง เพื่อส่งมอบประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้ได้
โดย dtac ขยายสถานีฐานบนคลื่น 700 MHz ไปแล้วกว่า 12,000 สถานีฐาน ด้วยการให้บริการ 5G ปัจจุบันครอบคลุม 12 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ขอนแก่น นครราชสีมา ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี ชลบุรี ระยอง อุบลราชธานี นนทบุรี สมุทรปราการ และปทุมธานี และคาดว่าจะสามารถให้บริการได้ครอบคลุม 93% ของจำนวนประชากรได้ภายในสิ้นปีนี้