xs
xsm
sm
md
lg

สอบ.ค้านการควบธุรกิจเทเลนอร์-ซีพี เชื่อมีอำนาจเหนือตลาด กระทบผู้บริโภค เตรียมยื่นหนังสือถึง กสทช.-ตลท.และ กขค. หากไม่คืบจะยื่นต่อ ครม.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สอบ.ค้านการควบธุรกิจเทเลนอร์-ซีพี เชื่อท้ายสุดจะเหลือค่ายมือถือ 2 ราย ส่งผลให้มีอำนาจเหนือตลาด ผู้บริโภคมีทางเลือกน้อยลง จี้ กสทช.ต้องกำกับให้มีผู้เล่นเพิ่มขึ้นไม่ใช่ลดลง เตรียมยื่นข้อเสนอคัดค้านต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหากท้ายสุดไม่มีหน่วยงานไหนจัดการได้ต้องยื่นถึง ครม. พร้อมเรียกร้องให้นักการเมืองออกมาแสดงความเคลื่อนไหวถึงประเด็นดังกล่าว

น.ส.บุญยืน ศิริธรรม ประธานสภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) กล่าวถึงกรณีซีพี-เทเลนอร์ ควบรวมกระทบผู้บริโภค ผ่านเฟซบุ๊ก สภาองค์กรของผู้บริโภค ว่า สอบ.ออกมาเคลื่อนไหวครั้งนี้ไม่ได้ขัดขวางการร่วมทุนของธุรกิจใดๆ แต่การควบบริษัทที่กลุ่มเทเลนอร์และบริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด หรือซีพี ระบุว่า จะรวมบริษัท โทเทิ่ลแอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทเดียวกันนั้น ในฐานะตัวแทนผู้บริโภคจึงเกิดความกังวลว่าจะส่งผลให้ผู้บริโภคไม่มีทางเลือกในการใช้บริการ จะมีอะไรรับประกันหรือไม่ว่าการควบครั้งนี้จะไม่มีการเอาเปรียบผู้บริโภคมากขึ้นกว่าปัจจุบัน เพราะประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการแข่งขันอย่างเสรี ต้องมีหลายเจ้าเล็กบ้างใหญ่บ้าง แต่ครั้งนี้ทำให้ทางเลือกลดลง ซึ่งปัจจุบันยังมีการเอาเปรียบผู้บริโภคและยังมีการฟ้องร้องกันอยู่เลย แม้จะมีหลายเจ้า เช่น การเก็บค่าบริการไม่เป็นตามจริง ซึ่งฟ้องทั้ง 3 ค่าย ไม่ได้มีอคติกับค่ายไหน แล้วเมื่อเหลือแค่ 2 ราย อนาคตจะเป็นอย่างไร ขณะที่แน่นอนว่าหากมีการประมูลคลื่น จำนวนผู้เล่นก็น้อยลง และอาจส่งผลต่อการประมูลเพื่อนำเงินเข้ารัฐ

น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการ สอบ. กล่าวว่า เมื่อนำจำนวนลูกค้าของดีแทคและทรูมารวมกันพบว่า มีลูกค้ากว่า 51 ล้านเลขหมาย คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 50% มากกว่าลูกค้าของบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส ถือเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาดหรือไม่ ในมุมของผู้บริโภคปัจจุบันผู้บริโภคมีทางเลือกหากค่ายไหนบริการไม่ดีก็สามารถย้ายค่ายได้ แต่เมื่อเหลือทางเลือกน้อยลง ผู้บริโภคเสียหายแน่นอน ดังนั้น สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และคณะกรรมการ กสทช.มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายในการกำกับดูแลเรื่องนี้ รวมถึงดูแลผู้บริโภคด้วย ควรมีการออกมาชี้แจงให้ผู้บริโภคได้รับรู้ หน้าที่ กสทช.คือกำกับดูแลให้มีการแข่งขัน ไม่ใช่ยิ่งกำกับยิ่งเหลือการแข่งขันน้อยลง เพราะแม้จะบอกว่าขณะนี้เป็นเพียงการควบกันในระดับบริษัทแม่ ท้ายสุดแล้วต้องได้เห็นการควบของบริษัทลูกอย่างแน่นอน

“สอบ.มีจุดยืนชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยกับการควบครั้งนี้ เพราะทำให้ทางเลือกลดลง ผู้ให้บริการจะแบ่งตลาดกันเล่น ไม่มีแรงจูงใจในการแข่งกันด้านบริการอีกต่อไป หน่วยงานที่กำกับดูแลอย่าง กสทช.ต้องออกมาให้ข้อมูลกับผู้บริโภคให้ชัดเจนว่าทำอย่างไรได้บ้าง เป็นกิจการที่มีอำนาจเหนือตลาดหรือไม่ ต่างประเทศก็ไม่เคยมี ที่เดิมมีผู้ให้บริการอยู่ 3 ราย แล้วเหลือ 2 ราย กสทช.ต้องสนับสนุนให้มีเจ้าใหม่เพิ่มขึ้น สนับสนุนเอ็มวีเอ็นโอ ต้องมีการให้ใช้คลื่นราคาพิเศษเพื่อให้เกิดรายใหม่ๆ การคุ้มครองผู้บริโภคไม่ได้มีอุปสรรคต่อทุน วันนี้ทรูกับดีแทคสามารถใช้เงื่อนไขประกาศของ กสทช.ร่วมมือกันได้เลย เช่น ประกาศเรื่องให้ใช้โครงข่ายร่วมกัน จะทำให้ลดต้นทุนแต่กลับไม่เห็นความร่วมมือในลักษณะนี้เลย แต่การควบไม่ใช่ความร่วมมือในลักษณะนั้น เป็นการกีดกันเจ้าอื่น ประกาศของ กสทช.ก็มีการใช้คลื่นใช้โครงข่ายร่วมกันเพื่อลดต้นทุนได้อยู่แล้ว“

ดังนั้น สอบ.จะเร่งทำหนังสือถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการคัดค้านเรื่องดังกล่าว ทั้ง กสทช. ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) โดยยืนยันว่าเรื่องโครงสร้างโทรคมนาคมกลายเป็นเรื่องจำเป็นในชีวิตประจำวันของประชาชนไปแล้ว เพราะโครงการต่างๆ ของรัฐก็ใช้โทรศัพท์มือถือเป็นเครื่องมือในการให้สวัสดิการต่างๆ ต่อประชาชน ขณะที่ กขค.เองมีหน้าที่ในการดูแลเรื่องการแข่งขันทางการค้า อย่างไรก็ตาม หากท้ายสุดแล้วไม่มีสักหน่วยงานที่สามารถดำเนินการใดๆ ได้ สอบ.ต้องยืนหนังสือถึงคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้เข้ามาแทรกแซง ที่สำคัญคือ อยากเห็นความเคลื่อนไหวของนักการเมืองต่อประเด็นนี้ด้วย

น.ส.พวงทอง ว่องไว อนุกรรมการด้านการสื่อสารโทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ สอบ. กล่าวว่า แม้ว่าการควบรวมยังอยู่ในฐานะเทเลนอร์กับซีพี แต่ผลกระทบผู้บริโภคชัดเจน คือ มีบริษัทแม่เป็นบริษัทเดียวกัน ทำให้ผู้บริโภคไม่มีทางเลือกในการใช้บริการ เพราะมีแค่ 2 ราย หากมีการกำหนดค่าบริการสูงขึ้นและเอาเปรียบผู้บริโภค จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลเรื่องนี้

น.ส.ชลดา บุญเกษม อนุกรรมการด้านการสื่อสารโทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ สอบ. กล่าวว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยมีค่ายมือถือ 3 ค่ายหลัก แข่งกันพัฒนาการให้บริการ การขยายพื้นที่ การแข่งขันด้านราคา ทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น การควบรวมแม้จะเป็นระดับผู้ถือหุ้นก็ตาม ก็ส่งผลกระทบให้มีจำนวนค่ายลดลงอย่างแน่นอน อีกเรื่องที่สำคัญคือ ข้อมูลส่วนบุคคล ประเด็นนี้มีปัญหามาเพราะประชาชนถูกหลอกจากการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล ดังนั้น เมื่อมีข้อมูลมารวมกันมากขึ้นกว่าเดิม ผู้ให้บริการจะจัดการข้อมูลหละหลวมหรือไม่


กำลังโหลดความคิดเห็น