“ชัยวุฒิ” รมว.ดีอีเอส ผลักดันความร่วมมือ 19 องค์กร เอ็มโอยูการคุ้มครองผู้บริโภคในการซื้อขายสินค้าและบริการออนไลน์ ผนึกกำลังทั้งภาคประชาชน องค์กรด้านคุ้มครองผู้บริโภค ผู้ให้บริการตลาดออนไลน์ และหน่วยงานรัฐ ยกระดับการคุ้มครองสิทธิของนักช้อปออนไลน์ไทยสู่มาตรฐานสากล
นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวระหว่างการเปิดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ การคุ้มครองผู้บริโภคในการซื้อขายสินค้าและบริการในตลาดออนไลน์ว่า การทำข้อตกลงร่วมกันระหว่างองค์กรผู้บริโภค หน่วยงานส่งเสริมการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ผู้ให้บริการตลาดออนไลน์ และหน่วยงานรัฐที่เห็นความสำคัญของการปกป้องและคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคในครั้งนี้ เป็นก้าวสำคัญที่เห็นถึงการพัฒนาความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างจริงจัง ยกระดับการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคไทยไปสู่มาตรฐานสากล
ทั้งนี้ เทคโนโลยีในปัจจุบันมีการพัฒนาธุรกิจของสังคมโลก ไปสู่การซื้อขายสินค้าผ่านระบบออนไลน์ จนทำให้คนไทยซื้อสินค้าอี-คอมเมิร์ซ มากเป็นอันดับ 3 ของโลก โดยคิดเป็นสัดส่วน 83 % ของประชากรที่ใช้อินเทอร์เน็ต และมีการทำธุรกรรมผ่าน Mobile Banking 68 % เป็นอันดับ 1 ของโลก สถิติเหล่านี้บ่งชี้ชัดเจนว่า การซื้อขายออนไลน์เป็นตลาดที่มีความสำคัญมาก โดยเฉพาะในช่วงโควิด -19 ที่ได้มีการขอความร่วมมือให้ประชาชน อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ
“การทำธุรกิจออนไลน์เป็นการทำการตลาดตรงกับผู้บริโภค ดังนั้นรูปแบบการสื่อสารโฆษณาชวนเชื่อจึงมีอิทธิพลอย่างมากต่อผู้บริโภค เพราะผู้บริโภคไม่สามารถเห็นหรือสัมผัสกับสินค้าก่อนที่จะตัดสินใจซื้อได้ และที่สำคัญในการซื้อสินค้า ผู้ซื้อไม่สามารถรู้ตัวตนที่แท้จริงของผู้ประกอบการตลอดจนไม่รู้รายละเอียดข้อเท็จจริงของสินค้าหรือบริการถือว่าเป็นความเสี่ยงของผู้บริโภคที่อาจก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา เช่น การหลอกขายสินค้า การได้รับสินค้าที่ไม่ตรงตามคำโฆษณา สินค้าเสียหาย รวมไปถึงปัญหาการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและความเป็นส่วนตัว เป็นต้น” นายชัยวุฒิ กล่าว
สำหรับการลงนามบันทึกข้อตกลงครั้งนี้มีผู้ร่วมลงนาม 19 องค์กร ประกอบด้วย ภาคประชาชนและองค์กร/หน่วยงานส่งเสริมด้านอี-คอมเมิร์ซ ได้แก่ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สภาองค์กรของผู้บริโภค สมาคมสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค สํานักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย และผู้ให้บริการตลาดออนไลน์ ได้แก่ บริษัท เซ็นทรัล เจดี คอมเมิร์ซ จำกัด บริษัท แอลเอ็นดับเบิ้ลยูจํากัด บริษัท บิวตี้ นิสต้า จํากัด บริษัท ลาซาด้า จํากัด และบริษัท แอสเซนด์ คอมเมิร์ซ จำกัด
รวมถึงหน่วยงานของรัฐด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ได้แก่ กระทรวงดีอีเอส ศูนย์จัดการเรื่องร้องเรียนและปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ ภายใต้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งร่วมลงนามเป็นสักขีพยาน
นายชัยวุฒิ กล่าวว่า บันทึกข้อตกลงที่ลงนามร่วมกันครั้งนี้ เป็นการปรับปรุงจากบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการคุ้มครองผู้บริโภคในการซื้อขายสินค้าและบริการในตลาดออนไลน์ฉบับเดิม ซึ่งมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจัดทำไว้เมื่อเดือนกันยายน 2562 โดยมีการลงนามร่วมกัน 3 ฝ่าย ได้แก่ องค์กรผู้บริโภค หน่วยงานรัฐ และผู้ประกอบธุรกิจ ต่อมาเพื่อให้เอื้อต่อการปฏิบัติจริงได้มากขึ้น มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จึงได้ทำงานร่วมกับ ETDA และ สสส. ดําเนินการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม และปรับปรุงให้เอื้อต่อการปฏิบัติร่วมกันของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
อีกทั้งมีการนำแนวทางการคุ้มครองผู้บริโภคด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ของหน่วยงานสากลหลายฉบับเป็นกรอบในการปรับปรุง เพื่อให้เกิดระบบการกํากับดูแลกันเองระหว่างผู้ให้บริการตลาดออนไลน์ กับผู้ประกอบการที่ใช้ตลาดออนไลน์ มุ่งสร้างแนวทางการป้องกันปัญหาและคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคได้อย่างเท่าทันสถานการณ์ ซึ่งบันทึกข้อตกลงฯ ฉบับนี้ ยังสนับสนุนการมีส่วนร่วมในการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคในการซื้อขายสินค้าและบริการในตลาดออนไลน์ ทั้งการปฏิบัติต่อผู้บริโภคอย่างเป็นธรรม ความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค การจัดให้มีช่องทางการชำระเงินออนไลน์ที่มีความปลอดภัย ตลอดจนประเด็นนโยบายความเป็นส่วนตัวผู้ซื้อและผู้ขาย และการจัดให้มีระบบคุ้มครองความเป็นส่วนตัวของผู้บริโภค ที่เป็นไปตามกฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งผู้ให้บริการตลาดออนไลน์จะจัดให้มีช่องทางสำหรับเผยแพร่ความรู้ที่ถูกต้องจากหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง และผู้บริโภคสามารถเข้าถึงได้ง่าย