เทรนด์ของการใส่ใจสุขภาพได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในการใช้ชีวิตของผู้บริโภคในปัจจุบันไปเรียบร้อยแล้ว โดยเฉพาะในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาหลังเกิดสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ผู้คนหันมาให้ความสำคัญกับสุขภาพมากยิ่งขึ้น และการเลือกหาอุปกรณ์มาเป็นตัวช่วยในการรักษาสุขภาพได้กลายเป็นอีกหนึ่งตลาดที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา
ในประเทศไทยตลาดอุปกรณ์ไอทีสวมใส่ได้ (Wearables) ไม่ว่าจะเป็นหูฟัง สมาร์ทแบนด์ และสมาร์ทวอทช์ ในปี 2020 เติบโตขึ้นถึง 47.3% เมื่อเทียบกับปี 2019 และคาดการณ์ว่าอัตราการเติบโตนี้จะต่อเนื่องมาถึงในปี 2021 ด้วย
จากข้อมูลของ IDC ระบุว่า ในปีที่ผ่านมาสัดส่วนระหว่าง 3 อุปกรณ์ไอทีสวมใส่ได้ตลาดที่เติบโตมากที่สุดคือ หูฟัง เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าถึง 97% ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่หูฟังไร้สายมีราคาเข้าถึงได้ง่ายมากขึ้น ประกอบกับลักษณะการใช้งานวิดีโอคอลล์ ที่มีความจำเป็นกับการทำงานช่วยผลักดันให้ตลาดนี้เติบโตขึ้น
ตามมาด้วยอุปกรณ์วัดข้อมูลสุขภาพเบื้องต้นอย่างสมาร์ทแบนด์ ที่เติบโตถึง 47.3% และสมาร์ทวอทช์ ที่เติบโตราว 12.6% โดยมีปัจจัยจากการที่ผู้บริโภคมองหาอุปกรณ์ที่มาวัดค่าออกซิเจนในเลือด รวมถึงการเก็บข้อมูลสถิติเกี่ยวกับสุขภาพ ทำให้ในภาพรวมของตลาดอุปกรณ์สวมใส่ในไทยมีจำนวนอยู่ราว 3.4 ล้านชิ้น และมีสัดส่วนใกล้ๆ กันที่ 30.9%-37.8% ที่หมายถึงในปีที่ผ่านมามีการจำหน่ายทั้งหูฟัง สมาร์ทแบนด์ และสมาร์ทวอทช์ประเภทละมากกว่า 1 ล้านชิ้น
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้สมาร์ทแบนด์ และสมาร์ทวอทช์ยังสามารถเติบโตมากกว่านี้ได้ คือ การเปิดประเทศ รวมถึงการปลดล็อกดาวน์ ทำให้ผู้คนสามารถออกไปใช้ชีวิตได้มากขึ้น เพราะถ้ามีการกักตัวอยู่ที่บ้าน ผู้บริโภคบางส่วนมองว่าซื้อสมาร์ทวอทช์มาก็ไม่ได้ใช้งานอย่างเต็มที่ เพราะไม่ได้มีการนำไปใช้ในการออกกำลังกาย
ไม่ใช่แค่ในประเทศไทยเท่านั้นที่ตลาดอุปกรณ์ไอทีสวมใส่ได้เติบโตขึ้น เพราะในตลาดโลกเฉพาะในช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมามีการจำหน่าย Wearables ไปแล้วกว่า 114.2 ล้านชิ้น แน่นอนว่าสัดส่วนหลักๆ มาจากกลุ่มผลิตภัณฑ์หูฟังไร้สายเป็นหลัก ตามด้วยสมาร์ทวอทช์
***ท็อป 4 แบรนด์สมาร์ทวอทช์
แน่นอนว่าเมื่อพูดถึงแบรนด์สมาร์ทวอทช์ เชื่อว่าท็อป 3 แบรนด์ที่ทุกคนนึกถึงจะต้องเป็น Apple Huawei และ Samsung ไม่นับรวมกับ Xiaomi ที่โดดเด่นในแง่ของสมาร์ทแบนด์ และเพิ่งเริ่มเข้ามาทำตลาดสมาร์ทวอทช์ในช่วงปีนี้
ส่งผลให้แบรนด์ที่น่าจับตามองที่สุดในกลุ่มของสมาร์ทวอทช์ กลับกลายเป็น Amazfit ที่ปัจจุบันขึ้นมาเป็นท็อป 4 ในกลุ่มบริษัทที่จำหน่ายสมาร์ทวอทช์สำหรับผู้ใหญ่ และนับเป็นอันดับ 2 ในกลุ่มสมาร์ทวอทช์ที่สามารถใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพสำหรับผู้ใช้งานสมาร์ทโฟน Android และ iOS
ด้วยจุดแข็งนี้ทำให้ในปีที่ผ่านมา Amazfit มีอัตราการเติบโตถึง 30% ในประเทศไทย ด้วยการวางจุดขายให้เป็นแบรนด์สมาร์ทวอทช์ราคาคุ้มค่าที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ พร้อมกับไลน์ผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย
‘เคลวิน หมิง’ ผู้จัดการประจำประเทศไทย Amazfit ให้ข้อมูลว่า ตลาดสมาร์ทวอทช์ในประเทศไทยถือว่าเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สอดคล้องกับผลสำรวจที่พบว่า คนไทยชื่นชอบการออกกำลังกาย โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ชื่นชอบเทคโนโลยี
‘กลยุทธ์ของ Amazfit ในการทำตลาดคือเน้นที่การให้ความสำคัญกับลูกค้า ด้วยการนำผลิตภัณฑ์ที่มีความหลากหลาย เพิ่มความเป็นแฟชันเข้ามาเพื่อให้รับกับความต้องการของผู้บริโภคในทุกกลุ่ม’
***ขยายสู่ตลาดทั่วประเทศ
ถัดมาคือการขยายความร่วมมือกับพันธมิตรในการเพิ่มช่องทางจำหน่ายให้ครอบคลุมทั่วประเทศ รวมถึงช่องทางออนไลน์ โดยในช่วงปีที่ผ่านมา พบว่า การจำหน่ายสินค้าของ Amazfit ในช่องทางอีคอมเมิร์ซเติบโตขึ้น 300-400% และในบางเดือนที่มีการทำแคมเปญพิเศษเพิ่มเติมทำให้เติบโตขึ้นถึง 1,000%
ในขณะที่ช่องทางจำหน่ายแบบออฟไลน์ที่มี ‘เอสไอเอส ดิสทริบิวเตอร์’ มาช่วยสามารถสร้างการเติบโตได้ราว 400% เช่นเดียวกัน ทำให้จากเดิมรายได้จากการจำหน่าย Amazfit ในปีก่อนหน้าอยู่ที่ 20 ล้านบาท เติบโตขึ้นมาเป็นเกือบ 100 ล้านบาทแล้วในปีนี้
เหตุผลสำคัญที่ทำให้ Amazfit สามารถเติบโตได้ทั้งช่องทางออนไลน์ และออฟไลน์ไปพร้อมๆ กันคือ มีการควบคุมราคาจำหน่ายของสินค้าที่เข้มงวด ทำให้ผู้บริโภคสามารถไปลองใช้และเลือกซื้อสินค้าที่หน้าร้านได้ทันที แตกต่างจากหลายแบรนด์ที่เปิดทางให้ช่องทางออนไลน์ทำตลาดได้ถูกกว่าหน้าร้าน จึงทำให้กลายเป็นว่าผู้บริโภคไปลองสินค้าที่หน้าร้าน และเลือกซื้อผ่านช่องทางออนไลน์แทน
อีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ Amazfit เติบโตอย่างแข็งแรงในประเทศไทยคือการขยายฐานลูกค้าไปตลาดต่างจังหวัดที่ปัจจุบันมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 40% แสดงให้เห็นถึงกำลังซื้อของผู้บริโภคในต่างจังหวัดที่พร้อมเลือกซื้อสมาร์ทวอทช์ไปใช้งานในชีวิตประจำวันมากยิ่งขึ้น
‘ในช่วงปีที่ผ่านมา แบรนด์ของ Amazfit เริ่มเป็นที่ถูกพูดถึงมากขึ้นในกลุ่มของสมาร์ทวอทช์ราคาคุ้มค่าในช่วงระดับราคาต่ำกว่า 5,000 บาท ซึ่งตรงกับโจทย์หลักในการทำตลาดของ Amazfit และเมื่อผู้บริโภคเริ่มใช้งาน จะกลายเป็นความคุ้นชิน และกลายเป็นอุปกรณ์ที่ขาดไม่ได้ในการใช้ชีวิตประจำวัน’
สำหรับในปีนี้ Amazfit คาดหวังในการรักษายอดการเติบโตใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา ซึ่งผ่านมา 10 เดือนถือว่าทำได้ทะลุเป้าหมายที่วางไว้แล้ว และยังมีแคมเปญที่จะทำในช่วงเทศกาลชอปปิ้งทั้ง 11.11 และ 12.12 รวมทั้งช่วงเทศกาลวันหยุดปลายปี ทำให้เชื่อว่าในปีนี้จะเติบโตมากกว่าทุกๆ ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ในปีหน้าจะมีการเพิ่มงบการตลาดขึ้นเท่าตัว เพื่อขยายตลาดให้ครอบคลุมมากขึ้น
***ไลน์สินค้าครอบคลุม
ปัจจุบัน Amazfit จะให้ความสำคัญกับตลาดของสมาร์ทวอทช์เป็นหลัก แม้ว่าจะมีผลิตภัณฑ์ในกลุ่มที่เป็นสมาร์ทแบนด์ทำตลาดในไทยด้วยก็ตาม โดยมีเหตุผลมาจากการที่ Huami ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ Amazfit ที่ถือหุ้นโดย Xiaomi ทำให้มีการรับจ้างผลิต (OEM) สมาร์ทแบนด์ให้ Xiaomi ด้วย จึงไม่เน้นการทำตลาดที่จะไปกระทบกับแบรนด์ที่ผลิตสินค้าให้
โดยในกลุ่มของสมาร์ทวอทช์ Amazfit จะมีสินค้าที่ครอบคลุมทั้งการใช้งานทั่วไป ด้วย Bip ซีรีส์ ที่มีทั้งดีไซน์สมัยใหม่ และปรับให้เหมือนนาฬิกาดิจิทัลสมัยก่อน ตามด้วยนาฬิกาสำหรับออกกำลังกาย T ซีรีส์ ที่เน้นกิจกรรมกลางแจ้ง และ Stratos ซีรีส์ สำหรับผู้ที่ออกกำลังกายแบบนักกีฬามืออาชีพ
สุดท้ายในกลุ่มของแฟชัน จะมีสินค้าในกลุ่ม GT และ GTR ซีรีส์ ที่เน้นในแง่ของการเป็นสมาร์ทวอทช์ที่ครบเครื่องในแง่ดีไซน์ที่เหมาะกับการสวมใส่ใช้งานในชีวิตประจำวัน มีหน้าปัดให้เลือกทั้งแบบสี่เหลี่ยม และแบบกลม
ไฮไลต์เด่นของสมาร์ทวอทช์ในช่วงปลายปีของ Amazfit ที่เพิ่งเปิดตัวไปจะมีทั้ง GTR 3 Pro, GTR 3 และ GTS 3 ในระดับราคา 5,390-7,390 บาท ชูจุดเด่นในแง่ของการเก็บข้อมูลสุขภาพด้วยเซ็นเซอร์ BioTracker 3 ซึ่งสามารถวัดได้ทั้งอัตรการเต้นของหัวใจ ค่าออกซิเจนในเลือด วัดการนอนหลับ และการหายใจขณะนอน รวมถึงการวัดความเครียด และติดตามรอบเดือนของผู้หญิงด้วย
นอกจากนี้ ยังรองรับการออกกำลังกายมากกว่า 150 ประเภทกีฬา ที่รวมถึงการสวมใส่ว่ายน้ำ ที่สามารถวัดอัตราการเต้นหัวใจขณะว่ายน้ำได้ด้วย ที่สำคัญคือแบตเตอรี่สามารถใช้งานได้ต่อเนื่องตั้งแต่ 6-21 วันขึ้นอยู่กับรูปแบบการใช้งาน
***สร้างอีโคซิสเต็มสุขภาพ
นอกเหนือจากสมาร์ทวอทช์แล้ว Amazfit ยังทำตลาดทั้งเครื่องชั่งน้ำหนัก และลู่วิ่งไฟฟ้าภายในบ้านด้วย ซึ่งทั้ง 2 อุปกรณ์นี้ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา โดยเฉพาะในกลุ่มของลู่วิ่งในราคาที่เข้าถึงได้ เนื่องจากผู้คนที่ต้องการออกกำลังกายไม่สามารถออกไปวิ่งตามสวนสาธารณะ หรือตามสถานที่ต่างๆ ได้
ส่งผลให้ปัจจุบันสัดส่วนรายได้หลักของ Amazfit มาจากลู่วิ่งราว 40% จากราคาเฉลี่ยที่สูงกว่าสมาร์ทวอทช์ แต่เชื่อว่าในอนาคตรายได้หลักจะมาจากสมาร์ทวอทช์ที่เป็นธุรกิจหลักอย่างแน่นอน
อีกเบื้องหลังที่น่าสนใจของ Amazfit คือการทำงานร่วมกับแอปพลิเคชันประมวลผลข้อมูลสุขภาพของ Zepp ที่ปัจจุบันถือเป็นผู้ผลิตเซ็นเซอร์สำหรับวัดค่าสุขภาพรายใหญ่ของโลก ทำให้สามารถนำข้อมูลสุขภาพที่เก็บจากผู้ใช้งานทั่วโลกมาวิเคราะห์ได้ด้วย
ประกอบกับการที่ทำตลาดทั้งสมาร์ทวอทช์ ที่ใช้ในการเก็บข้อมูลสุขภาพ มีลู่วิ่งสำหรับการออกกำลังกาย และเครื่องชั่งน้ำหนักไว้วัดค่าเพิ่มเติม จึงทำให้อีโคซิสเต็มของการออกกำลังสามารถเก็บข้อมูลร่วมกันภายในแอปพลิเคชันเดียว จึงทำให้กลายเป็นตัวเลือกของวัยรุ่นยุคใหม่ที่ใส่ใจสุขภาพมากยิ่งขึ้น