บริษัทโซลูชั่นค้าปลีกระดับโลก eyos (อียอส) ประกาศพร้อมเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้ข้อมูลของธุรกิจท้องถิ่นหลากหลายประเภทในประเทศไทย ระบุขอเจาะร้านโชห่วย มินิมาร์ทประจำชุมชน ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านค้าปลีกรายใหญ่อื่นๆในท้องถิ่น ผ่านการลงทุนในนวัตกรรมเทคโนโลยีเพิ่มขึ้น รวมถึงการใช้ข้อมูลการขายเพื่อหาข้อมูลเชิงลึกที่เป็นประโยชน์ เผยบริษัทกำลังวางรากฐานเครือข่ายข้อมูลที่มีความสำคัญในตลาดท้องถิ่นในระดับการขายเชิงลึกที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงส่วนแบ่งทางการตลาด รวมถึงจัดตั้งพันธมิตรเชิงกลยุทธ์เพื่อเร่งการเติบโตของผู้ค้าปลีกผ่านการใช้ประโยชน์จากข้อมูลพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วภายใต้การระบาดของไวรัสโควิด-19
นายชุมพล ศิวเวทกุล หัวหน้าฝ่ายพัฒนาธุรกิจ eyos Thailand กล่าวว่าจากการสนทนากับคู่ค้าและการวิเคราะห์ข้อมูลของเรา พบว่าผู้ค้าปลีกในพื้นที่หลายแห่งเปิดรับการปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนพฤติกรรมลูกค้าอย่างทันท่วงที อีกทั้งยังให้ความสำคัญกับการใช้ข้อมูลการขาย รวมถึง “Big Data” เพื่อเรียนรู้วิธีการปรับเปลี่ยนธุรกิจให้เหมาะสมและเร็วที่สุดจากการสูญเสียรายได้ในช่วงโควิด-19 ทำให้บริษัทกำลังทำงานอย่างใกล้ชิดกับแบรนด์และร้านค้าปลีกท้องถิ่นรายใหญ่หลายรายเพื่อหาโอกาสทางธุรกิจและช่องทางเพิ่มเติมในระดับหน้าร้าน เพื่อตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างต่อเนื่อง
“รวมถึงการทำความเข้าใจช่องว่างของประเภทสินค้าในธุรกิจแต่ละรายผ่านข้อมูลเชิงลึกที่มีประโยชน์ เราหวังที่จะส่งเสริมผู้ค้าในชุมชนด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลที่จะสามารถปรับปรุงการดำเนินงานและช่วยส่งเสริมการตลาดและโปรโมชั่นต่างๆ เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของลูกค้าและประสิทธิภาพทางธุรกิจโดยรวม”
eyos นิยามตัวเองเป็นบริษัทระดับโลกผู้ให้บริการด้านเทคโนโลยีและโซลูชั่นสำหรับธุรกิจค้าปลีก ด้วยข้อมูลเชิงลึกซึ่งอ้างอิงจากข้อมูลการขายสำหรับแบรนด์ระดับโลก แบรนด์ระดับประเทศ และร้านค้าชุมชน ประกาศแผนการขยายธุรกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยการลงทุนเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มฐานข้อมูลของร้านค้า พัฒนาจุดเด่นของแพลดฟอร์มรายงานการขาย เพิ่มทีมงานผู้เชี่ยวชาญที่มีความเข้าใจในตลาดค้าปลีกท้องถิ่น และพัฒนาการร่วมมือเชิงกลยุทธ์ร่วมกับแบรนด์ระดับประเทศและร้านค้าชุมชน
eyos ให้ข้อมูลว่าในปี 2564 ผู้บริโภคในตลาดไทยมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการซื้อสินค้าและบริการอันเป็นผลมาจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 และการล็อกดาวน์หลายครั้งเพื่อควบคุมการแพร่กระจายของไวรัส สมาคมผู้ค้าปลีกไทยระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นการค้าปลีก (Retail Sentiment Index) ส่วนใหญ่ลดลง 70% ในเดือนกรกฎาคม ซึ่งต่ำที่สุดในรอบ 16 เดือนที่ผ่านมา อีกทั้งฐานข้อมูลของ eyos ยังแสดงให้เห็นการลดลงของการเข้ามาซื้อสินค้าในหมวดหมู่หลักที่ปรับลดลง (-8% ในเดือนส.ค. เทียบกับ ก.ค.) และการใช้จ่ายต่อใบเสร็จที่มีการปรับตัวในแนวทางเดียวกัน (-5% ในเดือนส.ค. เทียบกับ ก.ค.) ความไม่แน่นอนที่เกิดจากการระบาดของไวรัส COVID-19 จึงกระตุ้นให้ผู้ค้าปลีกเปลี่ยนแปลงสู่รูปแบบดิจิทัลอย่างรวดเร็วผ่านการช่วยเหลือจากรัฐบาลทั้งในด้านการศึกษาและการสนับสนุนทางการเงิน
“eyos ได้ช่วยเหลือแบรนด์สินค้าอุปโภคบริโภค (CPG) และผู้ค้าปลีกในท้องถิ่นแปลงข้อมูลเกี่ยวกับรูปแบบการซื้อให้กลายเป็นข้อมูลเชิงลึกเพื่อที่จะนำไปใช้เป็นแนวทางแก้ไขและต่อยอดทางธุรกิจได้ ยกตัวอย่างเช่น ข้อมูลซึ่งแสดงให้เห็นว่าลูกค้ามักจะซื้อสินค้าราคาถูก หรือ ขนาดแพ็คที่เล็กกว่าเพื่อลดภาระทางการเงินในครัวเรือน ด้วยการวิเคราะห์ข้อมูลผู้บริโภค แบรนด์ต่างๆ สามารถที่จะปรับเปลี่ยนสินค้าที่จัดจำหน่ายให้เหมาะสมกับพฤติกรรมการซื้อที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงการจัดสรรพื้นที่การขายในชั้นวางสินค้าให้ตรงกับสินค้าที่ผู้บริโภคมองหา อีกทั้งยังสามารถทำความเข้าใจที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นว่าสินค้าหลักชิ้นใดหรือขนาดใดบ้างที่ขายได้ดีในช่วงสถานการณ์โควิดเพื่อปรับเปลี่ยนการทำโปรโมชั่นและวางแผนการจัดทสต็อกให้ได้ผลประโยชน์สูงสุด ซึ่งจะส่งผลต่อการวัดผลตอบแทนจากการลงทุน (ROI) และ ช่วยเสริมสภาพคล่องทางการเงินให้กับร้านค้าท้องถิ่นได้เพิ่มขึ้น” แถลงการณ์ระบุ
สำหรับ eyos เป็นแพลตฟอร์ม Big Data ครบวงจรแบบแรกของโลกที่เชื่อมโยงกับช่องทางการขายในร้านค้าท้องถิ่น และสามารถเชื่อมต่อกับระบบได้ทุกรูปแบบ เพื่อให้ธุรกิจค้าปลีกสามารถสร้างระบบอัตโนมัติในการดำเนินงาน แพลตฟอร์มนี้ออกแบบมาสำหรับการดำเนินงานในธุรกิจค้าปลีกโดยเฉพาะ และปรับเปลี่ยนให้เข้ากับวิธีการทำงานของร้านค้าท้องถิ่น แบรนด์ระดับประเทศ และแบรนด์ระดับโลกเพื่อเปลี่ยนการดำเนินงานมาสู่ระบบดิจิทัลผ่านการทำให้ข้อมูลการค้าปลีกเข้าถึงได้ง่ายขึ้น รวดเร็วขึ้น และให้ประโยชน์ทางธุรกิจมากขึ้นกว่าที่เคยเป็น ปัจจุบัน eyos รองรับร้านค้าในพื้นที่ 260 แห่งที่มุ่งเน้นธุรกิจ FMCG โดยส่วนใหญ่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย และมีแผนจะขยายธุรกิจไปยังขอนแก่น อุดรธานี นครราชสีมา และอุบลราชธานี รวมทั้งภาคอื่นๆ ในปี 2565
ปัจจุบัน eyos กำลังเปิดตัวแพลตฟอร์มสำหรับแบรนด์สินค้าอุปโภคบริโภคและทำงานร่วมกับร้านค้าปลีกรายใหญ่ในท้องถิ่น ร้านโชห่วย รวมถึงร้านธงฟ้าในโครงการของรัฐบาล
เพื่อเป็นการตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงในธุรกิจค้าปลีกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากภายใต้สถานการณ์โควิด-19 และสร้างนวัตกรรมทางเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพ ตลอดระยะเวลาการดำเนินงานของธุรกิจนั้นๆ eyos มีความมุ่งมั่นในการบริหารข้อมูลการขาย และช่วยพัฒนาการเติบโตของร้านค้าท้องถิ่น โดยมีการจัดเตรียมทีมสนับสนุนเพื่อช่วยให้ผู้ค้าปลีกเรียนรู้ ทำความเข้าใจและเติบโตในสภาพแวดล้อมดิจิทัล รวมถึงเพิ่มความมั่นใจในการใช้งานขณะที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมการใช้ระบบดิจิทัล
นอกจากนี้ eyos Thailand กำลังจะขยายการดำเนินงานในปีหน้า ด้วยการขยายทีมงานและแผนเปิดตัวโซลูชั่นเพิ่มเติมที่ได้รับการปรับปรุงเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ค้าปลีกในท้องถิ่น นอกเหนือจากนั้นบริษัทกำลังจะเปิดตัวโครงการ Customer Loyalty สำหรับลูกค้าในตลาดท้องถิ่นเพื่อทำความเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคให้ชัดเจนมากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ผู้ค้าปลีกพัฒนาธุรกิจตนเองได้ผ่านการมอบสิทธิประโยชน์ในการช้อปปิ้งในรูปแบบที่ปรับเปลี่ยนได้ง่าย และ ตรงใจผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น โดย eyos ก่อตั้งขึ้นจากการควบกิจการระหว่างสองบริษัท ผู้บุกเบิกด้านข้อมูลเชิงลึกและระบบอัตโนมัติ ได้แก่ Emporio Analytics และ yReceipts ในช่วงปลายปี 2020 เพื่อเติมเต็มช่องว่างในตลาด FMCGด้วยข้อมูลและสถิติเชิงลึกด้านการขาย เนื่องจากมีผู้ค้าปลีกอิสระมากมายที่ขาดการวางโครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูลอัตโนมัติ