xs
xsm
sm
md
lg

กสทช.ทำงานเชิงรุกร่วมกับตำรวจ และโอเปอเรเตอร์ เอาผิดเบอร์หลอกลวง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สำนักงาน กสทช. ร่วมกับ บช.สอท. และผู้ประกอบการโทรคมนาคม จัดการปัญหา SMS และโทรศัพท์หลอกลวงพร้อมดำเนินการตามกฎหมาย และดำเนินคดีเอาผิดกับมิจฉาชีพ

นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า กสทช. และตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) รวมถึงผู้ประกอบกอบการโทรคมนาคม (AIS TRUE DTAC NT และ 3BB) มีการประชุมร่วมกันในการจัดการปัญหา SMS และโทรศัพท์หลอกลวงประชาชน โดยโอเปอเรเตอร์ทุกรายจะทำการบล็อก SMS ที่มีเนื้อหาชัดเจนว่าเป็นการหลอกลวง เว็บพนันออนไลน์ หรือลามกอนาจารทันที และเร่งตรวจสอบ กำกับดูแลกันเองอย่างเคร่งครัด และให้ทุกค่ายเริ่มทำการ Backlist ผู้ส่งที่ส่งข้อความหลอกลวง หลังจากที่ได้การแชร์ข้อมูล SMS หลอกลวงระหว่างกันแล้วพบว่ามาจากผู้ส่งรายเดียวกัน โดยที่ผ่านมาได้บล็อก SMS หลอกลวงแล้วกว่า 140 ผู้ส่ง

สำหรับกรณีการโทร.หลอกลวงประชาชนโดยตรง สำนักงานฯ กับโอเปอเรเตอร์ทุกราย สามารถตรวจสอบการกระทำความผิดได้ชัดเจนเนื่องจากเบอร์โทรศัพท์มือถือที่มิจฉาชีพใช้สามารถตรวจสอบจากการลงทะเบียนได้ว่าใครเป็นเจ้าของเบอร์นั้น ถือเป็นหลักฐานที่ระบุต้นทางที่มา ประกอบกับข้อมูลที่ประชาชนให้ข้อมูลการหลอกลวง ส่งคลิป หรือแจ้งเบอร์โทรศัพท์เข้ามาเพื่อเป็นข้อมูล สำนักงานฯ จะนำข้อมูลทั้งหมดส่งให้กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) เพื่อดำเนินการตามกฎหมายในการดำเนินคดีเอาผิดกับมิจฉาชีพต่อไป

นายไตรรัตน์ กล่าวว่า การดำเนินงานร่วมกับกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) จะทำให้การดำเนินการเอาผิดและดำเนินคดีกับมิจฉาชีพสามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว เพราะทาง บช.สอท. มีความเชี่ยวชาญและชำนาญในเรื่องดังกล่าว ซึ่งสำนักงาน กสทช. มองว่าแนวทางในการจัดการปัญหา SMS และโทรศัพท์หลอกลวงที่กำลังดำเนินการสามารถที่จะแก้ไขปัญหาได้ แต่ทั้งนี้ สำนักงานฯ ยังต้องได้รับความร่วมมือจากประชาชนผู้ใช้บริการที่ประสบปัญหาโดยตรงในการให้ข้อมูลปัญหา SMS และโทรศัพท์หลอกลวงกับสำนักงานฯ และโอเปอเรเตอร์เพื่อจะได้แก้ไขปัญหาดังกล่าวให้ลุล่วง

สำนักงานฯ ขอให้ประชาชนระมัดระวังอย่าหลงเชื่อข้อความจาก SMS โดยง่าย อย่ากรอก Username Password ที่ใช้ในการทำธุรกรรมต่างๆ กับธนาคารในลิงก์ที่ส่งมากับ SMS หรืออย่าให้ข้อมูลส่วนตัว เช่น บัตรประชาชน ไปกับคนที่โทร.มาสอบถามข้อมูลทางโทรศัพท์ง่ายๆ ควรตรวจสอบที่มาของ SMS หรือหน่วยงานที่โทรศัพท์เข้ามาให้แน่ใจก่อน เพื่อระมัดระวังไม่ให้ข้อมูลเหล่านี้ตกไปอยู่ในมือมิจฉาชีพที่จะเอาข้อมูลส่วนตัวของเราไปใช้ทำธุรกรรม ขโมยเงินของเรา หรือนำไปก่อความเสียหายได้

“สำนักงาน กสทช. มุ่งมั่นแก้ไขปัญหา SMS และโทรศัพท์หลอกลวง หากประชาชนประสบปัญหา หรือต้องการแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับ SMS และโทรศัพท์หลอกลวง สามารถแจ้งมายัง Call Center สำนักงาน กสทช. หมายเลขโทรศัพท์1200 (โทร.ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย) หรือแจ้งไปยัง Call Center ของค่ายมือถือที่ท่านใช้บริการอยู่ หรือหมายเลขโทรศัพท์ที่แต่ละค่ายมีไว้เพื่อรับข้อมูลเรื่อง SMS และโทรศัพท์หลอกลวงโดยเฉพาะ” นายไตรรัตน์ กล่าว


ด้าน พล.ต.ท.กรไชย คล้ายคลึง ผู้บัญชาการกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) กล่าวว่า โอเปอเรเตอร์ต้องมีการทำถังข้อมูลกลางของ SMS เพื่อให้ตำรวจสามารถค้นหาได้ว่าผู้ส่ง SMS หลอกลวงส่งมาจากเสาสัญญาณโทรศัพท์ที่ไหนเพื่อเป็นประโยชน์ในการจับกุมผู้กระทำผิด

ขณะที่โอเปอเรเตอร์ต่างให้ความเห็นในทิศทางเดียวกันว่า มีการทำงานร่วมกันเพื่อส่งข้อมูลเบอร์มิจฉาชีพให้แต่ละค่ายทราบและช่วยกันบล็อก นอกจากนี้ ยังมีการตรวจสอบต้นทางหากเป็นการแอบอ้างว่าเป็นหน่วยงานเช่น ธนาคารส่งข้อความมา โอเปอเรเตอร์จะทำการตรวจสอบไปยังธนาคารว่ามีโปรโมชันดังกล่าวจริงหรือไม่เพื่อดำเนินการบล็อก ซึ่งเป็นการทำงานเชิงรุกที่สามารถดำเนินการได้ แต่โอเปอเรเตอร์ไม่สามารถเข้าไปดูเนื้อหาของผู้ส่งได้เนื่องจากมีกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลอยู่ จึงทำได้เพียงตั้งรับและขอให้ประชาชนแจ้งเบาะแสเพื่อดำเนินการบล็อก


กำลังโหลดความคิดเห็น