xs
xsm
sm
md
lg

ดีอีเอสเปิดรายชื่อ 7 หน่วยงานทำเวลาสกัดข่าวปลอมได้ภายใน 1 ชั่วโมง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ภุชพงค์” รองปลัดดีอีเอส อัปเดตความร่วมมือหน่วยงานรัฐในการเดินหน้าแก้ไขปัญหาเฟกนิวส์ เปิด 7 รายชื่อผลงานเด่น ใช้เวลาไม่ถึง 1 ชั่วโมง ยืนยันข้อเท็จจริงตอบกลับศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม

นายภุชพงค์ โนดไธสง รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวระหว่างเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการ "การใช้งานระบบสำหรับผู้ประสานงานการตรวจสอบข่าวปลอมเพื่อสร้างเครือข่ายผู้ปฏิบัติงาน และวิธีการแก้ไขปัญหาข่าวปลอม" วันนี้ (29 ก.ย.) ว่า กิจกรรมครั้งนี้ได้รับความสนใจอย่างมาก โดยมีผู้สนใจสมัครเข้าร่วมอบรมกว่า 600 คน จากหน่วยงานจำนวนมากกว่า 300 แห่ง ครอบคลุมหน่วยงานราชการ องค์การมหาชน และบริษัทมหาชน

โดยกระทรวงฯ และศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมมีวัตถุประสงค์เพื่อให้กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ ผู้ประสานงานเครือข่าย กลุ่มนิติกร ตลอดจนเครือข่ายผู้ที่เกี่ยวข้องได้เข้าใจในกระบวนการตรวจสอบและแก้ไขปัญหาข่าวปลอม บทบาท ขั้นตอนของผู้ประสานศูนย์ฯ ให้สามารถตรวจสอบและการแจ้งกลับมาผ่านศูนย์ฯ ตลอดจนการเผยแพร่ข่าวที่ถูกต้องตรวจสอบแล้วได้

ขณะที่จากการจัดอันดับ 10 หน่วยงานที่ให้ความร่วมมือมากสุดกับศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมในการตรวจสอบยืนยันข้อเท็จจริง ล่าสุด พบว่า ในจำนวนนี้มีอยู่ 7 หน่วยงาน ที่มีระยะเวลาในการตอบกลับโดยเฉลี่ยไม่ถึง 1 ชั่วโมง โดยหนึ่งในนี้คือ กรมประชาสัมพันธ์ สำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นหน่วยงานมีจำนวนเรื่องที่ได้รับการประสานงานเพื่อตรวจสอบยืนยันมากสุดถึง 328 เรื่อง

สำหรับรายชื่อ 10 ลำดับหน่วยงานที่ให้ความร่วมมือมากที่สุด (ข้อมูล ณ วันที่ 27 ก.ย.) ได้แก่ 1.กรมชลประทาน ระยะเวลาตอบกลับโดยเฉลี่ย 5 นาที การตอบกลับ 100% 2.สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม 10 นาที การตอบกลับ 83.33% 3.สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกรุงเทพมหานคร 14 นาที การตอบกลับ 98.70%

4.กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ 19 นาที การตอบกลับ 95% 5.กรมการขนส่งทางบก 20 นาที การตอบกลับ 100% 6.กรมประชาสัมพันธ์ สำนักนายกรัฐมนตรี 50 นาที การตอบกลับ 99.70% 7.สำนักงานปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 55 นาที การตอบกลับ 100%

8.กรมอุตุนิยมวิทยา 1 ชั่วโมง 44 นาที การตอบกลับ 100% 9.ธนาคารออมสิน กระทรวงการคลัง 1 ชั่วโมง 55 นาที การตอบกลับ 100% และ 10.กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข 1 ชั่วโมง 58 นาที การตอบกลับ 95.75%

นายภุชพงค์ กล่าวว่า สำหรับภาพรวมของข้อความข่าวที่ต้องคัดกรองทั้งหมดของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.62-27 ก.ย.64 มีจำนวนรวม 312,878,097 ข้อความ และเข้าเกณฑ์ดำเนินการตรวจสอบ 25,232 ข้อความ ขณะที่หลังจากคัดกรองพบข้อความข่าวที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ 11,811 เรื่อง โดยหมวดหมู่สุขภาพ มีจำนวนข่าวที่เข้าข่ายการตรวจสอบมากที่สุด จำนวน 6,264 เรื่อง คิดเป็น 53% รองลงมาเป็นหมวดหมู่นโยบายรัฐ 5,118 เรื่อง คิดเป็น 43% หมวดหมู่เศรษฐกิจ 224 เรื่อง คิดเป็น 2% และหมวดหมู่ภัยพิบัติ 205 เรื่อง คิดเป็น 2% ตามลำดับ


กำลังโหลดความคิดเห็น