หลังจากครองตลาดผู้นำเครื่องพิมพ์แท็งก์แท้ในกลุ่มผู้บริโภคทั่วไปในไทยมายาวนานกว่า 11 ปี ผ่านทั้งช่วงเวลาที่ตลาดพรินเตอร์เริ่มหดตัว จนถึงในยุคปัจจุบันที่ดีมานด์เพิ่มมากขึ้น แต่ก็ต้องเผชิญกับความท้าทายในแง่ของสินค้าขาดสต็อกจากกำลังการผลิตชิ้นส่วนสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลก
แน่นอนว่าธุรกิจไอที และสินค้าอย่างพรินเตอร์ ถือเป็นธุรกิจที่ได้รับอานิสงส์เชิงบวกจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้เกิดการล็อกดาวน์ หลายองค์กรธุรกิจจำเป็นต้องมีการลงทุนไอทีเพิ่มขึ้น เพื่อช่วยให้พนักงานทำงานได้ เช่นเดียวกับในส่วนของเด็ก และเยาวชนที่มีความจำเป็นต้องใช้ไอทีมาช่วยในการเรียนรู้ผ่านระบบออนไลน์
ยรรยง มุนีมงคลทร ผู้อำนวยการบริหาร บริษัท เอปสัน (ประเทศไทย) จำกัด ให้มุมมองที่น่าสนใจว่า จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดเทรนด์ใหม่ๆ ขึ้นมากมาย โดยเฉพาะหลายสิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม โดยเฉพาะเรื่องการทำงาน การเรียน และการทำธุรกิจให้เกิดความยั่งยืนในระยะยาว
‘การมาของ Hybrid Workspace จะทำให้พนักงานไม่จำเป็นต้องทำงานจากสถานที่ทำงาน หรือที่บ้านเพียงอย่างเดียวแล้ว แต่เปิดกว้างให้สามารถทำงานจากที่ไหนก็ได้ ซึ่งทำให้เกิดความจำเป็นในการใช้งานพิมพ์เอกสารต่างๆ และจะก่อให้เกิดธุรกิจใหม่ขึ้นด้วย’
อีกส่วนที่เกิดการเปลี่ยนแปลงคือเรื่องของ Online Learning ที่กลายเป็นว่าทุกครอบครัวของเด็ก และนักศึกษาที่เรียนออนไลน์ มีความจำเป็นต้องใช้งานการพิมพ์มากขึ้น เพราะต้องใช้เป็นเอกสารในการเรียน การสอนให้เด็กทำการบ้านหรือบททดสอบต่างๆ
สุดท้ายก็คือการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และการทำธุรกิจอย่างยั่งยืน (Sustainability) โดยมีเป้าหมายที่จะสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด ซึ่งปัจจุบันทุกองค์กรต่างให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นอย่างมาก
ในมุมของ ‘เอปสัน’ มองถึงโอกาสที่เกิดขึ้นจากเทรนด์นี้ได้อย่างน่าสนใจ เพราะในมุมของการทำงาน และการเรียน เครื่องพิมพ์จะมีความจำเป็นมากขึ้น ในช่วงสถานการณ์แบบนี้ และในขณะเดียวกันก็มีการคิดค้นเทคโนโลยีที่มาช่วยให้ทำธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะหัวพิมพ์ที่ไม่ใช้ความร้อน ช่วยลดการใช้พลังงาน
***ไอทีไทยมีทั้งเติบโต-หดตัว
ยรรยง ให้ข้อมูลถึงสถานการณ์ตลาดไอทีประเทศไทยในช่วงปีที่ผ่านมาว่ามีทั้งธุรกิจที่เติบโต ไม่ว่าจะเป็นแท็บเล็ตที่มีความจำเป็นในการใช้เรียน เติบโตถึง 25% เช่นเดียวกับกลุ่มพรินเตอร์ขนาดเล็ก โดยเฉพาะในกลุ่มเครื่องพิมพ์ฉลากที่บรรดาแม่ค้าออนไลน์นำไปใช้ในการพิมพ์เติบโตถึง 50%
กลับกันสินค้าอย่างโน้ตบุ๊ก เครื่องพิมพ์มัลติฟังก์ชัน และมอนิเตอร์ กลับเป็นตลาดที่หดตัว เนื่องจากขาดกำลังซื้อในกลุ่มขององค์กรธุรกิจที่ชะลอการลงทุนอุปกรณ์บางส่วน เพื่อจัดสรรเงินลงทุนไปใช้ในการทรานฟอร์มธุรกิจ
อย่างไรก็ตาม แม้ว่ายอดขายในบางกลุ่มจะลดลง แต่ถ้ามองในแง่ของมูลค่าโดยรวมธุรกิจไอทีกลับเติบโตขึ้น จากราคาเฉลี่ยของสินค้าที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น ทั้งจากความต้องการของตลาดที่มากขึ้น และปริมาณซัปพลายที่ไม่เพียงพอส่งผลให้ในภาพรวมทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์ต่างเติบโตทั้งสิ้น
เมื่อเจาะลงมาในกลุ่มตลาดพรินเตอร์ พบว่า สัดส่วนเครื่องพิมพ์ที่ใช้งานอิงค์เจ็ทยังคงเป็นส่วนใหญ่ของตลาดที่ 69% ตามมาด้วยกลุ่มเครื่องพิมพ์เลเซอร์ 11% และที่เหลืออีก 20% จะเป็นเครื่องพิมพ์ขนาดใหญ่ เครื่องพิมพ์ผ้า เป็นต้น
ถ้าสังเกตข้อมูลเฉพาะเครื่องพิมพ์อิงค์เจ็ทแบบพิมพ์อย่างเดียวนั้น เติบโตลดลงเล็กน้อย ในขณะที่เครื่องพิมพ์มัลติฟังก์ชันที่รองรับการพิมพ์ สแกน และถ่ายเอกสาร ยังมีการเติบโตอยู่ โดยในกลุ่มนี้สัดส่วนของเครื่องพิมพ์ตลับหมึกจะลดลงมาอยู่ที่ 29% ในขณะที่กลุ่มแท็งก์แท้เพิ่มสูงขึ้นมาเป็น 71%
สำหรับช่องทางจำหน่ายพรินเตอร์ พบว่า การจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์นั้นเพิ่มสูงขึ้นมาเฉลี่ยอยู่ที่ราว 30% โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์ล็อกดาวน์ในพื้นที่สีแดงเข้ม ตลาดออนไลน์พุ่งสูงขึ้นมาถึง 40% ทำให้ในภาพรวมแล้วการจำหน่ายเครื่องพิมพ์ออนไลน์ในไทยถือว่าเติบโตกว่าหลายๆ ประเทศในภูมิภาคนี้
ยรรยง ระบุชัดเจนว่า วิกฤตในนี้ทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไป เอปสัน ต้องเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาสให้ได้ มีการตั้งทีมออนไลน์ มามอนิเตอร์ช่องทางอีคอมเมิร์ซ เพื่อเข้าไปสนับสนุนลูกค้าให้ได้มากที่สุด
ในส่วนของ ‘เอปสัน’ ปัจจุบันครองตำแหน่งผู้นำตลาดเครื่องพิมพ์อิงค์แท็งก์มากว่า 11 ปีต่อเนื่องกันด้วยส่วนแบ่งตลาดปัจจุบันที่ 46% ทิ้งห่างจากอันดับ 2 และ 3 ซึ่งอยู่ที่ 22% และ 20% ตามลำดับ
***นำ EcoTank มัลติฟังก์ชัน ทดแทนตลาดเลเซอร์
ความน่าสนใจของการบุกตลาดในช่วงครึ่งปีหลังของ ‘เอปสัน’ คือการประกาศเปิดตัวเครื่องพิมพ์ทีเดียว 17 รุ่น ซึ่งนับว่ามากที่สุดตลอดช่วงเวลาที่เข้ามาทำตลาดในประเทศไทย ทำให้ในช่วงปลายปีนี้จะมีสินค้าครอบคลุมมากถึง 29 รุ่นด้วยกัน
สำหรับผลิตภัณฑ์รุ่นใหม่ที่เปิดตัวทั้ง 17 รุ่น จะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มด้วยกันคือ 1.Refresh ในการเพิ่มคุณภาพ และความเร็วในการพิมพ์ เข้าไปจับกลุ่มลูกค้าเก่าที่ต้องการเครื่องพิมพ์รุ่นใหม่ที่ดีขึ้น 2.Replace ในการเข้าไปแทนที่ตลาดเลเซอร์รุ่นล่างที่ต้องการความประหยัดในการพิมพ์ และ 3.Expand เพิ่มทางเลือก EcoTank สีขาว เพื่อให้ครอบคลุมผู้บริโภคได้หลากหลายมากขึ้น
ที่สำคัญคือ เครื่องพิมพ์ของเอปสันทั้งหมด พัฒนาภายใต้คอนเซปต์การพัฒนาอย่างยั่งยืน ด้วยการนำเทคโนโลยี Heat Free มาใช้ คือไม่ใช้ความร้อนในการพิมพ์ ช่วยให้ประหยัดพลังงาน
ข้อได้เปรียบของเครื่องพิมพ์ Eco Tank คือเรื่องของความประหยัด พิมพ์ได้จำนวนมากขึ้นในต้นทุนที่ต่ำลง ถัดมาคือการใช้งานที่หลากหลาย มีให้เลือกครบถ้วนทั้งการพิมพ์ สแกน เชื่อมต่อกับแอปพลิเคชัน จนถึงการใช้งานได้ต่อเนื่อง ด้วยการเติมหมึกที่ทำได้ง่ายขึ้น รองรับกระดาษมากขึ้น การรับประกันเกือบจะตลอดอายุการใช้งาน
สุดท้ายคือเอปสันพยายามที่จะลดการเกิดขยะจากชิ้นส่วนสิ้นเปลืองอย่างตลับหมึกด้วยการเปลี่ยนมาใช้เป็นแท็งก์แท้ รวมถึงถาดซับหมึก หรือชิ้นส่วนต่างๆ ของตัวเครื่อง ด้วยการนำวัสดุรีไซเคิลมาใช้งานกว่า 30% เมื่อรวมกับเทคโนโลยี Heat Free ที่ไม่ใช้ความร้อนในการพิมพ์ ซึ่งช่วยให้ประหยัดพลังงานแล้ว จะเห็นได้ว่าผลิตภัณฑ์ของเอปสัน ได้พัฒนาตามหลักความยั่งยืน (Sustainability) อยู่แล้ว
‘เป้าหมายในช่วงแรกของ เอปสัน ในการบุกตลาดเลเซอร์พรินเตอร์ คือการเข้าไปในตลาด Entry Laser ที่มีสัดส่วนราว 5-10% ในกลุ่มที่ต้องการความเร็วในการพิมพ์ต่ำกว่า 20 แผ่นต่อนาที โดยเชื่อว่าหลังจากนี้ ความต้องการใช้งานเครื่องพิมพ์ขององค์กรธุรกิจจะเปลี่ยนแปลงไป จากเดิมที่ใช้งานเครื่องใหญ่ร่วมกันทุกแผนก แต่หลังจากนี้จะแยกย่อยกันใช้งานมากขึ้น เพื่อลดการแออัด และรับกับรูปแบบการทำงานยุคใหม่ด้วย’
อย่างไรก็ตาม โมเดลธุรกิจหนึ่งที่ เอปสัน นำมาใช้เพื่อรุกตลาดธุรกิจตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมาคือ ‘EasyCare 360 เหมา เหมา’ ที่เปิดให้ผู้ประกอบการเช่าเครื่องพิมพ์เป็นรายเดือน พร้อมโซลูชันบริการหลังการขาย และเมื่อใช้งานครบ 24 เดือน ก็จะเป็นเจ้าของเครื่องพิมพ์รุ่นที่เช่าใช้ทันที ซึ่งช่วยเปิดโอกาสให้องค์กรธุรกิจ สามารถคำนวนค่าใช้จ่ายต่างๆ และควบคุมงบประมาณได้ง่ายขึ้น