กระทรวงดีอีเอส รับมอบระบบการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) ที่พัฒนาโดยคนไทยในชื่อ Kaitomm (ไข่ต้ม) พร้อมแท็บเล็ตรุ่นทนทานพิเศษจากซัมซุง 10 เครื่อง พร้อมประยุกต์ใช้ในงานภาคสนามภายใต้ภารกิจสู้โควิด-19
นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า จากนโยบายของกระทรวงดิจิทัลฯ ที่สนับสนุนให้มีการบูรณาการความร่วมมือนำทรัพยากรด้านเทคโนโลยีและบุคลากรเข้าไปช่วยอำนวยความสะดวกในภารกิจการทำงานด้านสาธารณสุขภาคสนามสู้โควิด-19 ล่าสุด มีภาคเอกชนทั้งค่ายไอทีไทย-เทศ เดินทางเข้าพบเพื่อสาธิตระบบการทำงานของแอปพลิเคชันด้านการแพทย์ทางไกล (เทเลเมดิซีน) พร้อมมอบไลเซนส์อนุญาตการใช้งาน และมอบเครื่องแท็บเล็ตรุ่นทนทานพิเศษ เพื่อให้กระทรวงฯ นำไปใช้ประโยชน์ในภารกิจต่อไป
ทั้งนี้ นายณชพล สองทิศ บริษัท อาร์ ที เอส (2003) จำกัด เป็นบริษัทที่ประกอบการด้านผู้รวบรวมระบบ (System Integrator) ประสบการณ์ 17 ปี พร้อมด้วย ดร.มหิศร ว่องผาติ จากบริษัทพันธมิตร บริษัท โอโบดรอยด์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด บริษัทวิจัยและพัฒนาหุ่นยนต์บริการและเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ได้มีการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อสารด้านสาธารณสุขซึ่งเป็นระบบแอปพลิเคชันสำหรับติดต่อสื่อสารทางไกลระหว่างบุคลากรทางการแพทย์ ผู้ป่วย และโรงพยาบาล ชื่อ Kaitomm (ไข่ต้ม) ซี่งมีคุณสมบัติการใช้งานสอดคล้องกับภารกิจช่วยเหลือบุคลากรการแพทย์ ในการเพิ่มระยะห่างเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19 และช่วยเหลือประชาชนคนไทยให้สามารถเข้าถึงบริการทางสาธารณสุขได้อย่างสะดวกและมีประสิทธิภาพสูง
ระบบการทำงานของ “ไข่ต้ม” Hostpital สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในงานภาคสนามภายใต้ภารกิจของดีอีเอส ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ การบริหารจัดการระบบและอุปกรณ์สื่อสารทางไกลระหว่างบุคลากรทางการแพทย์ ผู้ป่วย และโรงพยาบาลเพื่อลดการสัมผัสของบุคลากรทางการแพทย์กับคนไข้ และเพิ่มประสิทธิภาพในการดูแล ติดตามรักษาอาการของคนไข้ให้ดียิ่งขึ้น ลดความแออัดในโรงพยาบาล/สถานพยาบาล ส่งผลให้การติดเชื้อจากการรักษาของบุคลากรทางการแพทย์ลดลง ติดตามอาการผู้ป่วยได้ใกล้ชิดขึ้น และรักษาอาการของผู้ป่วยได้อย่างทันท่วงที
สำหรับ Telemedicine สื่อสารทางไกลระหว่างบุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วยจะทำหน้าที่อำนวยความสะดวกในการสื่อสารระหว่างบุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วย ผ่านทางการโทรวีดีโอคอล (VDO Call) โดยเครื่องของผู้ป่วยที่ใช้ในสถานพยาบาลสามารถรับสายอัตโนมัติได้ ซึ่งทำให้นอกจากจะสามารถใช้ระบบนี้ในการติดตามผลการรักษาแบบ Interactive Communication แล้ว ยังสามารถใช้ในการเฝ้าดู/ติดตามอาการของผู้ป่วยจากระยะทางไกล (Remote Monitoring) ในลักษณะเดียวกับ Mobile CCTV ด้วย สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ในห้องฉุกเฉิน ห้องแยกโรค ห้องความดันลบ หอผู้ป่วยรวม (โควิด-19) ห้องผ่าตัด หออภิบาลผู้ป่วยวิกฤต (ICU) โรงพยาบาลสนาม เป็นต้น
“ทั้ง 2 บริษัทได้ร่วมกับพันธมิตร ได้แก่ บริษัท ไทยซัมซุงอิเลคโทรนิคส์ จำกัด และบริษัท วีเอสที อีซีเอส (ประเทศไทย) จำกัด มอบระบบ Telemedicine Kaitomm (ไข่ต้ม) Hospital จำนวน 100 ลิขสิทธิ์การใช้งานสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ พร้อมโปรแกรมสำหรับผู้ป่วยแบบไม่จำกัดผู้ใช้งาน และอุปกรณ์แท็บเล็ตรุ่นทนทานพิเศษ Samsung Galaxy Tab Active 3 ที่มีคุณสมบัติเด่นเรื่องความทนทาน กันน้ำ กันฝุ่น และทนการกระแทก จำนวน 10 เครื่อง ให้กระทรวงฯ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในภารกิจต่อไป”