xs
xsm
sm
md
lg

ชไนเดอร์ อิเล็คทริค ออกตู้แร็คประหยัดไฟใหม่ ชูยูพีเอสสำรองไฟแบตฯ ลิเธียม-ไอออนอนาคตไกล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


อภัย แอนิล โกสานการ์ (Abhay Anil Ghosalkar) รองประธานกลุ่ม Secure Power ชไนเดอร์ อิเล็คทริค ดูแลกลุ่มประเทศไทย ลาว และพม่า
ชไนเดอร์ อิเล็คทริค (Schneider Electric) เปิดตัวตู้แร็คประหยัดไฟสำหรับใช้งานแบบเอดจ์ขนาดใหม่ ให้ความจุสูงสุดในกลุ่มไมโครดาต้าเซ็นเตอร์ บุกตลาดครึ่งปีหลังด้วยยูพีเอส (UPS) ระบบสำรองไฟรุ่นล่าสุดขนาดเล็กลงเพื่อองค์กรยั่งยืน เผยเทรนด์ UPS ของศูนย์ข้อมูลในอนาคตจะพลิกมาใช้แบตเตอรี่ลิเธียม-ไอออน พบองค์กร 50-60% เปลี่ยนแล้ว

นายอภัย แอนิล โกสานการ์ รองประธานกลุ่ม Secure Power ชไนเดอร์ อิเล็คทริค ดูแลกลุ่มประเทศไทย ลาว และพม่า กล่าวถึงการเปิดตัว 2 ผลิตภัณฑ์ใหม่ล่าสุดว่าเป็นผลจากการเติบโตของการใช้ประโยชน์จากอุปกรณ์ไอทีและเอดจ์คอมพิวติ้งที่มีการเติบโตสูงมาก ภาวะนี้ทำให้เกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ชไนเดอร์ อิเล็คทริค จึงพัฒนาเทคโนโลยีด้านเอดจ์คอมพิวติ้งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไม่หยุดยั้ง บนเป้าหมายเพื่อช่วยให้องค์กรทรานส์ฟอร์มสู่ยุค 4.0 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยที่ยังลดการปล่อยคาร์บอนสู่โลกได้ด้วย

3 แนวโน้มที่ชไนเดอร์ อิเล็คทริคเห็นโอกาสในตลาดไทย คือ หลายองค์กรกำลังมองการลงทุนสร้างเอดจ์ระดับภูมิภาค (Regional Edge) สำหรับบริการดาต้าเซ็นเตอร์ในไทย ขณะที่โรงงานอุตสาหกรรมไทยก็มีเทรนด์เชื่อมต่อคลาวด์เพื่อสร้างระบบเอดจ์สำหรับอุตสาหกรรม (Industrial Edge) ที่มอนิเตอร์ระบบการผลิตได้แบบเรียลไทม์ นอกจากนี้คือเอดจ์ในระดับพื้นที่ทำงาน (work place) ซึ่งมีความต้องการมากขึ้นเพื่อตอบโจทย์การทำงานจากที่ใดก็ได้ ทั้งหมดนี้ทำให้บริษัทมั่นใจว่าโซลูชันของชไนเดอร์ อิเล็คทริคจะไปได้ดีในตลาดเอดจ์คอมพิวติ้งของไทย

ความบูมของเอดจ์คอมพิวติ้งนั้นเป็นผลจากการลดความล่าช้าของศูนย์ข้อมูลได้ การตั้งโซลูชันเอดจ์คอมพิวติ้งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการประมวลผลข้อมูลมหาศาลจากปลายทาง หรือจุดที่มีการเกิดขึ้นของข้อมูลมากที่สุด เพื่อลดความหน่วง (latency) ที่เกิดขึ้นเมื่อต้องอาศัยการประมวลผลข้อมูลจากดาต้าเซ็นเตอร์เพียงแห่งเดียว เอดจ์คอมพิวติ้งยังได้ปัจจัยบวกจากการเกิดขึ้นของบริการ 5G ที่ยิ่งช่วยเสริมศักยภาพและโอกาสให้แก่หลายอุตสาหกรรมได้ใช้ประโยชน์จากระบบอัตโนมัติมากขึ้น แต่ปริมาณงานที่สูงขึ้น และการเพิ่มขึ้นของข้อมูลที่รวดเร็ว ทำให้ผู้เชี่ยวชาญด้านไอทีต้องเริ่มปรับใช้ไอทีแบบกระจายศูนย์ที่มีไซต์งานเอดจ์คอมพิวติ้งหลากหลายไซต์ ซึ่งโดยปกติมักจะไม่ค่อยมีเจ้าหน้าที่ประจำไซต์ จึงมีความจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีเพื่อป้องกันไม่ให้ระบบไม่ล้มเหลวเมื่อจำเป็นต้องใช้งาน

EcoStruxure Micro Data Center C Series ตู้แร็คที่ทำให้องค์กรไม่จำเป็นต้องสร้างห้องไอที
สิ่งที่ชไนเดอร์ อิเล็คทริคทำมาตลอดคือ การพัฒนาโซลูชันเพื่อรองรับการใช้งานทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ ที่ช่วยให้ความยืดหยุ่นในการใช้งานทั้งหมดสอดประสานการทำงานกับฮาร์ดแวร์ของบริษัท (Connecting Product) ได้อย่างเป็นหนึ่งเดียว ทั้งการมอนิเตอร์ และการควบคุมระยะไกล ระบบรักษาความปลอดภัย ชไนเดอร์ อิเล็คทริคพัฒนาเป็น “EcoStruxure” สถาปัตยกรรมที่ทำให้องค์กรสามารถดูแลประสิทธิภาพของโซลูชันเอดจ์ได้โดยไม่ต้องเข้าไปที่ไซต์งาน แม้ว่าองค์กรนั้นจะใช้ผลิตภัณฑ์ของผู้ผลิตรายอื่นผสมผสานกันก็ตาม

ล่าสุด ชไนเดอร์ อิเล็คทริค อัปเดตสินค้ากลุ่ม EcoStruxure ใหม่ด้วย EcoStruxure Micro Data Center C Series ตู้แร็คสำหรับการใช้งานแบบเอดจ์ขนาดใหม่ ให้ความจุถึง 43U โดดเด่นด้วยความจุสูงสุดในสายไมโครดาต้าเซ็นเตอร์ ของชไนเดอร์ อิเล็คทริค เหมาะสำหรับตลาดคอมเมอร์เชียลและสำนักงาน โดยมาพร้อมเทคโนโลยีทำความเย็นอัจฉริยะเพื่อการปกป้องที่เหนือชั้นและให้ประสิทธิภาพด้านพลังงานที่ดียิ่งขึ้น โดย C-Series รุ่นใหม่ ขนาด 43U เป็นโซลูชันเดียวในตลาดที่สลับโหมดทำความเย็นได้โดยอัตโนมัติใน 3 โหมด ตามความต้องการใช้งานระบบได้แบบเรียลไทม์ โดยช่วยให้ลูกค้าประยุกต์ใช้ไอทีในสภาพแวดล้อมเอดจ์คอมพิวติ้ง หรือคอมเมอร์เชียลได้ง่าย ปลอดภัย และให้ความเสถียร โดยเป็นโซลูชันที่มีขนาดใหญ่สุด เป็นโมเดลที่ใช้งานได้อย่างสมบูรณ์ ทำให้ไม่จำเป็นต้องสร้างห้องไอที ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการลงทุนถึง 48 เปอร์เซ็นต์ ใช้เวลาน้อยลง 20 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ ยังช่วยให้ผู้ใช้ประหยัดค่าใช้จ่ายด้านวิศวกรรมได้ถึง 40 เปอร์เซ็นต์ และช่วยลดค่าซ่อมบำรุงได้ 7 เปอร์เซ็นต์

นอกจาก EcoStruxure ชไนเดอร์ อิเล็คทริคเปิดตัว Galaxy VL ขนาด 200-500 kW (400V/480V) ยูพีเอส ระบบไฟ 3 เฟส รุ่นล่าสุดในตระกูล Galaxy ที่มาในรูปโฉมขนาดกะทัดรัด ประสิทธิภาพสูง พร้อมวางจำหน่ายทั่วโลกแล้ว โดยให้ประสิทธิภาพในโหมด ECOnversion สูงถึง 99 เปอร์เซ็นต์ ช่วยให้คืนทุนได้ภายใน 2 ปี (ขึ้นอยู่กับรุ่น) มาพร้อม Live Swap นับเป็นการบุกเบิกฟีเจอร์ที่เป็นดีไซน์แบบ touch-safe ออกแบบมาเพื่อให้ความปลอดภัยตลอดกระบวนการในเวลาที่ต้องสัมผัส เพื่อใส่เพิ่มหรือเปลี่ยนโมดูลพลังงานในขณะที่ยูพีเอสกำลังออนไลน์และกำลังทำงานอย่างเต็มรูปแบบ ช่วยยกระดับความสามารถในการดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง และไม่เกิดดาวน์ไทม์ นอกจากนี้ การออกแบบที่ให้การสัมผัสที่ปลอดภัยแบบ Live Swap ยังช่วยเพิ่มการปกป้องให้เจ้าหน้าที่โดยไม่ต้องถ่ายโอนยูพีเอสเพื่อนำไปซ่อมบำรุง (Maintenance Bypass) หรือในการทำงานของแบตเตอรี่ ระหว่างการใส่หรือนำโมดูลพลังงานออกไป เหมาะสำหรับดาต้าเซ็นเตอร์ ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ รวมถึงโรงงานอุตสาหกรรม หรืออาคารพาณิชย์

Galaxy VL ปรับใหม่ให้มีขนาดเล็กลง
หนึ่งในจุดเด่นของ Galaxy VL คือการรองรับแบตเตอรี่ลิเธียม-ไอออนซึ่งจะเป็นอนาคตของ UPS จุดนี้ผู้บริหารระบุว่าตลาด UPS กำลังเปลี่ยนผ่านสู่ยุคโซลูชันแบตเตอรี่ลิเธียม-ไอออนเพราะข้อดีเรื่องอายุการใช้งานที่นานกว่าแบตเตอรี่ดั้งเดิม ขนาดที่เล็กกว่า รวมถึงราคาไม่ตอบโจทย์ เบื้องต้น เห็นความต้องการในช่วงปีนี้มากพอสมควร เชื่อว่าจะเป็นแนวโน้มหลักในดาต้าเซ็นเตอร์ขนาดใหญ่ ภายใน 2 ปีจะมีส่วนแบ่งตลาดที่ชัดเจนแน่นอน

Galaxy VL ไม่ใช่ยูพีเอสรุ่นแรกของชไนเดอร์ อิเล็คทริคที่รองรับแบตเตอรี่ลิเธียม-ไอออน โดยก่อนหน้านี้ มีการปรับใช้กับโซลูชันแบตเตอรี่หลากหลายอยู่แล้ว ทั้งหมดนี้บริษัทย้ำแนวทางการโฟกัสที่การเป็นแพลตฟอร์มระบบเปิด สามารถใช้งานร่วมกับผู้ผลิตรายอื่นที่ไม่ใช่ ชไนเดอร์ อิเล็คทริคได้


กำลังโหลดความคิดเห็น