xs
xsm
sm
md
lg

สภาดิจิทัลฯ ผนึก 36 พันธมิตร-แพทยสภา ประกาศความพร้อมนำนวัตกรรมดิจิทัลช่วยโรงพยาบาลสนามรับมือโควิด-19

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สภาดิจิทัลฯ ร่วมมือกับ 36 พันธมิตร และแพทยสภา นำศักยภาพด้านเทคโนโลยีดิจิทัลสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ และโรงพยาบาลสนามฝ่าวิกฤตโควิด-19 ผ่าน 3 รพ. ต้นแบบ จุฬาฯ-กรมแพทย์ทหารอากาศ-ธรรมศาสตร์ ด้วย “SMART FIELD HOSPITALS”

สำหรับ 3 วัตถุประสงค์สำคัญที่สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย วางไว้คือ 1.การเพิ่มความปลอดภัยและลดความเสี่ยงให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ และผู้ป่วยในโรงพยาบาลสนาม 2.การเชื่อมโยงเทคโนโลยีระหว่างโรงพยาบาลสนาม รวมถึงการดูแลตัวเองต่อที่บ้าน และ 3.การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมของพันธมิตรในอุตสาหกรรมดิจิทัล เพื่อบรรเทาผลกระทบในสถานการณ์วิกฤต

โดยเริ่มต้นกับ 3 โรงพยาบาลสนาม ได้แก่ โรงพยาบาลสนาม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โรงพยาบาลสนามกองทัพอากาศ ดอนเมือง และโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ การผนึกกำลังทุกภาคส่วนในครั้งนี้จะสนับสนุนภาครัฐในการเป็นส่วนเสริมภารกิจในการฉีดวัคซีนในลำดับต่อไปร่วมกับแพทยสภาอีกด้วย ทั้งนี้สภาดิจิทัลฯ จะประสานและให้การสื่อสารผ่านแพลตฟอร์ม และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง ให้เกิดการเข้าถึง และตอบสนองความต้องการเพิ่มเติมของโรงพยาบาล และโรงพยาบาลสนาม ร่วมกับแพทยสภาอย่างเต็มที่และต่อเนื่อง

นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สถานการณ์ครั้งนี้เป็นวาระแห่งชาติที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันเพื่อให้ประเทศไทยก้าวผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกัน

“สภาดิจิทัลฯ เชื่อว่า ดิจิทัลเทคโนโลยีจะเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือสำคัญที่จะเป็นโซลูชันสนับสนุนการทำงานของหน่วยงานต่างๆ ให้มีความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพเพิ่มยิ่งขึ้น โดยเฉพาะช่วยแบ่งเบาภาระของบุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นกำลังสำคัญในการรับมือภาวะวิกฤตขณะนี้”

เบื้องต้น ในการเข้าไปสนับสนุนคือการนำโซลูชัน “SMART FIELD HOSPITALS” เข้าไปช่วยเสริมการสื่อสารระหว่างแพทย์กับคนไข้ รวมถึงโรงพยาบาลหลักกับโรงพยาบาลสนามให้ปลอดภัย

ประกอบไปด้วย 1.อุปกรณ์อัจฉริยะ (Smart Device) ที่ถูกออกแบบมาให้ใช้งานง่ายเหมาะสมกับประชาชนทั่วไป สำหรับผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ใช้ 2.ระบบเฝ้าติดตามอาการและการเก็บข้อมูลที่ปลอดภัย (Secure Patient Monitoring & Records) โดยเจ้าหน้าที่ไม่ต้องสัมผัสใกล้ชิด และระบบบันทึกข้อมูลของผู้ป่วยที่ปลอดภัย ได้มาตรฐาน

3.ระบบนัดหมายและสื่อสาร (Scheduling & Communication) รองรับการนัดหมายและการจัดคิวในการสื่อสารระหว่างแพทย์และผู้ป่วย 4.การลดความเครียดและให้ความรู้ (Stress Relief & Education) ด้วยสื่อบันเทิงเพื่อลดความเครียดและให้ความรู้ผู้ป่วยระหว่างอยู่ใน รพ.สนาม

5.ระบบเฝ้าติดตามสภาพแวดล้อมและ รพ.สนาม (Environment & Facility Monitoring) เช่น ระดับแสง อุณหภูมิ ระดับความชื้นของพื้นที่ และ รพ.สนามเพื่อรายงานแก่เจ้าหน้าที่เพื่อประเมินสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับผู้ป่วย และ 6.โครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล (Digital Infrastructure : Network and Data Centers) รองรับการประมวลข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ การสื่อสารที่รวดเร็วและปลอดภัย


กำลังโหลดความคิดเห็น