หัวเว่ยวางเป้าหมายใช้ระบบปฏิบัติการฮาร์โมนีโอเอส (HarmonyOS) ของตัวเองบนอุปกรณ์ จำนวน 300 ล้านชิ้นภายในปีนี้ ฝันไกลได้ร่วมงานกับพาร์ตเนอร์ในแวดวงอุตสาหกรรม เพื่อสร้างอีโคซิสเต็มที่แข็งแกร่งให้แก่ HarmonyOS
ดร.หวัง เฉิงลู่ ประธานกลุ่มวิศวะซอฟต์แวร์กลุ่มธุรกิจเพื่อผู้บริโภค และผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจ AI และความอัจฉริยะของหัวเว่ย (Huawei Consumer BG Software Engineering Dept President and AI and All-scenario Intelligence Business Unit Director) ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ภายใต้แนวคิดเกี่ยวกับการเชื่อมต่อเพื่อชีวิตที่ง่ายยิ่งขึ้นในงาน TEDxHouHai ภายใต้หัวข้อ “ใช้แรงกดดันเป็นตัวขับเคลื่อน (Driven by Pressure)” โดยชี้ให้เห็นว่าอุตสาหกรรมอินเทอร์เน็ตมือถือซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่โทรศัพท์สมาร์ทโฟนกำลังเข้าสู่ช่วงของการเปลี่ยนผ่าน และยังได้กล่าวด้วยว่าการพัฒนาอย่างรวดเร็วของอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่งหรือ IoT นั้นจะเป็นโอกาสที่ยิ่งใหญ่สำหรับการเปลี่ยนโฉมหน้าของภาคอุตสาหกรรม
“เทคโนโลยีนั้นมีพลังที่จะเปลี่ยนโลกได้ การพัฒนาอย่างรวดเร็วของอินเทอร์เน็ตมือถือทำให้เกิดรูปแบบธุรกิจใหม่ๆ เช่น การใช้จ่ายแบบไร้เงินสด การซื้อของออนไลน์ และบริการเรียกรถผ่านแอปพลิเคชัน ซึ่งทั้งหมดนี้ได้เปลี่ยนวิถีชีวิตของเราไปอย่างสิ้นเชิง” ดร.หวัง เฉิงลู่ กล่าว
อย่างไรก็ตาม หัวเว่ยมองว่าอุตสาหกรรมอินเทอร์เน็ตมือถือซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่สมาร์ทโฟนกำลังพบกับแรงกดดัน ยอดขายของสมาร์ทโฟนทั่วโลกเริ่มลดลง ในปี พ.ศ.2561 และในปี พ.ศ.2563 ก็มีอัตราการเติบโตที่ลดลงจนอยู่ที่ 6% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า นอกจากนี้ ระยะเวลาเฉลี่ยที่ผู้บริโภคใช้งานโทรศัพท์มือถือก็คงที่อยู่ในระดับ 4-5 ชั่วโมงต่อวันมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2561 แล้ว แสดงให้เห็นว่าอุตสาหกรรมได้เดินมาถึงจุดเปลี่ยนและจำเป็นที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลง
“แล้วอะไรคือโอกาสในการพัฒนาสำหรับยุคต่อไป การแสวงหานวัตกรรมทางเทคโนโลยีของเราไม่เคยสิ้นสุด เนื่องจากผู้คนเป็นเจ้าของอุปกรณ์อัจฉริยะกันมากขึ้น เราจึงต้องการให้อุปกรณ์เหล่านี้ทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นแทนที่จะทำงานแยกกัน เป้าหมายของเราคือทำให้การเชื่อมต่อแบบเป็นอันหนึ่งอันเดียวกลายเป็นความจริง และเปลี่ยนให้อุปกรณ์อัจฉริยะทั้งหลายสามารถทำงานร่วมกันได้ กลายเป็นผู้ช่วยอัจฉริยะเพียงหนึ่งเดียว”
ผู้บริหารหัวเว่ยยกตัวอย่างกรณีที่สมาร์ทวอทช์ตรวจจับได้ว่าผู้ใช้งานหลับไปแล้ว แสงไฟในห้องก็จะดับลงโดยอัตโนมัติ และเครื่องปรับอากาศก็จะปรับอุณหภูมิอัตโนมัติเพื่อให้นอนหลับสบายยิ่งขึ้น ประสบการณ์เช่นนี้จะทำให้เหมือนคุณมีผู้ช่วยส่วนตัวอยู่ที่บ้าน แต่เนื่องจากอุปกรณ์แต่ละชิ้นทำงานอยู่บนระบบปฏิบัติการที่แตกต่างกัน การจะทำให้ทุกอุปกรณ์เชื่อมโยงถึงกันจึงเป็นเรื่องยาก และการจะไปให้ถึงระดับที่มีการเชื่อมต่อถึงกันอย่างอัจฉริยะยิ่งยากขึ้นไปอีก ดังนั้น การจะสร้างวิถีชีวิตที่ทุกสิ่งเชื่อมโยงถึงกันทั้งหมดได้นั้น อุปกรณ์ต่างๆ จะต้องสื่อสารด้วยภาษาเดียวกัน
HarmonyOS คือระบบปฏิบัติการที่หัวเว่ยหวังจะทำให้อุปกรณ์ต่างๆ สื่อสารถึงกันด้วยภาษาเดียว โดยบอกว่าระบบปฏิบัติการแห่งยุคใหม่อย่าง HarmonyOS จะทำให้อุปกรณ์อัจฉริยะเชื่อมต่อกันและทำงานร่วมกันได้บนภาษาเดียว ซึ่งจะทำให้อุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกันและทำงานร่วมกันได้นั้นมีจำนวนมากขึ้นเป็นประวัติการณ์ ส่งมอบประสบการณ์การใช้งานที่ไร้รอยต่อและเป็นมิตรต่อผู้ใช้ในอุปกรณ์ทุกรูปแบบ
ขณะเดียวกัน HarmonyOS ยังขับเคลื่อนการยกระดับเทคโนโลยีอัจฉริยะของผู้ผลิตฮาร์ดแวร์ และทำให้เกิดการใช้งานอุปกรณ์อัจฉริยะอื่นๆ นอกเหนือจากสมาร์ทโฟน ซึ่งความเคลื่อนไหวเหล่านี้ล้วนผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคเทคโนโลยีอัจฉริยะและดิจิทัลในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ อีกมากมาย
ดร.หวัง เฉิงลู่ ทิ้งท้ายว่า หัวเว่ยมีเป้าหมายที่จะใช้ HarmonyOS บนอุปกรณ์จำนวน 300 ล้านชิ้นภายในปีนี้ และหวังว่าจะได้ร่วมงานกับพาร์ตเนอร์ในแวดวงอุตหสากรรม เพื่อสร้างอีโคซิสเต็มที่แข็งแกร่งให้แก่ HarmonyOS ซึ่งจะช่วยสานฝันให้แก่ผู้คนจำนวนมากผ่านเทคโนโลยีและทำให้ผู้บริโภคได้มีชีวิตที่เรียบง่ายขึ้นและดียิ่งขึ้นกว่าเดิม