xs
xsm
sm
md
lg

ถึงยุค BaaS บูม! Veeam มั่นใจบริการสำรองข้อมูล Backup as a Service โต 43% ภายใน 3 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วีม (Veeam) มั่นใจยุคข้อมูลเยอะขึ้นส่งผลดีกับบริษัท ชี้องค์กรต้องดูแลข้อมูลให้มากขึ้นและเก็บรักษาดีมากขึ้นจะส่งผลให้ Veeam ขายได้ดีขึ้น พบตลาดบริการสำรองข้อมูล Backup as a Service มีแนวโน้มโต 43% ภายใน 3 ปี เป็นการบูมท่ามกลางปัญหาเพราะผลสำรวจล่าสุดชี้ว่าผู้บริหารระดับสูงถึง 58% พบปัญหาความล้มเหลวในการสำรองข้อมูล สะท้อนถึงความท้าทายในการป้องกันข้อมูลสำคัญขององค์กรและเป็นข้อจำกัดในเปลี่ยนผ่านสู่โลกดิจิทัล

นายเดฟ รัสเซล รองประธานฝ่ายกลยุทธ์องค์กร เผยถึงรายงาน Veeam Data Protection Report ประจำปี 2021 ว่าการสำรวจพบสถานการณ์ COVID-19 ส่งผลกระทบอย่างชัดเจนต่อการลงทุนเพื่อเปลี่ยนผ่านสู่โลกสู่ดิจิทัล (Digital Transformation) โดยองค์กรทั่วโลกถึง 40% มองว่าความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจเป็นอุปสรรคสำคัญในอีก 12 เดือนข้างหน้า และหนึ่งในสามขององค์กรต่างชะลอหรือเลือกที่จะหยุดกระบวนการปรับเปลี่ยนดังกล่าวไว้ก่อนในช่วงปีที่ผ่านมา

"องค์กรถึง 58% ไม่สามารถสำรองข้อมูลได้สำเร็จหรือปล่อยข้อมูลไว้โดยไม่ได้รับการป้องกัน” เดฟ ระบุ "หลังจากที่โลกต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของ COVID-19 และสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ผันผวน ผู้บริหารระดับสูงขององค์กรถึง 40% ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่านี่คืออุปสรรคครั้งใหญ่ในการเปลี่ยนผ่านสู่โลกดิจิทัลในช่วง 12 เดือนจากนี้ ระบบการป้องกันข้อมูลที่ไม่แข็งแกร่งผนวกกับความท้าทายเรื่องความอยู่รอดของธุรกิจได้กลายมาเป็นความกังวลที่แพร่ไปในหลายองค์กร จนถึงขั้นที่จำเป็นต้องเลือกที่จะชะลอกระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิทัลไว้ก่อน"

รายงานการสำรวจนี้จัดทำขึ้นโดย Veeam Software บริษัทผู้ทำตลาดโซลูชันระบบสำรองข้อมูลทั้งบนดาต้าเซ็นเตอร์และบนระบบคลาวด์ Veeam การันตีตัวเองเป็นแพลตฟอร์มสำหรับการสำรองข้อมูลที่ทันสมัย การเพิ่มความเร็วระบบคลาวด์แบบไฮบริด และการรักษาความปลอดภัยข้อมูล ท่ามกลางลูกค้ามากกว่า 400,000 รายทั่วโลก มีสำนักงานอยู่ในมากกว่า 30 ประเทศ


การสำรวจ Veeam Data Protection Report 2021 ได้รับความร่วมมือจากผู้บริหารองค์กรด้านไอทีจำนวน 3,000 คน (ในองค์กรที่มีพนักงานมากกว่า 1,000 คน) จาก 28 ประเทศรวมไทย เบื้องต้น พบสองในสาม (66%) ขององค์กรในไทยมี “availability gap” ช่วงเวลาพร้อมใช้งานระหว่างความเร็วในการกู้คืนแอปพลิเคชันและความเร็วที่จำเป็นจะต้องกู้คืนมาให้ได้ สัดส่วนนี้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก (80%) ขณะที่เกือบสองในสาม (63%) ขององค์กรในไทยมี “protectiongap” หรือช่วงเวลาจริงในการทำงาน ระหว่างความถี่ในการทำสำรองข้อมูล และปริมาณการสูญเสียข้อมูลที่ยอมรับได้หากระบบหยุดทำงาน เป็นสัดส่วนที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก (76%) เช่นกัน

ไทยกังวลเศรษฐกิจ

การสำรวจชี้ว่าองค์กรไทยมองว่าความท้าทายที่ส่งผลกระทบต่อกระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่โลกดิจิทัลของตัวเองในช่วง 12 เดือนจากนี้ คือความผันผวนทางเศรษฐกิจ (38%) มากกว่าเรื่องความไม่แน่นอนทางภูมิศาสตร์การเมือง (35%) และความพยายามในการตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า (35%)

ในมุมของ COVID-19 วิกฤตโรคระบาดส่งผลกระทบอย่างหนักต่อการเปลี่ยนแปลงสู่โลกดิจิทัล Digital Transformation (DX) ทำให้องค์กรในไทยอย่างน้อยเกือบสองในสาม (64%) หันมาเร่งรัดกระบวนการนี้ ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก (54%)


การสำรวจพบว่า 97% ขององค์กรในไทยกล่าวว่า กระบวนการเปลี่ยนสู่โลกดิจิทัลประสบอุปสรรคที่มาสกัดความคืบหน้า รวมทั้งกระบวนการดูแลระบบปฏิบัติการระหว่างการแพร่ระบาด (59%) ขาดแคลนบุคลากรที่มีทักษะ (55%) และต้องพึ่งพาระบบดั้งเดิม (52%)

กว่าครึ่ง (51%) ขององค์กรในไทยกล่าวว่า การสูญเสียความเชื่อมั่นของลูกค้าถือเป็นผลกระทบจากแอปพลิเคชันดาวน์ไทม์ที่น่าสะพรึงที่สุด เกือบครึ่ง (45%) กังวลความเสียหายต่อแบรนด์ และ (45%) อาจจะส่งผลให้พนักงานเองก็เสียความเชื่อมั่นในองค์กรด้วยเช่นกัน

สาเหตุของการที่ระบบไอทีใช้การไม่ได้ตามที่องค์กรในไทย 2 ปีที่ผ่านมาเป็นเพราะปัญหาฮาร์ดแวร์ 60% และปัญหาไซเบอร์ซิเคียวริตี 58%

ปัจจุบัน มากกว่าหนึ่งในสี่ (27%) ขององค์กรในไทยใช้ระบบสำรองข้อมูลบนคลาวด์ (cloud-based backup) ที่บริหารจัดการโดยผู้ให้บริการสำรองข้อมูล (Backup as a Service) หรือ BaaS ซึ่งคาดว่าจะขยายตัวขึ้น 43% ภายในปี 2023 และเกือบสองในห้า (39%) ขององค์กรเห็นว่าการทำ Disaster Recovery ผ่านคลาวด์เซอร์วิสเป็นอีกแนวทางการป้องกันข้อมูลยุคใหม่ที่มีความทันสมัย

สถิติโลกไปทางเดียวกัน

สถิติองค์กรไทยแตกต่างจากสถิติโลกในหลายส่วน แต่สิ่งที่ไปทางเดียวกันคือการปกป้องข้อมูลอย่างเร่งด่วนกำลังเป็นสิ่งจำเป็นผลการสำรวจพบว่า องค์กรทั่วโลกบางส่วนยังไม่มีความพร้อมรองรับกระบวนการเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัล ทำให้เกิดความเสี่ยงในความต่อเนื่องในการดำเนินธุรกิจที่อาจส่งผลกระทบที่รุนแรงทั้งต่อชื่อเสียงและผลการดำเนินงาน โดย 14% ยอมรับว่าข้อมูลทั้งหมดไม่ได้รับการสำรองไว้อย่างถูกต้องและอีก 58% บอกว่าเกิดความล้มเหลวในการเรียกคืนข้อมูลกลับมา


ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา 95% ขององค์กรเผชิญเหตุการณ์ที่เซิร์ฟเวอร์หนึ่งในสี่หยุดทำงานอย่างน้อย 1 ครั้งในรอบปีส่งผลกระทบในเรื่องของดาวน์ไทม์และทำให้ข้อมูลสูญหายบ่อยเกินไป ทำให้กระทบต่อประสิทธิภาพในการทำธุรกิจ และผู้บริหารระดับสูงมากกว่าครึ่งบอกว่าปัญหานี้นำไปสู่การสูญเสียความเชื่อมั่นต่อองค์กร ทั้งจากลูกค้า พนักงาน และผู้ถือหุ้นได้

Veeam มองว่ามีสาเหตุอยู่ 2 ประการที่ทำให้การสำรองและเรียกคืนข้อมูลนั้นทำงานล้มเหลว ประการแรกคือการสำรองข้อมูลที่จบลงด้วยความผิดพลาดจากการกำหนดขอบเขตข้อมูลที่มากเกินไป และสองการเรียกคืนข้อมูลที่ทำไม่ได้ตามข้อตกลงที่ได้ทำกันไว้ ดังนั้น การสำรองข้อมูลล้มเหลวก็จะไม่ได้รับการป้องกัน ซึ่งเป็นความกังวลสำหรับธุรกิจเนื่องจากผลกระทบจากการสูญหายของข้อมูลย่อมส่งผลลบต่อความเชื่อมั่นของลูกค้า ไปจนถึงราคาหุ้นขององค์กรที่ลดลง

การมาของ COVID-19 ทำให้ 91% ขององค์กรที่ตอบแบบสำรวจระบุว่า ได้เพิ่มบริการบนคลาวด์ของบริษัทไปตั้งแต่ช่วงเดือนแรกของการระบาดและส่วนใหญ่ก็ยังดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยมีองค์กรถึง 60% ที่วางแผนจะเพิ่มบริการบนคลาวด์ให้มากขึ้นในการวางยุทธศาสตร์ด้านไอทีต่อไป ในขณะที่องค์กรธุรกิจนั้นตระหนักถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการเปลี่ยนสู่โลกดิจิทัลในช่วง 12 เดือนข้างหน้า แต่มีองค์กร 40% ที่ยอมรับว่าความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจเป็นหนึ่งในอุปสรรคต่อการเปลี่ยนผ่านสู่โลกดิจิทัลในอนาคต

ขาดทักษะ

การสำรวจยังพบว่า 30% ของผู้ตอบแบบสำรวจยอมรับว่ากระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่โลกดิจิทัลเกิดอาการสะดุดหรือหยุดไว้ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา อุปสรรคนั้นมีหลายรูปแบบรวมถึงทีมงานไอทีเองที่เน้นไปที่เรื่องของการดูแลระบบมากเกินไปในช่วงการระบาดของไวรัสถึง 53% หรือจะเป็นการพึ่งพาระบบไอทีเดิมในองค์กรที่มีถึง 51% และการที่เจ้าหน้าที่ขาดทักษะในการนำเทคโนโลยียุคใหม่มาใช้พบถึง 49% ทำให้ในอีก 12 เดือนข้างหน้าผู้บริหารด้านไอทีจำเป็นต้องวางแผนการเปลี่ยนถ่ายสู่โลกดิจิทัลกันใหม่อีกครั้ง โดยปัญหาต้องได้รับการแก้ไขทันทีสำหรับเรื่องการป้องกันข้อมูลในสถานการณ์ฉุกเฉินที่เกิดขึ้น โดยเกือบหนึ่งในสามขององค์กรนั้นมองไปที่การย้ายไปสู่ระบบคลาวด์

ภายในปี 2023 การสำรวจของ Veeam เชื่อว่า 77% ของธุรกิจทั่วโลกจะเลือกใช้ระบบสำรองข้อมูลขั้นแรกที่อยู่บนคลาวด์ เพื่อให้มั่นใจในศักยภาพของการสำรองข้อมูลมากขึ้น ลดต้นทุนการบริหารจัดการ ลดงานของฝ่ายไอทีและมีเวลามาดูแลงานด้านการปรับองค์กรสู่โลกดิจิทัล ที่จะช่วยให้ธุรกิจนั้นสามารถก้าวสู่เศรษฐกิจยุคดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เจษฏา ภาสวรวิทย์
เจษฏา ภาสวรวิทย์ ผู้จัดการประจำประเทศไทย จาก Veeam เชื่อว่า ภาวะนี้ส่งผลดีกับบริษัท เพราะองค์กรต้องดูแลข้อมูลให้มากขึ้น รวมถึงต้องมีการเก็บข้อมูลที่ดีขึ้น Veeam จึงมีโอกาสขยายธุรกิจได้เติบโต การเติบโตนี้จะเป็นตัวเร่งให้ Veeam มีการพัฒนาตัวเองให้มีโซลูชันครอบคลุมลูกค้าในปัจจุบันและอนาคต

เจษฏา ทิ้งท้ายว่า บริษัทกำลังเดินหน้าเจรจาร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในไทย เพื่อพัฒนาโครงการให้ความรู้นึกศึกษาเรื่องเทคโนโลยีการสำรองข้อมูล เชื่อว่าจะช่วยบรรเทาปัญหาขาดแคลนบุคลากรในไทยได้ในเบื้องต้น

"ความน่าสนใจคือตลอด 3 ปีที่ Veeam ทำตลาดไทยมา ทุกองค์กรทั้งเล็กและกลางมองว่าข้อมูลสำคัญไม่แพ้องค์กรขนาดใหญ่ และตอนนี้ไม่ได้มองแยก แต่หลายองค์กรมองภาพใหญ่ซึ่งรวมการสำรองและป้องกันความปลอดภัยลงไปด้วย กลายเป็นอีโคซิสเต็มมากขึ้น สิ่งที่เกิดมาแล้วและจะเกิดต่อไปคือข้อมูลจะมากขึ้น จำเป็นที่จะต้องไปดิจิทัล ชัดเจนว่า 100% องค์กรจะต้องไปคลาวด์ ไปดิจิทัลทรานสฟอร์เมชัน ซึ่งถ้าไม่มีโควิด-19 ลูกค้าของ Veeam อาจจะเพิ่มมากกว่านี้”
กำลังโหลดความคิดเห็น