xs
xsm
sm
md
lg

ระบบอัตโนมัติคือความสำเร็จ บนเส้นทางทรานส์ฟอร์มสู่ดิจิทัลขององค์กร / กวินธร ภู่ตระกูล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


บทความโดย กวินธร ภู่ตระกูล ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท เร้ดแฮท (ประเทศไทย) จำกัด
ความท้าทายของธุรกิจในปัจจุบันคือจำเป็นต้องดำเนินงานให้ฉับไวมากขึ้นกว่าในอดีต ใช้ทรัพยากรน้อยลง ทั้งด้านงบประมาณและบุคลากร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงกลางปี 2563 ซึ่งบุคลากรจำนวนมากต้องทำงานจากบ้านในช่วงที่โควิด-19 แพร่ระบาด ส่งผลให้ฝ่ายไอทีขององค์กรหลายแห่งต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินงานและทบทวนขีดความสามารถในการให้บริการแก่ลูกค้าและการขยายธุรกิจให้เติบโตในช่วงสถานการณ์ความไม่แน่นอน ทางออกของความท้าทายนี้อาจเป็นระบบอัตโนมัติ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ยังไม่ได้นำมาใช้งานอย่างเต็มศักยภาพ 

ระบบอัตโนมัติทางธุรกิจ : เริ่มต้นที่คำจำกัดความ

คำจำกัดความของระบบอัตโนมัติทางธุรกิจ (Business Automation) กำลังเปลี่ยนไป เนื่องจากองค์กรต่างๆ ได้หันไปให้ความสำคัญกับการปรับเปลี่ยนไปสู่ดิจิทัล ในอดีต องค์กรมักจะเน้นปรับเปลี่ยนกระบวนการทางธุรกิจให้เป็นอัตโนมัติ เช่น การจัดเก็บข้อมูล แต่ทุกวันนี้ องค์กรทุกแห่งต้องรับมือกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่เกิดจากเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Disruption) และจำเป็นต้องนำระบบอัตโนมัติต่างๆ มาใช้ เพื่อช่วยทรานส์ฟอร์มธุรกิจสู่ดิจิทัล ก่อนหน้านี้ การใช้ระบบอัตโนมัติเน้นไปที่การปรับเปลี่ยนการทำงานต่างๆ ให้เป็นรูปแบบอัตโนมัติ แต่ปัจจุบันควรพิจารณานำระบบอัตโนมัติไปใช้ทางธุรกิจมากขึ้น เช่น การปรับเปลี่ยนแนวทางการพัฒนาแอปพลิเคชันแบบใหม่ให้สอดคล้องกับกระบวนการทางธุรกิจ แล้วจึงจัดโมเดลเหล่านี้ให้เป็นระบบที่ง่ายต่อการบำรุงรักษาและกระจายการทำงาน
 
แต่เดิมเทคโนโลยีต่างๆ เช่น การจัดการกระบวนการทางธุรกิจ (Business Process Management : BPM) การจัดการการตัดสินใจ (Decision Management) และการประมวลผลเหตุการณ์ที่ซับซ้อน (Complex Event Processing : CEP) ถูกนำมาใช้เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพและควบคุมค่าใช้จ่ายให้แก่ส่วนงานต่างๆ ภายในองค์กร แต่ปัจจุบัน เทคโนโลยีเหล่านี้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่รองรับการทรานส์ฟอร์มสู่ดิจิทัล การนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้ให้สอดคล้องกับเครื่องมือและแนวทางการพัฒนาโมเดิร์นแอปพลิเคชันแบบคลาวด์เนทีฟ จะช่วยให้องค์กรนำเสนอแอปพลิเคชันใหม่ๆ ออกสู่ตลาดได้เร็วขึ้น
 
บทบาทของระบบอัตโนมัติต่อการทำดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชัน

แม้ว่าความจำเป็นในการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันจะขึ้นอยู่กับความต้องการที่เฉพาะเจาะจงของแต่ละองค์กร แต่เป็นที่ชัดเจนว่าดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันคือกลยุทธ์สำคัญที่จะช่วยให้ธุรกิจอยู่รอดได้ในสภาพตลาดปัจจุบัน รายงานผลการศึกษาของไอดีซี ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากเร้ดแฮท ชี้ว่า บุคลากรฝ่ายไอที 86% ระบุว่า “ระบบอัตโนมัติมีความสำคัญอย่างมากหรือมีความสำคัญสูงสุดต่อกลยุทธ์ด้านคลาวด์ในอนาคตขององค์กร” แนวทางการสร้างระบบอัตโนมัติที่ครอบคลุมทั่วทั้งองค์กรจะต้องรวมถึงการปรับเปลี่ยนวิธีที่บุคลากร กระบวนการ และแพลตฟอร์มต่างๆ ทำงานร่วมกันด้วย


ตัวอย่างที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงคุณประโยชน์ของระบบอัตโนมัติก็คือ บริษัท แอสเซนด์ มันนี่ (Ascend Money) ของไทย ซึ่งเป็นบริษัทเทคโนโลยีด้านการเงินที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย มีลูกค้ากว่า 40 ล้านคนใน 6 ประเทศ แอสเซนด์ มันนี่เติบโตอย่างรวดเร็วจากการเข้าซื้อกิจการหลายแห่ง และการที่ทีมงานในแต่ละประเทศมีวิธีการพัฒนาและใช้ดิจิทัลแอปพลิเคชันแตกต่างกัน ส่งผลให้ไม่สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ บริษัทฯ ต้องการปรับปรุงประสิทธิภาพในการดำเนินงานด้วยการสร้างแพลตฟอร์มกลางสำหรับการพัฒนาและติดตั้งแอปพลิเคชัน แอสเซนด์ มันนี่ ได้กำหนดมาตรฐานเกี่ยวกับกระบวนการ และการให้บริการแอปพลิเคชันต่างๆ บน OpenShift Container Platform ของเร้ดแฮท ซึ่งทำงานอยู่บนเทคโนโลยี Kubernetes container orchestration นอกจากนี้ Ansible automation ยังช่วยให้แอสเซนด์ มันนี่ สามารถขยายผลิตภัณฑ์และบริการทางธุรกิจได้อย่างง่ายดาย เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างทันท่วงที

ระบบอัตโนมัติขับเคลื่อนนวัตกรรมทางธุรกิจ


การขยายระบบอัตโนมัติไปใช้ในกิจกรรมต่างๆ จะช่วยให้ทำงานแบบแมนนวลน้อยลง ทีมงานฝ่ายไอทีสามารถนำกระบวนการใหม่ๆ เช่น DevOps และ DevSecOps ไปใช้ได้ และสามารถพัฒนาและอัพเดตแอปพลิเคชันใหม่ๆ ได้อย่างรวดเร็ว

ระบบอัตโนมัติยังช่วยเรื่องการบริการตนเองหรือทำงานได้ด้วยตนเองและการมอบหมายงาน ในสถานการณ์ปัจจุบันที่ผู้คนจำนวนมากต้องทำงานภายใต้เงื่อนไขใหม่ๆ เช่น พนักงานจำนวนมากที่ทำงานจากระยะไกล ทำให้เราทุกคนล้วนได้รับแรงกดดันทั้งในเรื่องของทรัพยากรและเวลาที่จำกัด การมอบหมายงานและการทำงานได้ด้วยตนเองมีความสำคัญมากต่อการรับมือกับความท้าทายใหม่ๆ เหล่านี้


อย่างไรก็ตาม ทีมไอทีย่อมจะไม่สามารถเขียนโค้ดและสร้างผลิตภัณฑ์ได้หากขาดการตรวจสอบและการควบคุมที่เพียงพอ องค์กรอาจได้รับความเสี่ยงจากช่องโหว่ด้านความปลอดภัย และทำให้ต้องสิ้นเปลืองทรัพยากรที่มีค่า เวลา และเงินไปกับการแก้ปัญหาที่ไม่ควรจะเกิดขึ้นตั้งแต่แรก ดังนั้น ในการนำระบบอัตโนมัติมาใช้จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการกำกับดูแลว่า “ใครได้รับอนุญาตให้ทำอะไรได้บ้าง”

ก้าวต่อไป : ระบบอัตโนมัติที่ขับเคลื่อนด้วย AI

ปัจจุบันระบบอัตโนมัติช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนบุคลากรด้านไอที และเพิ่มความคล่องตัวในการสร้างสรรค์นวัตกรรม ปรับปรุงประสิทธิภาพ เพิ่มความน่าเชื่อถือ ยกระดับขีดความสามารถด้านการคาดการณ์ ควบคู่ไปกับการลดค่าใช้จ่าย ความผันผวน และความเสี่ยง

เทคโนโลยีและรูปแบบการใช้งานสำหรับระบบอัตโนมัติทางธุรกิจมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ผู้รับผิดชอบด้านเทคโนโลยีที่ต้องประเมินแนวทางที่ดีที่สุดในการขับเคลื่อนความคล่องตัวทางธุรกิจ ควรมองหาโซลูชันที่ช่วยให้ผู้ใช้สามารถจัดการนโยบาย การบังคับใช้ และกระบวนการได้ในระดับโดเมน การแก้ไขปัญหาต่างๆ ในเวลาเดียวกัน ณ จุดเดียว จะช่วยให้ปรับขยายการทำงานได้ง่าย ควบคู่กับการใช้เวลาที่ลดลง เพื่อช่วยให้องค์กรสามารถจัดสรรทรัพยากรให้แก่โครงการสำคัญๆ ได้มากขึ้น หากการปรับตัวคือเป้าหมายหลักในปี 2563 ในปี 2564 องค์กรก็ควรยกระดับมาพิจารณานำระบบอัตโนมัติทางธุรกิจมาเป็นส่วนหนึ่งของโรดแมปการทรานส์ฟอร์มสู่ดิจิทัล


กำลังโหลดความคิดเห็น