กระทรวงดีอีเอส เตรียมยื่นขอกูเกิล และแอปเปิล ถอดแอปผิดกฎหมายจากระบบ หลังตัวแทนกลุ่มเหยื่อแอปเงินกู้ผิดกฎหมายยื่นหนังสือร้องทุกข์ วอนประชาชนพบแอปต้องสงสัยแจ้งเบาะแสผ่านเพจอาสาจับตาออนไลน์
นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า ทางกระทรวงฯ ได้รับหนังสือร้องทุกข์จากกลุ่มผู้ได้รับความเสียหายจากการถูกโจรกรรมข้อมูลจากแอปพลิเคชันเงินกู้เถื่อน ที่ทำการกู้เงินจากแอปพลิเคชันผิดกฎหมาย และนำมาสู่การถูกข่มขู่ คุกคาม ประจาน เนื่องจากมีการโจรกรรมข้อมูลสำคัญในโทรศัพท์มือถือ
“จากข้อมูลที่ส่งมา กระทรวงฯ จะเร่งตรวจสอบ และประสานงานกับตำรวจในทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในการสืบสวนของตำรวจ จะมีขั้นตอนดำเนินงาน เช่น ทางเทคนิค จะมีการตรวจสอบว่าแอปเงินกู้ผิดกฎหมายนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร”
ขณะที่ในส่วนของตัวผู้กระทำผิด จะมีการตรวจสอบความเชื่อมโยงว่ามีความเกี่ยวข้องกันอย่างไรบ้าง อีกทั้งมีการตรวจสอบฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้องทุกด้านควบคู่กันไปด้วย โดยกระบวนการเหล่านี้ ทางเจ้าหน้าที่ยืนยันว่า จะรีบเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด เนื่องจากกรณีที่เกิดขึ้นได้สร้างความเสียหายในวงกว้าง
ทั้งนี้ บทบาทของกระทรวงฯ ในการทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาแอปพลิเคชันผิดกฎหมาย ปัจจุบันยังมุ่งเรื่องการตรวจสอบเป็นหลัก เนื่องจากแอปที่มีเปิดให้บริการอยู่ในประเทศไทย ซึ่งรวมถึงแอปเงินกู้ผิดกฎหมาย ที่สร้างความเสียหายกับประชาชนล่าสุดนี้ มีการยื่นขอไปทางผู้ให้บริการระบบปฏิบัติการมือถือ ได้แก่ แอปเปิล และกูเกล จึงเป็นข้อจำกัดของกระทรวงฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเฝ้าระวัง
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีเพจอาสาจับตาออนไลน์ ที่จะช่วยประชาสัมพันธ์ และรับแจ้งเบาะแสจากประชาชนว่า แอปพลิเคชันใดที่เข้าข่ายหลอกลวงหรือผิดกฎหมายในข้อต่างๆ สามารถแจ้งเข้ามาได้ทาง inbox คลิก m.me/DESMonitor โดยจะมีทีมงานของกระทรวงฯ และของเพจช่วยกันจับตา ตรวจสอบ และสอบสวนหาข้อมูลให้ได้
ส่วนการดำเนินการบล็อกโดเมน หรือปิดแอปผิดกฎหมาย/ไม่เหมาะสมอย่างที่เคยดำเนินการมาแล้วนั้น ถ้าจะถอดถอดแอปเหล่านี้ออกจากระบบต้องผ่านขั้นตอนการประสานงานกับทางกูเกิล (มือถือระบบแอนดรอยด์) หรือแอปเปิล (มือถือระบบ iOS) แต่ในเรื่องออนไลน์ต้องเข้าใจว่า มีการปิดและเปิดใหม่ได้ตลอด ดังนั้น เป็นเรื่องที่ประชาชนทุกคนต้องร่วมช่วยกันเป็นหูเป็นตา
“อยากให้ประชาชนมีความตระหนักและรู้เท่าทันว่า แอปให้บริการผิดกฎหมายประเภทนี้ อย่างเช่น แอปเงินกู้ เมื่อดาวน์โหลดมาแล้วพบว่า อัตราดอกเบี้ยมีลักษณะผิดแปลก และผิดกฎหมาย ก็ไม่ควรไปใช้เพื่อป้องกันความเสียหายต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นตามมา เพราะสุดท้ายแล้วเกิดความเสียหายทั้งเรื่องเงิน ข้อมูลส่วนบุคคล รวมถึงการถูกแบล็กเมล์”
ปัจจุบัน มีจำนวนผู้ได้รับความเสียหายกว่า 2,000 คน โดยแอปได้เข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลที่สำคัญของผู้กู้ ที่อยู่ในโทรศัพท์มือถือ ได้แก่ 1.รายชื่อผู้ติดต่อ 2.ไฟล์ภาพและวิดีโอต่างๆ 3.ธนาคารออนไลน์ (Mobile Banking) 4.ตำแหน่ง (Location) 5.กล่องข้อความ (SMS) 6.บัญชีเฟซบุ๊ก 7.บัญชีไลน์ โดยที่ฝังมัลแวร์ไว้ในโทรศัพท์มือถือ เมื่อผู้กู้ทำการติดตั้งแอปพลิเคชัน
ทั้งนี้ เมื่อถึงกำหนดชำระแล้ว หากผู้กู้ไม่ชำระยอดเงินกู้หรือเงินขยายเวลาตามกำหนด ทางแอปจะมีการโทรหรือส่งข้อมูลผ่าน SMS ไลน์ รวมถึงเฟซบุ๊ก โดยการแฮกข้อมูลและเข้าไปเปลี่ยนรหัสผ่านของผู้กู้โดยไม่ได้รับอนุญาต หรือนำเฟซบุ๊กของผู้เสียหายไปกระทำการโดยมิชอบ เพื่อเป็นการทวงถามโดยใช้วาจาไม่สุภาพ หยาบคาย ข่มขู่ คุกคามต่อชีวิต