การที่ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือในประเทศไทย เร่งขยายพื้นที่ให้บริการ 5G ซึ่งกลายเป็นเทคโนโลยีการสื่อสารยุคใหม่ที่เกิดขึ้น และช่วยให้ประเทศไทยก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำทางด้านโครงข่ายการติดต่อสื่อสารไร้สายภายในภูมิภาคอาเซียน
แต่ในอีกมุมหนึ่งก็ก่อให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับการที่คลื่นความถี่ที่นำมาใช้งาน เมื่อเป็นคลื่นความถี่ที่สูงขึ้น ทางโอเปอเรเตอร์ต้องมีการติดตั้งสถานีฐานเพิ่มขึ้นจำนวนมาก เพื่อให้ครอบคลุมกับการใช้งาน ว่าจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ใช้งานหรือไม่
ทาง IEEE (The Institute of Electrical and Electronics Engineers) ซึ่งเป็นสถาบันเกี่ยวกับวิศวกรรมไฟฟ้า และวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์นานาชาติ ได้ออกมาเปิดเผยรายงานที่ศึกษาถึงบทวิจัยต่างๆ เกี่ยวกับการแผ่คลื่นความถี่วิทยุ โดยเฉพาะคลื่นความถี่ที่นำมาใช้งานกับโครงข่าย 5G รวมถึงข้อมูลทางด้านเทคนิคที่เกี่ยวกับสุขภาพและความปลอดภัยของพลังงานแม่เหล็กไฟฟ้าจากโครงข่ายการสื่อสารไร้สาย 5G ที่พบว่า ระดับความแรงของตัวคลื่นที่นำไปใช้งานทั้งในกลุ่มของ Sub-6 หรือคลื่นความถี่ย่านที่ต่ำกว่า 6 GHz ลงไป จนถึงคลื่นความถี่ในระดับ mmWave (Milimeter Wave : คลื่นมิลลิเมตร) ที่ในความเป็นจริงยังไม่สามารถเดินทางทะลุผ่านใบไม้ และตัวอาคารได้ดีเท่ากับคลื่นความถี่ต่ำนั้น ทั้ง 2 คลื่นความถี่ที่ใช้งานยังอยู่ในภายในเกณฑ์ขีดจำกัดความปลอดภัยที่กำหนด
สำหรับการกำหนดขีดจำกัดในการสัมผัสคลื่นความถี่ ที่เรียกว่า “ระดับอ้างอิงการสัมผัสคลื่นตามมาตรฐานของ IEEE และ ICNIRP (คณะกรรมาธิการระหว่างประเทศด้านการป้องกันรังสีชนิดไม่ก่อไอออน : International Commission on Non-Ionizing Radiation Protection) ได้กำหนดการสัมผัสคลื่นตลอดทั้งร่างกายของคลื่นวิทยุที่เกิน 2 GHz ไว้ที่ 10 W/m2 (วัตต์ต่อตารางเมตร)
โดยทางคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ก็ได้นำระดับอ้างอิงนี้ มาใช้ในการเป็นตัวชี้วัดระดับในการสัมผัสคลื่นความถี่ในประเทศไทยเช่นเดียวกัน ซึ่งที่ผ่านมาผลการสุ่มวัดโดย กสทช.พบว่าระดับการสัมผัสคลื่นทีแผ่มาจากโอเปอเรเตอร์ทุกรายต่ำกว่าระดับอ้างอิงเป็นหลักหลายร้อยหลายพันเท่า นั่นแปลว่าในส่วนของการสัมผัสคลื่นความถี่นั้น ไม่ได้ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์อย่างแน่นอน
นอกจากนี้ ด้วยการที่คลื่นระดับ mmWave ไม่สามารถทะลุผ่านผิวหนังชั้นนอกเข้าไปได้ จึงไม่ส่งผลกระทบต่อเนื้อเยื้อชั้นในได้ ขณะเดียวกันยังไม่พบรายงานที่มีหลักฐานเพียงพอที่จะยืนยันความสัมพันธ์ของเนื้องอกที่เกี่ยวข้องกับคลื่นความถี่วิทยุได้เช่นเดียวกัน
แม้แต่หน่วยงานป้องกันรังสีและความปลอดภัยทางนิวเคลียร์ ออสเตรเลีย (Australian Radiation Protection and Nuclear Safety Agency) เคยออกมาให้ข้อมูลว่า ยังไม่มีหลักฐานใดที่แสดงว่าการสัมผัสคลื่นวิทยุระดับต่ำจากโครงข่าย 5G และการสื่อสารไร้สายอื่นๆ จะมีผลกระทบต่อระบบภูมิคุ้มกัน หรือเป็นสาเหตุของผลกระทบระยะยาว หรือผลกระทบระยะสั้นต่อสุขภาพได้
***สถานีฐานเพิ่มมากขึ้น โทรศัพท์ยิ่งแผ่คลื่นน้อยลง
อีกหนึ่งเรื่องที่ทำให้เกิดความกังวลคือการที่ปริมาณของสถานีฐาน 5G ที่เพิ่มขึ้น ในมุมของประชาชน อาจจะมองที่ตัวเลขว่ายิ่งตัวเลขเพิ่มมากขึ้น จาก 3G เป็น 4G และ 5G ความแรงของคลื่นความถี่ที่แผ่รังสีออกมาจะยิ่งรุนแรงมากยิ่งขึ้น
แต่ในความเป็นจริงยิ่งคลื่นความถี่สูงเท่าไหร่ ระดับการแผ่รังสีออกมายิ่งต่ำ และทะลุทะลวงได้น้อยกว่าเดิม ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นคลื่นความถี่ 3G 4G 5G ที่ปัจจุบันโอเปอเรเตอร์ในไทยนำมาใช้งานทั้งคลื่น 700 MHz 900 MHz 1800 MHz 2100 MHz 2300 MHz และ 2600 MHz ในระดับที่ต่ำกว่าระดับอ้างอิงการสัมผัสคลื่นหลายร้อยหลายพันเท่านั้น จึงไม่ได้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน
ขณะเดียวกัน ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา ((US Food and Drug Administration, FDA) ก็ได้เข้าไปศึกษาในหัวข้อที่เกี่ยวกับความอันตรายของคลื่นความถี่วิทยุต่อการเกิดมะเร็งในช่วงปี 2008 – 2018 ที่เข้าไปศึกษาคลื่นความถี่ระหว่าง 800 – 2500 MHz ก็ไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะรับรองความสัมพันธ์ระหว่างการตอบสนองของระดับพลังงานคลื่นที่ส่งผลกระทบต่อร่างกายของมนุษย์
สุดท้าย ภายในรายงานของ IEEE ยังอ้างอิงไปยัง คณะกรรมการส่วนที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์และการแผ่คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (COMAR) ที่สรุปว่า ยังไม่พบรายงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการสัมผัสคลื่น mmWave จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ จึงพิจารณาให้ความอันตรายจากการสัมผัสคลื่น 5G นั้นอยู่ในระดับต่ำ ทำให้ไม่ต้องกังวลว่าคลื่น 5G ก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้ใช้