xs
xsm
sm
md
lg

เส้นทาง LINE สู่แพลตฟอร์ม ‘Chat Commerce’ ช่วยธุรกิจ SMEs (Cyber Weekend)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การที่คนไทยกว่า 47 ล้านคนใช้งาน LINE จึงทำให้กลายเป็นข้อได้เปรียบของ LINE ในการเป็นแพลตฟอร์ม ‘แชต’ ที่เปิดโอกาสให้ร้านค้า ผู้ประกอบการธุรกิจสามารถเข้าถึงผู้บริโภคจำนวนมากผ่านช่องทางออนไลน์ได้ ภายใต้งบประมาณที่มี

​จึงทำให้ในช่วงปีที่ผ่านมา LINE ได้เร่งพัฒนาระบบอีคอมเมิร์ซภายในแอปพลิเคชันให้รองรับกับการเติบโตของจำนวนร้านค้า และธุรกิจที่หันมาใช้ LINE Official Account (LINE OA) ในการสื่อสารกับลูกค้าโดยจุดเปลี่ยนสำคัญของ LINE ที่หันมามุ่งเน้นการเป็นแพลตฟอร์มสำหรับการทำ Chat Commerce เต็มตัวนั้น ถ้ามองย้อนกลับไปคือในช่วงปี 2019 ที่มีการเปลี่ยนแปลงในแง่ของบัญชีผู้ใช้ในฝั่งของลูกค้าธุรกิจ จากเดิมที่จะมีทั้ง LINE@ ที่เป็นของร้านค้า SMEs และ LINE OA ของลูกค้าองค์กรธุรกิจ
​ที่เปลี่ยนมาใช้ชื่อเดียวกันทั้งหมดคือ LINE Official Account ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นในการเปลี่ยนแปลงการทำโฆษณาผ่านช่องทาง LINE ด้วยเช่นกัน ทั้งเรื่องของจำนวนการส่งข้อความที่ปรับรูปแบบการคำนวณค่าใช้จ่ายใหม่ และมีข้อดีก็คือ ลูกค้าที่เป็น LINE@ เดิมจะสามารถเข้าถึงฟีเจอร์ที่เพิ่มขึ้นในส่วนของ LINE OA เพิ่มเติมขึ้นมา

​ต่อเนื่องมาในช่วงปี 2020 ที่เกิดสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ร้านค้าหลายแห่งได้รับผลกระทบจากการที่ต้องปิดสาขาในช่วงล็อกดาวน์ การปรับมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม ทำให้ต้องเพิ่มช่องทางในการสื่อสารกับลูกค้าในการรับจองคิว จองช่วงเวลาเข้าไปใช้บริการในร้านค้า จึงทำให้ LINE OA เริ่มได้รับความนิยมมากยิ่งขึ้นในส่วนของผู้ประกอบการต่างๆ ที่นอกเหนือจากการใช้ให้บริการแก่ลูกค้าแล้ว ในกรณีที่เป็นร้านจำหน่ายสินค้า ยังสามารถใช้เป็นช่องทางในการสั่งซื้อได้เช่นกัน และก่อให้เกิดการเป็น Chat Commerce ขึ้นมาเต็มรูปแบบ

​เลอทัด ศุภดิลก หัวหน้าหน่วยธุรกิจอีคอมเมิร์ซ LINE ประเทศไทย กล่าวว่า ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ปีที่ผ่านมา ได้ผลักดันให้ธุรกิจอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้นถึง 2.7 แสนล้านบาท โดยกว่า 62% มาจากการทำธุรกรรมผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย หรือที่เรียกกันว่าโซเชียลคอมเมิร์ซ

​‘ความน่าสนใจก็คือสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นของการใช้งานโซเชียลคอมเมิร์ซมาอยู่ที่ 62% นั้น ส่วนใหญ่เกิดขึ้นบนการทำธุรกรรมผ่านแชต คอมเมิร์ซ โดยเฉพาะบน LINE ที่เติบโตสูงกว่าตลาด ในขณะที่สัดส่วนจากมาร์เกตเพลสจะอยู่ที่ราว 38% เท่านั้น’


นอกจากนี้ LINE ยังคาดการณ์ว่าสัดส่วนการซื้อขายสินค้า และบริการผ่านโซเชียลคอมเมิร์ซจะเพิ่มขึ้นเป็น 70% ภายในสิ้นปีนี้ เนื่องจากผู้ประกอบการเริ่มเรียนรู้ และเข้าใจการใช้งานโซเชียลคอมเมิร์ซที่ตรงกับพฤติกรรมการสื่อสารของคนไทยมากขึ้น

​สถิติที่น่าสนใจจากการใช้งานสมาร์ทโฟนของคนไทยกว่า 78.8% มีการใช้งานโซเชียลเน็ตเวิร์กเป็นประจำ โดยมีการใช้งานเฉลี่ยสูงถึง 2.48 ชั่วโมงต่อวัน ยิ่งตอกย้ำภาพของการที่ตลาดโซเชียลคอมเมิร์ซในประเทศไทยเติบโตขึ้น และเป็นช่องทางที่ทำให้ผู้ประกอบการสามารถสร้างโอกาสทางธุรกิจได้

​‘ในฝั่งของ LINE จำนวนผู้ใช้งาน LINE OA ที่เพิ่มขึ้นเป็นกว่า 4 ล้านบัญชีในช่วงไตรมาสที่ 3 ปีที่ผ่านมา แสดงให้เห็นถึงปริมาณการเปิดช่องทางสื่อสารของผู้ประกอบการร้านค้าจำนวนมาก เมื่อเทียบกับกว่า 3 ล้านบัญชีในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า’

​โดยจากกว่า 4 ล้านบัญชีที่เป็น LINE OA ทาง LINE พบว่ามีกว่า 40% ที่ใช้เป็นช่องทางในการซื้อขายสินค้า ทำให้ในช่วงที่ผ่านมา LINE เร่งพัฒนา LINE MyShop ขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์การใช้งานของลูกค้ากลุ่มนี้ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถใช้ LINE เป็นทั้งช่องทางในการจำหน่าย ติดต่อสื่อสาร นำเสนอโปรโมชัน ปิดการขาย และให้บริการหลังการขายได้ภายในแพลตฟอร์มเดียว

​เมื่อเป็นเช่นนั้น LINE MyShop จึงกลายเป็นหนึ่งในหลายๆ เครื่องมือสำคัญ ที่เกิดขึ้นมาเพื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs สามารถใช้ LINE เป็นช่องทางในการขายสินค้าได้เพิ่มเติมจากหน้าร้าน และที่สำคัญคือเมื่อเป็นหน้าร้านออนไลน์ ก็ทำให้สามารถเข้าถึงลูกค้าคนไทยได้ทั่วประเทศกว่า 47 ล้านคน ตามฐานลูกค้าที่ใช้งาน LINE ได้ด้วย

***LINE OA Store เปิดทาง SMEs เข้าถึงตัวช่วยธุรกิจ


นอกเหนือจาก LINE MyShop ในปีที่ผ่านมา LINE OA ได้มีการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับระบบหลังบ้านที่สำคัญเช่นเดียวกัน คือการเพิ่ม LINE Official Account Store ขึ้นมา เป็นสโตร์ให้ผู้ที่ใช้งาน LINE OA ได้เข้าไปเลือกหาโซลูชันที่เหมาะสมในการให้บริการแก่ลูกค้า

​จากเดิมที่แต่ละองค์กรธุรกิจต้องพัฒนาเครื่องมือเข้ามาเชื่อมต่อกับ API ของ LINE ในการใช้งาน ก็เปิดให้นักพัฒนาที่เป็นพันธมิตรสามารถเข้ามาให้บริการแก่ลูกค้าธุรกิจ และองค์กรที่สนใจนำเครื่องมือเหล่านี้ไปใช้งานได้โดยตรง ทำให้การใช้งาน LINE OA มีความหลากหลาย และสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

​โดยโซลูชันที่ถูกพูดถึงและนำไปใช้งานกับผู้ประกอบการ SMEs และร้านค้า จะมีทั้งในส่วนของบริการ ChatBot ที่จะคอยตอบคำถามทั่วๆ ไปให้แก่ร้านค้า และในส่วนของโซลูชันเกี่ยวกับการบริหารจัดการความสัมพันธ์ลูกค้า อย่างการเก็บสะสมแต้มสมาชิก แจกคูปองส่วนลด ที่ผู้ใช้งาน LINE OA สามารถเชื่อมต่อโซลูชันเหล่านี้เข้ามาใช้งานได้ทันที

​ขณะเดียวกัน LINE ยังกำลังเตรียมพัฒนาโซลูชันเพิ่มเติมสำหรับร้านอาหารที่จะเปิดให้สามารถจองโต๊ะอัตโนมัติ และสั่งอาหารล่วงหน้าผ่าน LINE OA ได้ทันที ช่วยเปิดโอกาสให้ร้านอาหารสามารถนำ LINE OA ไปใช้งานกับธุรกิจได้เพิ่มเติมจากที่เดิมใช้เป็นช่องทางในการสอบถามข้อมูลเป็นหลัก

***หารายได้ผ่าน LINE Ads Platform

​ในมุมของ LINE โมเดลการให้บริการ LINE OA จะเน้นไปที่ค่าสมาชิกรายเดือน และค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจากการที่ผู้ใช้มีการบรอดแคสต์ข้อความไปยังผู้ติดตาม ยิ่งจำนวนมากเท่าไหร่ก็มีค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น ถือเป็นส่วนหลักในการสร้างรายได้

​แต่ในขณะเดียวกัน เมื่อเป็นแพลตฟอร์มแชต ทำให้สามารถเข้าถึงข้อความ พฤติกรรม ความสนใจของลูกค้าที่ใช้งาน จึงมีการนำ LINE Ads Platform (LAP) มาเป็นอีกเครื่องมือในการสร้างรายได้ โดยเปิดให้ผู้ประกอบการที่สนใจทำโฆษณาผ่าน LINE เข้าไปใช้เครื่องมือนี้ในการประชาสัมพันธ์ข้อมูล โปรโมชันต่างๆ ได้

​เพียงแต่ก่อนหน้านี้ LAP ค่อนข้างมีข้อจำกัดในการใช้งาน คือเดิมลูกค้าที่ใช้งาน LINE@ จะไม่สามารถเข้าถึงได้ มีเพียงลูกค้า LINE OA เท่านั้น จนกระทั่งทาง LINE รวมบัญชีธุรกิจเข้ามาเป็น LINE OA ทั้งหมด และเปิดให้ซื้อโฆษณาผ่านดิจิทัลเอเยนซี และล่าสุดเปิดให้ผู้ที่ใช้งาน LINE OA ทุกคนสามารถเข้าไปเลือกซื้อโฆษณาได้เองแล้ว

​ดังนั้น เมื่อนำ LAP มาใช้ร่วมกับการวางแผนการทำตลาด การเผยแพร่ข้อมูลที่ดี จะช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้ลูกค้ามาติดตาม LINE OA ของผู้ประกอบการต่างๆ จนนำไปสู่การซื้อขายผ่าน LINE OA ได้ในที่สุด

​ธีรวัฒน์ งามวิทยศิริ หัวหน้าที่ปรึกษากลุ่มธุรกิจค้าปลีกและอีคอมเมิร์ซ LINE ประเทศไทย ให้ข้อมูลเสริมถึงการทำตลาดผ่าน Chat Commerce ว่า พฤติกรรมของลูกค้าคนไทยจะให้ความสำคัญกับความน่าเชื่อถือของร้านค้าเป็นหลัก และกว่า 73% ให้ความสนใจกับการสนทนา สอบถามข้อมูลจากร้านค้า

​‘เมื่อลูกค้าได้รับประสบการณ์ที่ดีในการสนทนา มากกว่า 43% มีโอกาสที่จะกลับมาซื้อสินค้าซ้ำ เช่นเดียวกันคือถ้าลูกค้าไม่ประทับใจในการโต้ตอบกว่า 32% จะตัดสินใจเลิกซื้อสินค้าไปในทันที’

​นอกจากนี้ จากข้อมูลของผู้ที่ใช้งาน LINE OA เป็นช่องทางในการจำหน่ายสินค้า กรณีที่มีการนำเสนอโปรโมชัน หรือข้อเสนอเพิ่มเติมเฉพาะบุคคลเข้าไป จะช่วยเพิ่มมูลค่าการใช้จ่ายในการเลือกซื้อสินค้า 1 ครั้ง เพิ่มขึ้นกว่า 30%


กำลังโหลดความคิดเห็น