สกาย ไอซีที จับมือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และพันธมิตรยักษ์ใหญ่ด้าน AI Solutions SenseTime จัดเวิร์กชอปติดอาวุธความรู้ด้าน AI แก่บุคลากรด้านการศึกษา ให้พร้อมส่งต่อองค์ความรู้สู่วงกว้าง พร้อมทั้งมอบหลักสูตรพัฒนาศักยภาพด้าน AI Literacy สำหรับบุคลากรด้านการศึกษา ภายใต้ลิขสิทธิ์กว่า 2.5 ล้านบาท
นายสิทธิเดช มัยลาภ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สกาย ไอซีที จำกัด (มหาชน) หรือ SKY กล่าวว่า การขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวสู่เวทีการแข่งขันระดับโลกได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืนนั้นจำเป็นต้องอาศัยผู้ที่มีความรู้ ความสามารถ และความเข้าใจในเรื่องของปัญญาประดิษฐ์ (AI) เป็นสำคัญ เพราะปัจจุบันโลกของเรากำลังเผชิญกับยุคดิจิทัล ดิสรัปชัน (Digital Disruption) และการแก้ปัญหาที่ตรงจุดคือ การเตรียมความพร้อมให้แก่บุคลากรทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคการศึกษาที่ถือได้ว่าเป็นรากฐานสำคัญของประเทศ
จึงได้เกิดความร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ SenseTime พันธมิตรสำคัญผู้พัฒนาและให้บริการด้าน AI Solutions รายใหญ่ของจีนและของโลก จัดทำหลักสูตรพัฒนาศักยภาพด้าน AI Literacy สำหรับบุคลากรด้านการศึกษา พร้อมจัดกิจกรรมเวิร์กชอปให้แก่ตัวแทนบุคลากรด้านการศึกษา เพื่อส่งต่อองค์ความรู้ไปยังหน่วยงาน ชุมชน ตลอดจนผู้ใกล้ชิด เป็นการช่วยเสริมสร้างภูมิความรู้ด้าน AI ให้กระจายในวงกว้าง
“ผู้คนเริ่มให้ความสนใจกับเรื่อง AI กันมากขึ้น สิ่งที่ไทยต้องการคือเพิ่มบุคลากรด้าน AI ที่จะเข้าไปช่วยต่อยอดองค์ความรู้ให้แก่คนในแต่ละพื้นที่ กระจายความรู้ด้าน AI ให้ลงไปถึงทุกภาคส่วนอย่างแข็งแกร่ง เพื่อเป็นรากฐานที่สำคัญของการพัฒนาประเทศ”
กิจกรรมที่จัดขึ้นในครั้งนี้ถือเป็นกิจกรรมนำร่องที่จะติดอาวุธให้แก่ผู้เข้าร่วมอบรมให้ได้นำกลับไปใช้งานได้จริง ขณะเดียวกัน ทางบริษัทได้มอบ User Account และ Password ภายใต้ลิขสิทธิ์ของ SenseTime คิดเป็นมูลค่ารวม 2,500,000 บาท คาดว่า และจะเดินหน้าพัฒนาอย่างต่อเนื่องในระยะยาว
รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า AI ถือเป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญในการพัฒนาประเทศ ทั้งในด้านการลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการทํางาน ประกอบกับปัจจุบันมีความต้องการเทคโนโลยี AI มาประยุกต์ใช้ในหลากหลายสาขาวิชา
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังขาดผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากที่จะมารองรับความต้องการทั้งในภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษา ทั้งนี้ การพัฒนาผู้เชี่ยวชาญเฉพาะสาขาด้าน AI ใช้เวลานาน ส่งผลให้ทุกภาคส่วนจําเป็นต้องลงทุนกับเทคโนโลยี AI ในมูลค่าที่สูง และทําให้การพัฒนาเทคโนโลยี AI ในประเทศไทยเกิดขึ้นในวงจํากัด