เปิดใจ “สมศักดิ์ เพ็ชรทวีพรเดช” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วีเอสที อีซีเอส (ประเทศไทย) จำกัด ผู้บริหารที่ไม่เน้นเล่นหุ้น ไม่สนใจเงินคริปโตฯ เพราะไม่ชอบความเสี่ยง และชอบเก็บเงินสด "ใส่ตุ่มหลังบ้าน"
ท่ามกลางวิกฤตและการเปลี่ยนแปลงมากมาย เจ้าพ่อดิสทริบิวเตอร์ผู้เคลมตัวเองว่าเป็นอันดับ 1 ในตลาดไอทีโซลูชันไทย มองว่าปี 64 ยังคงมีภาพรวมธุรกิจเหมือนทุกปี ไม่ได้มีความน่ากังวลหรือต้องรักษาระดับธุรกิจเป็นพิเศษ และความท้าทายเดียวอยู่ที่ธุรกิจใหม่อย่างจักรยานยนต์ไฟฟ้า เนื่องจากธุรกิจไอทีอยู่ตัวแล้ว และ “ไปได้ดีด้วยตัวของมันเอง”
ที่ผ่านมา สมศักดิ์ พา VST ECS ประเทศไทยไปเริ่มขุดทองในตลาดเกิดใหม่ โดยลงทุน 100% ในกลุ่มประเทศกัมพูชา ลาว และพม่า (CLM) ซึ่งตอนนี้ต้องปรับเกมกันใหม่เพราะวิกฤตความวุ่นวายในพม่า
สมศักดิ์ เปิดเผยแผนผลักดันการเติบโตของยอดขายในปีนี้อย่างน่าตื่นใจ โดยเฉพาะเป้าหมายยอดขายรวมปี 64 ที่คาดว่าจะแตะ 31,500 ล้านบาท จากที่เคยทำได้ 27,000 ล้านบาทในปี 63 ตัวเลขที่เพิ่มขึ้นเป็นไปตามความต้องการในหลายตลาด ซึ่งบางตลาดเป็นม้ามืดที่อาจถูกมองข้ามไป เช่น เครื่องเซิร์ฟเวอร์ออนพริมที่ยังขายได้ดีมาก สวนทางกับยุคที่โลกกำลังโปรโมตเรื่องคลาวด์เต็มที่ แบกรับต้นทุนพนักงานในพม่า 35 คน
ยังไม่ปิดสำนักงานพม่า
สมศักดิ์ระบุว่า VST ECS มีผลประกอบการที่ดีเกินคาดในช่วงที่ผ่านมา แม้ธุรกิจในพม่าที่ VST ECS ประเทศไทยลงทุนแบบเต็ม 100% จะได้รับผลกระทบ เพราะบริษัทมีสำนักงานตั้งที่พม่า มีพนักงานปฏิบัติการ 35 คน ขณะนี้ VST ECS ยังไม่ปิดสำนักงานในพม่า ยังคงให้พนักงานทำงานจากบ้านเหมือนช่วงโควิด-19
สิ่งที่บริษัทต้องแบกรับคือ ต้นทุนการจ้างงานพนักงาน 35 คนที่ไม่สามารถขายสินค้าได้ จุดนี้บริษัทระบุว่า แม้จะมียอดการสั่งซื้อเข้ามา แต่ด้วยธนาคารในพม่าที่ยังไม่เปิดทำการ เป็นข้อจำกัดให้การชำระเงินติดขัดจนกระทบการจัดส่งสินค้าไปด้วย
สถานการณ์นี้ทำให้บริษัทต้องเพิ่มโฟกัสที่ตลาดกัมพูชา โดยระบุว่าตลาดกัมพูชายังแข็งแรงและเปิดเสรีมากกว่า ขณะที่ตลาดลาวยังสามารถเติบโตได้เรื่อยๆ ที่สุดแล้วสถานการณ์ในพม่าไม่ได้สร้างผลกระทบให้แก่บริษัท เนื่องจากยอดขายธุรกิจกลุ่ม CLM นั้นคิดเป็นสัดส่วนเพียง 20% ของธุรกิจเอ็นเตอร์ไพรส์เท่านั้น ซึ่งเป็น 5% ของรายได้รวม VST ECS ประเทศไทย
ปัจจุบัน ธุรกิจของ VST ECS แบ่งออกเป็น 4 ส่วน ได้แก่ ธุรกิจคอนซูเมอร์ที่คิดเป็น 33% ของธุรกิจรวม เท่ากับธุรกิจคอมเมอร์เชียล ซึ่งได้ลูกค้าหลักอย่างหน่วยงานราชการมาเพิ่มสัดส่วนธุรกิจให้เป็น 33% ของเค้กก้อนใหญ่ ยังมีตลาดเอ็นเตอร์ไพรส์อีก 28% ที่เหลือ 2% เป็นธุรกิจกลุ่มไลฟ์สไตล์ เช่น โทรศัพท์มือถือ เป็นสัดส่วนธุรกิจที่เล็กที่สุดของรายได้รวม VST ECS ประเทศไทย
ปี 63 โต 8%
สมศักดิ์ การันตีว่าวันนี้ VST ECS เป็นดิสทริบิวเตอร์ไอทีโซลูชันรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ยอดขายของบริษัทเติบโตทุกปีตั้งแต่ปี 2561 ที่แยกตัวออกมาตั้งเป็นวีเอสที อีซีเอส โดยปี 2563 ที่ผ่านมา บริษัทเติบโต 8%
การปรับตัวนี้ไม่ได้ดีกว่ากระแส เพราะสมศักดิ์ให้ข้อมูลว่าคู่แข่งอย่างเอสไอเอส (SIS) ก็เติบโตได้ดี แต่ด้วยสงครามการค้าจีนและสหรัฐฯ อาจทำให้มีผลกระทบต่อยอดขายโทรศัพท์มือถือแบรนด์หัวเว่ย (Huawei) จึงทำให้ตัวเลขของคู่แข่งหดตัว
ตรงกันข้ามกับ VST ECS ที่จำหน่ายโซลูชันไอทีเป็นหลัก จุดนี้สมศักดิ์ มองว่าเฉพาะตลาดสินค้าไอทีถือเป็นตลาดหลักที่ได้รับอานิสงส์จากโควิด-19 อุปสรรคเดียวที่มีคือสินค้าขาดตลาด และล่าสุดหลายสินค้าสามารถจัดส่งได้เร็วที่สุดคือเดือนตุลาคม เบื้องต้นระบุว่า ภาวะขาดตลาดของสินค้าไอทีกำลังลามมาที่สินค้ากลุ่มเน็ตเวิร์กเอ็นเตอร์ไพรส์ ซึ่งแม้จะยอดขายไม่มาก แต่ก็พบกับภาวะขาดตลาดเช่นกัน
ภาวะสินค้าขาดตลาดนี้เกิดขึ้นเพราะการขาดแคลนชิปเซ็ต การขาดแคลนนี้เชื่อว่าเกิดขึ้นเพราะตลาดไอโอที (IoT) ที่เติบโต ขณะเดียวกัน ยังเกิดภาวะหน้าจอขาดตลาดในสินค้ากลุ่มคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก ท่ามกลางข่าวลือว่าเวนเดอร์ที่ได้รับสินค้าไปจะถูกอัดฉีดเข้าสู่ตลาดอเมริกาเหนือและยุโรปก่อน ซึ่งทำให้เมืองไทยได้สินค้ามาน้อยกว่า
VST ECS ตั้งเป้าว่าปีนี้บริษัทจะทำยอดขายเติบโตได้เป็น 31,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 27,000 ล้านบาทในปีก่อนหน้านี้ ปัจจัยบวกคือโครงการรัฐและงบประมาณราชการที่ยังมีความหวัง สมศักดิ์ ระบุว่า ทุกหน่วยงานจะต้องจัดซื้อ และต้องเพิ่มอุปกรณ์ตามกิจกรรมโครงการรัฐที่เกิดขึ้น ทั้ง ม.33 เรารักกัน หรือเราชนะ ทุกอย่างต้องใช้เซิร์ฟเวอร์หรือเครื่องแม่ข่าย และเครื่องมือไอทีต้องมีการจัดซื้อตลอดเวลา
สมศักดิ์ ระบุว่า ระบบไอทีเป็นสินค้ากลุ่มเดียวที่ทุกหน่วยงานต้องใช้ โดยขณะนี้หน่วยงานยังจำเป็นต้องเปลี่ยนอุปกรณ์ทุก 3 ปี ทำให้ธุรกิจไอทีเติบโตได้ไม่ว่าเศรษฐกิจจะแย่เพียงใด
ภารกิจปีนี้ไม่ใช่การรักษาระดับธุรกิจ
ไม่ใช่การรักษาระดับธุรกิจ แต่กลยุทธ์คือเข้าไปกินส่วนแบ่งของตลาดอื่น สมศักดิ์ มั่นใจว่าปีนี้ธุรกิจ VST ECS จะเติบโตด้วยการเข้าไปกินส่วนแบ่งในตลาดอื่นที่มีอยู่แล้ว โดยไม่รอให้ตลาดใหม่เกิดขึ้น ความมั่นใจนี้มาจากไลน์สินค้าที่ครบกว่าคู่แข่ง โดยปีนี้จะแตกไลน์ไปที่จักรยานยนต์ไฟฟ้าและโทรศัพท์มือถือราคาประหยัด
ในช่วงที่ธุรกิจไอทีเติบโต แม่ทัพ VST ECS จำเป็นต้องโฟกัสในธุรกิจโทรศัพท์มือถือซึ่งยังมีขนาดเล็กมาก และทำรายได้ไม่ถึง 2% ให้บริษัท สิ่งที่ VST ECS ทำคือการปรับโครงสร้างเพื่อขยายรายได้จากธุรกิจจำหน่ายโทรศัพท์มือถือ โดยตั้งเป้าเจาะกลุ่มผู้ใช้ 4G ในพื้นที่นอกกรุงเทพฯ
นอกจากปรับโครงสร้างด้วยการดึงมือดีมาคุมทีม VST ECS กำลังศึกษาโมเดลบันเดิลกับโอเปอเรเตอร์เพื่อจำหน่ายโทรศัพท์มือถือราคาประหยัดไม่เกิน 2,000 บาทในหลายจังหวัด ตั้งเป้าให้ส่วนธุรกิจนี้เติบโต 5 เท่าตัวหลังจากมีทีมงาน ถือเป็นการเปลี่ยนทิศทางหลังจากที่ก่อนหน้านี้ VST ECS ไม่สนใจธุรกิจมือถือเพราะเข้าใจว่ากำไรน้อย แต่เมื่อปรับทีมแล้วทำให้เห็นโอกาส
อีกธุรกิจที่จะขยายในปีนี้คือการขายมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าที่เป็น EV 100% นอกจากแบรนด์โทมัส (Thomas Design) จากไต้หวัน บริษัทกำลังขยายเพิ่มเป็นแบรนด์ที่ 2 เบื้องต้น ประเมินว่าปีนี้จะสามารถจำหน่ายได้ 6,000-8,000 คันต่อปี
ปัจจัยบวกที่สมศักดิ์ มองเห็นคือยานยนต์ไฟฟ้าจะเป็นทางเลือกใหม่สำหรับกลุ่มมอเตอร์ไซค์ ด้วยภาวะวิกฤต PM2.5 และการจดทะเบียนที่ง่ายขึ้น ตลาดมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าจึงมีแนวโน้มที่สดใส โครงการที่บริษัทจะทำคือการเชื่อมไอโอทีและทำเน็ตเวิร์กไร้สายเพื่อการติดตามมอเตอร์ไซค์ รวมถึงพัฒนาโมเดลให้เช่ารถ เพื่อเจาะกลุ่มนักศึกษาในมหาวิทยาลัยที่สามารถเช่าใช้เป็นรายชั่วโมง จุดนี้จะมีการทำโซลูชันเพื่อคำนวณเวลาและป้องกันการขโมย
เล็งร่วมมือ B2B กับ Grab และ Robinhood
ตัวมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าที่ VST ECS จัดจำหน่ายจะถูกผลิตในเมืองไทย ซึ่งนอกจากส่วนโรงงาน ทีมพัฒนาโซลูชันก็กำลังดำเนินการอยู่ การปักหลักผลิตในประเทศไทยมีเหตุผลเพราะ VST ECS ไม่ต้องการให้มีความเสี่ยงเรื่องหลังบริการ จุดนี้มีการประสานกับแกร็บ (Grab) และโรบินฮู้ดของเอสซีบี (Robinhood) เพื่อนำมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าไปใช้ในการส่งของเดลิเวอรี โดยจะทำธุรกิจทั้งในส่วน B2B และ B2C แบบขายหน้าร้าน
แผนทำตลาดมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าของ VST ECS ในส่วน B2B ยังมีนอกเหนือการจับมือกับบริการเดลิเวอรี แต่ยังมีการเข้าไปประสานกับสหกรณ์ต่างๆ เชื่อว่าตลาดจะให้การตอบรับดีเพราะผู้ใช้สามารถลดค่าใช้จ่ายจากการเติมน้ำมัน 400 บาทต่อเดือน เหลือไม่เกิน 90 บาทต่อเดือนสำหรับการชาร์จไฟ แถมยังไม่มีค่าใช้จ่ายเปลี่ยนน้ำมันเครื่อง ขณะที่ผ้าเบรกก็ไม่ซับซ้อนและเหมือนกับมอเตอร์ไซค์ทั่วไป สามารถลดต้นทุนให้บริษัทและผู้ใช้ได้
นอกจากนี้ ยังมีแผนขยายบริการส่วนชาร์จแบตเตอรี่ไปที่ร้านสะดวกซื้อ เช่น แฟมิลี่มาร์ทและเซเว่นอีเลฟเว่น เพื่อให้เป็นศูนย์เปลี่ยนแบตเตอรี่ จุดนี้ยังเป็นแผนร่วมกันโดยอาจใช้รูปแบบการจ่ายเงินมัดจำ เพื่อให้ลูกค้าได้รับ “แบตเตอรี่วน” ที่ชาร์จไฟแล้ว ทำให้พาร์ตเนอร์สามารถเก็บค่าใช้จ่ายชาร์จ 10 บาท เชื่อว่าจะเป็นบริการหลังการขายรูปแบบใหม่ที่ตอบโจทย์ร้านสะดวกซื้อที่ต้องปรับตัวให้มีสินค้าและบริการที่หลากหลายยิ่งขึ้น
สมศักดิ์ มั่นใจว่า ตลาดไทยจะให้การตอบรับมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า เนื่องจากความสูงและน้ำหนักของมาตรฐานชายไทยที่ไม่มีผลหน่วงอัตราการเร่งมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า เบื้องต้นวางเป้าหมายเพื่อให้มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าครองส่วนแบ่งตลาด 10% ของตลาดรวมมอเตอร์ไซค์ไทย ซึ่งพบว่ามีจำนวนยอดขายปีละ 1-1.5 ล้านคันต่อปี คาดว่าใน 5 ปีจะขายได้หลักแสนคัน หากไม่มีแบรนด์จีนเข้ามาถล่มตลาด
ปัจจัยเสริมอีกข้อคือ รัฐบาลให้การส่งเสริม และมีโครงการความร่วมมือกับ กฟผ. แผนการพัฒนาธุรกิจคือการเพิ่มระบบชาร์จเร็วให้มอเตอร์ไซค์ ซึ่งจะสามารถช่วยให้มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าไม่มีขีดข้อจำกัดเรื่องการชาร์จ เหมือนรถยนต์ไฟฟ้าที่มีข้อจำกัดเรื่องแบตเตอรี่จนทำให้ตลาดไม่เติบโตเต็มที่
สมศักดิ์ วิเคราะห์ว่า ข้อจำกัดที่ทำให้รถยนต์ไฟฟ้าในวันนี้ไม่ขยายตัว คือ ปัญหาเรื่องการชาร์จ รวมถึงประสิทธิภาพของรถที่จะถดถอยลงเร็วกว่ามาตรฐานรถยนต์น้ำมัน สมศักดิ์ อธิบายว่า รถยนต์ไฟฟ้าอาจต้องใช้เวลาชาร์จไม่ต่ำกว่า 45 นาที แต่มอเตอร์ไซค์ใช้เวลาชาร์จน้อยกว่า เชื่อว่าอุตสาหกรรมมอเตอร์ไซค์จะเปลี่ยนไปเป็นไฟฟ้าเข้ามาแทนที่ในระยะยาว และขณะนี้กำลังมีการพัฒนาระบบชาร์จเร็วให้ได้ 15 นาที ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการศึกษาคุณภาพแบตเตอรี่ว่าสามารถรองรับความต้องการได้หรือไม่
เหตุผลที่ VST ECS วางเดิมพันที่ 2 ธุรกิจนี้ คือการต่อยอดกับระบบไอโอทีได้ เบื้องต้นมองว่าทั้ง 2 ธุรกิจไม่ได้แตกต่างจากธุรกิจเดิม อย่างการจำหน่ายไอทีโซลูชันแบบสิ้นเชิง เบื้องต้นเผยว่า งบลงทุนที่เตรียมไว้สำหรับธุรกิจใหม่จะเน้นโฟกัสที่งานขาย ศูนย์บริการ และศูนย์อบรมลูกค้า โดยจะขายผ่านตัวแทน 100%
เซิร์ฟเวอร์ตัวเล็กขายดี
ธุรกิจหลักในขณะนี้ของ VST ECS มีทั้งอุปกรณ์ซิเคียวริตี เน็ตเวิร์ก (security network) ระบบซอฟต์แวร์ ระบบมอนิเตอร์ และเซิร์ฟเวอร์ จุดนี้สมศักดิ์ ระบุว่า ยอดขายเซิร์ฟเวอร์ในวันนี้ไม่ลดน้อยลง แม้ตลาดคลาวด์จะเติบโตจริง แต่เป็นการเติบโตจากศูนย์ โดยย้ำว่าทุกปี ธุรกิจฮาร์ดแวร์ยังคงเติบโตต่อเนื่อง การตั้งเซิร์ฟเวอร์เพื่อเก็บข้อมูลในบริษัทหรือออนพรีมิสยังไปได้ดีส่งให้เซิร์ฟเวอร์ตัวเล็กราคา 20,000-30,000 บาททำยอดขายได้ดีไม่ตก
สำหรับการเติบโตในปีนี้ สมศักดิ์ เชื่อว่าจะสามารถทำได้ด้วยสินค้าใหม่ในตลาดใหม่ เชื่อว่าจะสามารถเข้าสู่พื้นที่นอกกรุงเทพฯ ได้มากขึ้น จากปัจจุบันที่สามารถครองตลาดนครปฐม กาญจนบุรี หาดใหญ่ ชุมพร ระนอง และสตูลได้แล้ว
ภาพรวมปีนี้เชื่อว่าการเติบโตจะไม่ต่ำกว่า 10% ความท้าทายที่เห็นในตลาดคอนซูเมอร์คือปัญหาสินค้าขาดตลาด เบื้องต้น มองว่ายังไม่มีสินค้าตัวไหนที่ต้องตัดทิ้ง แต่เน้นปรับตัวให้พนักงานหลายรุ่นเข้ามามีส่วนร่วมในองค์กร ขณะเดียวกัน ก็มุ่งมั่นทำดิจิทัลทรานฟอร์เมชัน นำเอาข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อใช้ในระบบบริหารทรัพยากรบุคคล งานบริการการขาย รวมถึงการทำไฮบริดเวิร์กกิ้ง และการฝึกอบรมพนักงาน
สำหรับสถานการณ์โควิด-19 บริษัทได้ชะลอแผนพัฒนาออฟฟิศใหม่ที่บริเวณร่มเกล้า พื้นที่ขนาด 1,400 ตารางเมตร บนงบประมาณ 20 ล้านบาท ซึ่งหากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงอาจจะพัฒนาเป็นโคเวิร์กกิ้งสเปซ โดยเริ่มดำเนินการได้ในช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้
สมศักดิ์ ระบุว่า แม้จะเปิดให้พนักงานทำงานจากนอกสำนักงาน แต่บริษัทไม่มีแผนลดพื้นที่สำนักงาน เนื่องจากสามารถใช้เป็นพื้นที่อบรมและแบ่งส่วนมาทำสวัสดิการ เช่น เปิดพื้นที่ฟิตเนสเซ็นเตอร์ ให้พนักงานที่มีเกิน 600 คนสามารถพัฒนาตัวเอง และดูแลสุขภาพอย่างมีความสุข
การปรับระบบการทำงานของพนักงานในวันนี้ มีเพียงการยกเลิกส่งพนักงานให้เดินทางไปลงพื้นที่ต่างจังหวัด โดยเปลี่ยนมาเป็นการจ้างคนท้องถิ่น มีแผนจะจ้างเพิ่มจาก 600 เป็น 680 คน โดยจะเปิดรับพนักงานที่สนใจย้ายถิ่นฐานไปแบบกึ่งถาวร ซึ่งบริษัทจะชำระค่าที่พักให้
ปัจจุบัน รายได้จากกรุงเทพฯ ของบริษัทยังคิดเป็น 70% ของรายได้รวม เป้าหมายในอนาคตคือการเพิ่มตลาดพื้นที่นอกกรุงเทพฯจากที่มี 30% ให้เป็น 45% ใน 3 ปี ซึ่งเพื่อให้ได้เป้าหมายนี้ บริษัทจะขยายฝ่ายขายเกิน 120 คน
สำหรับภาพรวมตลาดไอทีไทย สมศักดิ์ ระบุว่าจะเติบโตเกิน 10% ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้บริษัทเติบโตตามไปด้วย โดยจะโตเนื่องต่อจากกลุ่มคอมเมอร์เชียลและเอ็นเตอร์ไพรส์ ผลจากตลาดราชการยังมีงบประมาณและโอกาสเติบโตสูง กลยุทธ์ที่จะใช้ไม่เพียงการเพิ่มพนักงาน แต่จะบวกกับการใกล้ชิดลูกค้า บริหารความสัมพันธ์ที่มีอยู่ รวมถึงกระจายอำนาจให้พนักงานรายอื่นร่วมตัดสินใจ
สมศักดิ์ กล่าวติดตลกว่าขณะนี้ ตัวเขา “แทบไม่ทำอะไร” เพียงแต่ “คุยกับเมืองนอก หาลูกค้า แล้วก็หาเส้นทางใหม่” ช่องทางใหม่ที่เห็นคือ มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า ส่วนช่องทางจำหน่ายใหม่ที่มองคือออนไลน์ เทรนด์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้คือการยุบร้านสาขาตามโมเดิร์นเทรด แล้วนำเงินมาลงทุนในช้อปปี้ ลาซาด้า ขณะที่ห้องแถวกลายเป็นสถานที่บรรจุสินค้า อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าดีลเลอร์จะยังมีบทบาท ไม่ได้หายไป
ขณะนี้บริษัทมีดีลเลอร์ 5,500 ราย แต่ที่แอ็กทีฟคือ 3,500 ราย จุดยืนของบริษัทจะยังเป็นดิสทริบิวเตอร์เช่นเดิม ไม่ขยับมาให้บริการดาต้าเซ็นเตอร์ และไม่ทำธุรกิจเซอร์วิสใดๆ และจะเน้นแต่การจำหน่ายไอทีโซลูชัน
ขณะนี้ VST ECS เป็นดิสทริบิวเตอร์ไอทีโซลูชันอันดับ 1 ของไทย สมศักดิ์ประเมินเบื้องต้นว่า บริษัทสามารถทำยอดจำหน่ายไอทีโซลูชันได้มากกว่า SIS รวมถึงซินเน็กซ์ (Synnex) ซึ่งปัจจุบันหันไปทำตลาดโทรศัพท์มือถือมากขึ้น จุดนี้สมศักดิ์ มองว่าคู่แข่งไม่ได้อ่อนแรง แต่สไตล์การทำธุรกิจไม่เหมือนกัน และคู่แข่งก็ไม่ได้สูญเสียแชร์ตลาดไป
การมองหาเส้นทางธุรกิจใหม่จะเกิดขึ้นต่อเนื่องเพื่อให้บริษัทรักษา VST ECS ให้ทำธุรกิจได้ต่อไปอีกหลายสิบปี ให้บริษัทสามารถจ้างพนักงานไทยได้อีกหลายร้อยคน รับมือได้ในวันที่สถานการณ์การลงทุนของบริษัทแม่เปลี่ยนแปลง
"ปีนี้ก็เหมือนทุกปี ไม่ได้มีความท้าทายเป็นพิเศษ ความท้าทายเดียวคือเรื่องมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าเนื่องจากธุรกิจไอทีอยู่ตัวแล้วและไปได้ด้วยตัวของมันเอง" สมศักดิ์ ทิ้งท้าย