xs
xsm
sm
md
lg

ETDA จับมือ IBM พัฒนามาตรฐานธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์บล็อกเชน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ETDA ผนึก IBM ทำความร่วมมือการใช้บล็อกเชนในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หวังพัฒนามาตรฐานรองรับการใช้ลายมือดิจิทัลและการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลพร้อมแลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญเชื่อมโยงรัฐ-เอกชนใช้เทคโนโลยีอย่างมั่นคงและปลอดภัย

นายชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ETDA กล่าวว่า ETDA มีภารกิจด้านการจัดทำข้อเสนอแนะเกี่ยวกับมาตรฐานและการกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์และพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนสามารถใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่สอดคล้องและมีการเชื่อมโยงกันอย่างมั่นคงปลอดภัยและน่าเชื่อถือ ขณะที่ทางไอบีเอ็มเป็นบริษัท ที่มีประสบการณ์ในการวางโครงสร้างพื้นฐานและระบบบนเทคโนโลยีบล็อกเชนที่สำคัญทั้งในไทยและต่างประเทศ รวมถึงเป็นผู้ให้ข้อมูลในการพัฒนามาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับบล็อกเชนในเวทีระดับสากลหลายเวทีขณะเดียวกัน

ETDA ได้เร่งดำเนินการโดยเฉพาะในเรื่องของ Digital Standard Landscape ในส่วนของ Digital Services เพื่อทำให้เกิดแผนภาพของธุรกิจบริการดิจิทัลสำคัญและมาตรฐานที่จำเป็นของแต่ละธุรกิจบริการที่ควรต้องมีความน่าเชื่อถือและมั่นคงปลอดภัย รวมทั้งเป็นการสร้างความพร้อมและรองรับการต่อยอดได้กับทุกระบบการบริการอิเล็กทรอนิกส์ดังนั้น ภายใต้ภารกิจของทั้ง 2 หน่วยงานจึงได้เกิดความร่วมมือกันในการพัฒนามาตรฐานระบบการจัดการกุญแจเข้ารหัสลับแบบกระจายศูนย์ (Decentralized Key Management System หรือ DKMS) ซึ่งเป็นการใช้เทคโนโลยีบล็อกเซนมาสนับสนุน Ecosystem ของการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (Digital ID) และลายมือชื่อดิจิทัล (Digital signature)

การลงนามความร่วมมือนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมสนับสนุนแลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์ข้อมูลทางวิชาการเกี่ยวกับการใช้บล็อกเชนสำหรับ Digital ID และ Digital signature รวมทั้งพัฒนามาตรฐานหรือกลไกการกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องกับบริการดิจิทัลที่จะใช้ระบบ Decentralized Key Management System สำหรับ Digital ID และ Digital signature โดยทั้ง ETDA และ IBM จะเปิดเวทีให้บริษัท และหน่วยงานที่สนใจเข้ามาร่วมกันพัฒนาและกำหนดมาตรฐานเพื่อทำให้เกิดการทำงานของระบบที่เชื่อมโยงกันอย่างมีประสิทธิภาพมีความมั่นคงปลอดภัยและมีความน่าเชื่อถือ

นอกจากนี้ สิ่งสำคัญที่ประเทศไทยต้องเร่งพัฒนาในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานด้านมาตรฐานดิจิทัลมีด้วยกันหลายประเด็น ทั้งเรื่องมาตรฐานบริการดิจิทัลที่สำคัญซึ่งในหลายอุตสาหกรรมยังไม่มีมาตรฐานครอบคลุมอีกทั้งภาคธุรกิจบางส่วนยังต้องการการผลักดันและสนับสนุนเพื่อให้เกิดความพร้อมในการนำมาตรฐานหรือแนวทางปฏิบัติไปใช้เพื่อให้เกิดมาตรฐานบริการดิจิทัลที่เชื่อถือได้ เช่น การใช้บริการ Digital ID ยังจำกัดอยู่แค่เฉพาะบริการภาคการเงินและธนาคารและบางอุตสาหกรรมหรือข้อ จำกัดในการใช้ Digital ID กับนิติบุคคลหรือหน่วยงานภาครัฐมีการใช้บริการที่น่าเชื่อถือเพียงบางส่วนหรือบางบริการเท่านั้น


กำลังโหลดความคิดเห็น