xs
xsm
sm
md
lg

ความในใจ "ยรรยง" พาเอปสันฝ่าโควิด-19 ปีนี้โตกว่า 10% (Cyber Weekend)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


สำหรับทิศทางธุรกิจในปี 2564 ยรรยง กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อธุรกิจของเอปสันยังคงเป็นสถานการณ์ทางการเมืองและการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
เอปสัน ประเทศไทย เร่งเครื่องพลิกปี 2564 โตเกิน 10% มั่นใจวัคซีนมาพาเศรษฐกิจประเทศเติบโตพร้อมเดินหน้าดิสรัปโมเดลธุรกิจกลุ่มอิงค์เจ็ทพรินเตอร์ สู่บริการด้านงานพิมพ์สำหรับลูกค้าองค์กรธุรกิจเต็มตัว เปิดตัวบริการล่าสุด "Epson EasyCare 360เหมา เหมา"

สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อทั่วโลก รายได้ของเอปสัน ประเทศไทยในรอบปี 2563 (ปีงบประมาณเริ่ม เม.ย.2563-มี.ค.2564) คาดว่าจะติดลบ 15% ทำให้ในปีนี้ เอปสัน ประเทศไทยต้องพยายามดันแผนธุรกิจด้วยโมเดลการทำธุรกิจแบบใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการเสนอโมเดลเช่าเครื่องในราคาเหมา เหมา การทำการตลาดออนไลน์ รวมถึงการรุกตลาดองค์กรมากขึ้นโดยคาดว่าปี 2564 เอปสัน ประเทศไทยต้องมีการเติบโตของรายได้ที่ 10%

***รับตลาดซบเซาพารายได้ติดลบ 15%

"ยรรยง มุนีมงคลทร" ผู้อำนวยการบริหาร บริษัท เอปสัน (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ในปี 2563 ท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจของประเทศที่ GDP -6.1% เพราะได้รับผลกระทบหนักจากโรคโควิด-19 ทำให้การอุปโภคบริโภค และการลงทุนของภาคเอกชนหดตัว ธุรกิจห้างร้านมากมายต้องปิดตัวลง ระบบซัปพลายเชนที่ต้องพึ่งการนำเข้าในหลายธุรกิจหยุดชะงัก ทำให้ในปีงบประมาณ 2563 (เม.ย.2563-มี.ค.2564) เอปสันประเทศไทย คาดว่าจะติดลบ 15% โดยสินค้าที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักคือ เครื่องพิมพ์ใบเสร็จ จากผลกระทบร้านค้าปิดตัวลงทำให้ยอดขายในสินค้านี้ติดลบ 20% ขณะที่เครื่องพิมพ์แบบดอทแมทริกซ์หดตัว เอปสันจึงไม่ฝืนตลาดโดยหันมาเน้นการดูแลลูกค้าเก่า ส่วนตลาดโปรเจกเตอร์ภาคการศึกษาก็ชะลอการซื้อ
จากการปิดสถาบันการศึกษาในช่วงโควิด-19

"พรินเตอร์ใบเสร็จ โปรเจกเตอร์ และพรินเตอร์ดอทเมทริกซ์ ที่มีฐานลูกค้าหลักเป็นกลุ่มองค์กรธุรกิจ สถาบันการศึกษา โรงแรม และธุรกิจค้าปลีกมียอดขายลดลงเพราะลูกค้าต้องหยุดกิจการหรืองดให้บริการชั่วคราว"

ยรรยง มุนีมงคลทร
แต่ขณะเดียวกัน สถานการณ์ดังกล่าวก็ได้เร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสู่เศรษฐกิจดิจิทัลเร็วขึ้นทำให้มีปัจจัยบวกและโอกาสใหม่ที่สนับสนุนธุรกิจของเอปสัน ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนที่ลดลงจากการใช้แพลตฟอร์มการขายออนไลน์ ขณะที่โรงงานในภาคการผลิตลงทุนใช้เทคโนโลยี AI และระบบอัตโนมัติในกระบวนการผลิตมากขึ้น ภาคธุรกิจหันมาใช้โรงงานผลิตและระบบซัปพลายเชนภายในประเทศ โรงพยาบาลทั้งรัฐและเอกชนเริ่มใช้อุปกรณ์ดิจิทัลในขั้นตอนการให้บริการ เช่น การพิมพ์ฉลากยาสี รวมถึงการเกิดใหม่ของธุรกิจบุคคลหรือฟรีแลนซ์จำนวนมาก เช่น การรับจ้างพิมพ์ภาพซึ่งทำให้ยอดขายของบริษัทได้รับผลกระทบน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้มาก

***สินค้าดาวรุ่งพาครองแชมป์ในตลาด

อย่างไรก็ตาม เอปสันยังมีกลุ่มสินค้าของเอปสันที่ทำผลงานได้ดีในปีที่ผ่านมา ได้แก่ หุ่นยนต์แขนกล พรินเตอร์ฉลาก พรินเตอร์อเนกประสงค์ สำหรับธุรกิจรุ่น T-Series เครื่องถ่ายเอกสารอิงค์เจ็ท และพรินเตอร์สำหรับธุรกิจมินิแล็บ ในส่วนตลาดอิงค์แท็งก์พรินเตอร์ เอปสันยังครองส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับ 1 ที่ 43% ซึ่งทำยอดขายจากช่องทางออนไลน์ได้เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2562 เช่นเดียวกับตลาดโปรเจกเตอร์ที่ยังคงรักษาตำแหน่งเจ้าตลาดไว้ได้ด้วยส่วนแบ่งตลาด 33% ในขณะที่ตลาดโดยรวมหดตัวลง 22% 

ถึงแม้จะเป็นปีที่ไม่ง่าย แต่เอปสันยังคงทำกิจกรรมทางการตลาดอย่างต่อเนื่องทั้งปีเพื่อกระตุ้นยอดขายและรักษาระดับการรับรู้ต่อแบรนด์เอปสัน รวมแล้วมากกว่า 200 กิจกรรม ทั้งการสัมมนาออนไลน์ กิจกรรมส่งเสริมการขายทางเว็บไซต์และช่องทางโซเชียลของเอปสัน และแพลตฟอร์มออนไลน์มาร์เกตเพลสต่างๆ กิจกรรม CSR การโรดโชว์สินค้า การสนับสนุนกิจกรรมของพาร์ตเนอร์ โปรแกรมทดลองใช้สินค้าของเอปสันฟรีนาน 1 เดือน รวมไปถึงการผลิตและเผยแพร่โฆษณาสินค้าและโปรโมชันตามช่องทางต่างๆ ของคู่ค้า

***ชูกลยุทธ์รุกกลุ่มองค์กร

สำหรับทิศทางธุรกิจในปี 2564 ยรรยง กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อธุรกิจของเอปสันยังคงเป็นสถานการณ์ทางการเมืองและการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งหากมีแนวโน้มที่ดี คนไทยสามารถเข้าถึงวัคซีนต้านโควิด-19 ได้อย่างทั่วถึง GDP ของประเทศก็น่าจะกลับมาเป็นบวกและได้เห็นการลงทุนของภาครัฐกลับมาในช่วงครึ่งปีหลัง

รวมถึงภาคการท่องเที่ยวจะเริ่มฟื้นตัวได้ดี สถาบันการศึกษากลับมาเปิดทำการ ซึ่งเอปสันได้เตรียมความพร้อมสำหรับการดำเนินธุรกิจด้วยกลยุทธ์เพื่อรุกตลาด B2B โดยภายหลังได้ปรับเปลี่ยนทั้งโครงสร้างและกระบวนการทำงานภายในองค์กรพัฒนาศักยภาพของเครือข่ายตัวแทนจำหน่าย และเพิ่มคุณค่าในส่วนต่างๆ ซึ่งช่วยยกระดับความพึงพอใจและประสบการณ์ที่ดีของลูกค้า โดยตั้งเป้าว่า.เอปสัน ประเทศไทยจะกลับมาเติบโตได้ในระดับที่มากกว่า 10% ในปีนี้

ในด้านการจัดโครงสร้างและกระบวนการทำงานภายในองค์กร บริษัทได้มีการขยายทีมขาย B2B ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด รวมถึงทีมพิเศษที่เน้นเจาะตลาดและดูแลลูกค้าองค์กรญี่ปุ่นโดยเฉพาะ ทั้งยังขยายทีมบริการลูกค้า B2B เพิ่มขึ้น ในด้านการพัฒนาตัวแทนจำหน่ายเอปสันมีการเพิ่มจำนวนตัวแทนที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะตลาด B2B และได้ฝึกอบรมตัวแทนเดิมให้สามารถขยายธุรกิจไปยังตลาด B2B ได้ และในด้านการเพิ่มคุณค่า (Value Proposition) ซึ่งเอปสันยังเน้นการเพิ่มสินค้าใหม่ๆ เข้าสู่ตลาดอย่างต่อเนื่องเพื่อให้องค์กรทุกขนาดในทุกวงการธุรกิจได้เลือกโซลูชันที่เหมาะที่สุดกับตัวเอง พร้อมกับจัดกิจกรรมทางการตลาดทั้งออนไลน์และออฟไลน์เพื่อเพิ่มการเข้าถึงลูกค้าใหม่และตลาดใหม่ ที่สำคัญบริษัทจะเดินหน้าดิสรัปโมเดลธุรกิจในกลุ่มอิงค์เจ็ทพรินเตอร์เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าองค์กรในปัจจุบันได้แม่นยำยิ่งขึ้น

***เปิดตลาดพิมพ์แบบเหมา ควบคุมต้นทุนการพิมพ์ลูกค้า

ยรรยง กล่าวว่า เมื่อ 10 ปีก่อนเอปสันได้ดิสรัปเทคโนโลยีอิงค์เจ็ทพรินเตอร์ของตัวเองมาสู่ระบบแท็งก์์ และได้ขยายการใช้ระบบดังกล่าวไปในทุกกลุ่มสินค้าพรินเตอร์ ตั้งแต่พรินเตอร์ขนาดเล็ก พรินเตอร์เพื่อธุรกิจ จนถึงพรินเตอร์ระดับมืออาชีพสำหรับอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งช่วยให้ลูกค้าสามารถลดต้นทุนการพิมพ์ ประหยัดค่าไฟ ทั้งยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น การดิสรัปชันทางเทคโนโลยีครั้งนั้นได้สร้างมาตรฐานใหม่ให้แก่วงการการพิมพ์ทั่วโลก และสร้างเอสเคิร์ฟใหม่ให้แก่บริษัท ปัจจุบัน เอปสันมีอิงค์เจ็ทพรินเตอร์ระบบแท็งก์มากที่สุดในท้องตลาด และสามารถพิมพ์งานทั้งสีและขาวดำด้วยคุณภาพและความเร็วที่เทียบเท่าเลเซอร์พรินเตอร์


สำหรับในปีนี้ เอปสันจะดิสรัปธุรกิจพรินเตอร์อีกครั้ง โดยมุ่งเปลี่ยนโมเดลธุรกิจจากการขายเครื่องไปสู่การให้บริการแบบเต็มตัว ซึ่งเมื่อปีที่แล้ว เอปสันได้ทดลองเปิด "Epson EasyCare 360" บริการเช่าเครื่องพรินเตอร์แบบรายแพกเกจสำหรับลูกค้า Epson Work Force ที่ต้องพิมพ์งานปริมาณมากอยู่เป็นประจำ เพื่อแข่งขันกับบริการของแบรนด์เครื่องถ่ายเอกสาร ซึ่งลูกค้าสามารถควบคุมต้นทุนการพิมพ์ของตัวเองได้ไม่ต้องสต๊อกหมึก เพราะบริษัทจะส่งหมึกให้โดยคำนวณค่าใช้จ่ายจากจำนวนพิมพ์รายแผ่น ทั้งยังมีบริการ On-site service ส่งช่างซ่อมไปถึงออฟฟิศ

นอกจากนี้ ยังมีบริการ "Epson EasyCare Mono" เพื่อกลุ่มลูกค้า Epson EcoTank M-series ให้สามารถเช่าเครื่องพร้อมหมึกแบบเหมาจ่ายรายเดือน และรับทันทีทั้งบริการติดตั้งพรินเตอร์ให้ถึงออฟฟิศ บริการจัดอบรมการใช้งาน และบริการแก้ปัญหาเบื้องต้นผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งทั้ง 2 บริการได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี เอปสันจึงเดินหน้าแผนดิสรัปโมเดลธุรกิจกลุ่มอิงค์เจ็ทพรินเตอร์ทั้งหมดจากที่เคยเน้นการขายเครื่องมาเป็นการบริการงานพิมพ์

"บริษัทได้ทำการสำรวจความเห็นขององค์กรธุรกิจ พบว่า สิ่งที่บริษัทส่วนใหญ่กังวลคือค่าพิมพ์สีต่อแผ่น ตามด้วยคุณภาพงานพิมพ์ และบริการซ่อมบำรุง เอปสันจึงได้ออกบริการเช่าเครื่องแบบใหม่ในชื่อ Epson EasyCare 360เหมาเหมา โดยลูกค้าสามารถพิมพ์สีหรือขาวดำก็ได้มากสุดถึง 120,000 แผ่น หรือนาน 24 เดือน รวมทั้งยังได้บริการซ่อมบำรุงถึงที่ และเบอร์โทร.สายตรงตอบกลับภายใน 2 ชั่วโมง ทั้งหมดนี้มีค่าบริการรายเดือนเริ่มต้นเพียง 790 บาท แถมยังจะได้รับเครื่องที่ใช้อยู่ไปฟรีๆ หลังหมดสัญญา"

นอกจากการดิสรัปชันโมเดลธุรกิจเพื่อให้ธุรกิจของเอปสันสามารถตอบโจทย์ความต้องการและพฤติกรรมการใช้งานของลูกค้าได้อยู่เสมอ บริษัทยังได้สร้าง Epson Virtual Solutions Center เพื่อให้ลูกค้า B2B ไม่เพียงแต่ในประเทศไทย แต่รวมถึงกัมพูชา ลาว พม่า และปากีสถานที่อยู่ภายใต้การดูแลของเอปสัน ประเทศไทย ได้สัมผัสกับประสบการณ์เสมือนจริงระหว่างการทำความรู้จักกับเทคโนโลยีและ B2B โซลูชันของเอปสัน ซึ่งจะแบ่งออกตามประเภทธุรกิจหรืออุตสาหกรรม เช่น เทคโนโลยีเพื่อความยั่งยืน การพิมพ์ดิจิทัล ร้านค้าปลีก อุตสาหกรรมการผลิต การศึกษา สาธารณสุข และองค์กรธุรกิจ 

รวมทั้งในเฟสถัดไปจะมีการเพิ่มเติมโซนพิเศษสำหรับลูกค้าโฮมยูสทั่วไปให้สามารถมาชมสินค้าและพูดคุยกับพนักงานขายทางออนไลน์ได้ทันทีโดยได้รับบริการทุกอย่างเหมือนอยู่หน้าร้านโดย ในเฟสแรก Epson Virtual Solutions Center นี้จะเปิดให้บริการในเดือน เม.ย.ที่จะถึงนี้


กำลังโหลดความคิดเห็น