ถือเป็นการพลิกวิกฤต COVID-19 มาเป็นโอกาสในการสานต่อกลยุทธ์ ‘คอนเวอร์เจนท์’ ให้เป็นรูปเป็นร่าง พร้อมมอบประสบการณ์แบบ End To End ให้แก่ลูกค้าผ่านแพลตฟอร์ม ‘TrueID’ โดย ‘ต่อบุญ พ่วงมหา’ กรรมการผู้จัดการฝ่ายดิจิทัลแอนด์มีเดียแพลตฟอร์ม บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด ก็ได้มาเปิดเผยถึง 4 จิ๊กซอว์ที่ได้นำมาต่อรวมกันจน TrueID กำลังกลายเป็น ‘ซูเปอร์แอป’ ที่เชื่อมทุกปาร์ตี้ให้ได้ประโยชน์ร่วมกันแบบ Win-Win
COVID-19 ดันผู้ใช้โต 30%
ช่วงแรกที่ปั้นทรูไอดีคือ การปั้นคอนเทนต์ เพราะเรามีจุดแข็งที่ ‘ทรูวิชั่น’ และนั่นเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคกำลังต้องการ โดยลูกค้าต้องสามารถเข้าถึงได้ทุกช่องทางและทุกเวลา ดังนั้น ทรูไอดีจึงสามารถใช้ได้ผ่านแอปพลิเคชัน เว็บเบราเซอร์ และ True Box ซึ่งคอนเทนต์เป็นเหมือนจิ๊กซอว์ตัวแรกที่ต่อขึ้นมา
ปัจจุบัน ทรูไอดีมีผู้ใช้ประมาณ 25 ล้านราย โดยในช่วงการระบาดของ COVID-19 ทำให้เติบโตถึง 30% มียอดขาย True Box สูงถึง 2 ล้านชิ้น ทั้งนี้ ปัจจุบัน 70% เป็นลูกค้าทรู แบ่งเป็นชายหญิงเท่าๆ กัน โดยกลุ่มผู้ใช้อายุ 25-34 ปีมีสัดส่วนมากที่สุด ขณะที่คอนเทนต์ยอดนิยมในช่วงการระบาดของ COVID-19 จะเป็น การ์ตูน, ภาพยนตร์, ละครไทย
ทั้งนี้ จุดแข็งด้านคอนเทนต์หลักๆ ของทรูจะมีด้านกีฬาอย่าง ‘พรีเมียร์ลีก’ ‘หนังใหม่ให้เช่า’ รวมถึงออริจินอลคอนเทนต์ที่ผลิตโดยทรู ซีเจ ครีเอชั่นส์ เป็นบริษัทที่เกิดขึ้นจากการร่วมทุนของทรู คอร์ปอเรชั่น และซีเจ อีเอ็นเอ็ม (CJ ENM) จากประเทศเกาหลีอีก 5-6 เรื่อง นอกจากนี้ จะจับเทรนด์ 5G มากขึ้น โดยจะมีคอนเทนต์ในรูปแบบ 360 องศา เป็นต้น
จากแพลตฟอร์มมีเดียสู่ ‘Super App’
เทรนด์ในปัจจุบัน ผู้บริโภคไม่ได้ต้องการแค่เสพคอนเทนต์อย่างเดียว แต่ต้องการ ‘สร้าง’ มันเองด้วย ดังนั้น เราจึงเปิดแพลตฟอร์มให้ผู้ใช้เขียนรีวิว ซึ่งนี่จะเปิดโอกาสให้คนทั่วไปกลายเป็น ‘อินฟลูเอนเซอร์’ สามารถหารายได้จากการเขียนคอนเทนต์ได้ด้วย ดังนั้น ทรูไอดีจึงไม่ได้จำกัดตัวเองเป็นแค่คอนเทนต์โพรไวเดอร์ แต่เป็น ‘อีโคซิสเต็ม โพรไวเดอร์’ และจากนี้จะต่อยอดไปสู่ ‘คอมมูนิตี’ ไม่ใช่ดูแล้วจบ แต่สามารถคอนเน็กกับเพื่อนได้นี่ก็จะเริ่มคอนเน็กกับเพื่อนได้ เป็นเหมือน ‘Social Media’ โดยช่วงไตรมาส 2-3 จะได้เห็น
“เราลองจัดเวอร์ชวลคอนเสิร์ตให้แก่ นนท์ ธนนท์ ผ่าน VRoom ปรากฏว่ามีคนมาชมมากกว่าคอนเสิร์ตแบบออฟไลน์อีก พอมันเป็นอินเตอร์แอ็กทีฟก็มีการแชตคุยกันจนเกิดเป็นคอมมูนิตี เราเลยเห็นว่ามันเวิร์ก แบรนด์ก็สนใจอยากโฆษณาอยากขายของ”
เชื่อมทุกปาร์ตี้ให้ได้ประโยชน์ร่วมกัน
เพราะ COVID-19 ทำให้คนอยู่บ้านมากขึ้น ทรูไอดีจึงเริ่มทดลองทำก็คือ ‘อีคอมเมิร์ซ’ เพื่อให้ครอบคลุมไลฟ์สไตล์มากขึ้น โดยเชื่อมกับสิ่งที่เครือทรูกรุ๊ปมี เช่น ‘ทรูช้อปปิ้ง’ ‘วีมอล’ และ ‘เซเว่นเดลิเวอร์รี่’ ซึ่งนี่คือ จิ๊กซอว์ตัวสุดท้ายที่ทำให้เกิด ‘Fulfillment’ โดยจะเลือกสินค้าที่ลูกค้าต้องการ ไม่ได้ต้องการมีเยอะหรือครบเหมือนลาซาด้า ส่วนบริการสุดท้ายจะเป็นเรื่องการ ‘สื่อสาร’ เพราะเชื่อว่ามันไม่มีทางหายไปแต่เปลี่ยนรูป โดยให้ลูกค้าสามารถโทร.หรือแชตกับเพื่อนๆ ต่างแอปได้ฟรีโดยไม่เสียทั้งดาต้าและค่าใช้จ่าย 60 นาที
“ทรูไอดีตอนนี้ถูกสร้างมาเป็นแพลตฟอร์มอีโคซิสเต็มที่จะรวมทุกๆ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder) เข้ามาเอนเกจแล้วได้ประโยชน์จากอีโคซิสเต็มนี้ตั้งแต่ลูกค้า ผู้ให้บริการ ตอบโจทย์ตั้งแต่ตื่นจนถึงนอน”
การแข่งขันสูงเพราะโอกาสมหาศาล
หากพูดถึงตลาดวิดีโอสตรีมมิ่งต้องยอมรับว่าดุเดือดมากและไม่ได้แข่งกับคนไทย ซึ่งที่มันมีโอกาสมากเพราะเม็ดเงินโฆษณาที่สูงมาก แต่คำถามคือ แต่ละรายจะอยู่รอดได้อย่างไร ซึ่งทางทรูเองกำลังเดินไปในเส้นทาง ‘ซูเปอร์แอป’ ดังนั้น ก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย การทำอย่างเดียวทำให้การแข่งขันชัด แต่การที่ทรูเป็นซูเปอร์แอปนั้นทำให้มีบิซิเนสโมเดลที่เปิดกว้างนี่จึงเป็นจุดแข็งที่มี นอกจากนี้ สิ่งที่ทรูมีอีกก็คือ ‘ข้อมูล’ ลูกค้าที่เชื่อมกันในทุกอีโคซิสเต็ม ดังนั้น การต่อสู้ตอนนี้ไม่ได้แข่งแค่ด้านเดียว แต่สู้ทั้งโฮลเอ็กซ์พีเรียนให้กับลูกค้า เราจึงพยายามดูความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก
“บิซิเนสโมเดลของทรูไอดีในปัจจุบันค่อนข้างเปิดมาก ทั้ง B2B, B2C และ B2B2C สามารถครอสเซลล์ได้ในแพลตฟอร์ม โดยเราไม่ได้มองแค่ทางเดียว แต่จะจบที่ไหนก็ได้ เช่น ดูฟรีแต่เห็นโฆษณาสินค้า สนใจซื้อก็สั่งได้เลย”
ใช้เอไอแก้ปัญหาความเยอะและใช้สิทธิประโยชน์ดึงลูกค้า
จำนวนคอนเทนต์ที่เยอะก็ถือเป็นปัญหาของผู้พัฒนาแพลตฟอร์มที่จะนำเสนอให้ตรงใจลูกค้าอยู่แล้ว แต่เมื่อเป็นซูเปอร์แอปที่มีมากกว่าแค่ใช้เพื่อเสพคอนเทนต์ นี่จึงเป็นอีกความท้าทายใหญ่ เพราะไม่ใช่แค่นำเสนอคอนเทนต์ที่ตรงใจลูกค้า แต่ต้องนำเสนอทั้งโปรโมชัน สินค้า และบริการอื่นๆ ให้ตรงใจลูกค้าที่สุด ซึ่งทางเรากำลังลงทุนเรื่องเอไอและอนาไลน์ติกเพื่อวิเคราะห์ความชอบลูกค้าเพื่อนำเสนอความต้องการลูกค้า
นอกจากคอนเทนต์ที่จะนำให้ลูกค้าใช้งานทรูไอดีก็คือ ‘True Point’ เพราะลูกค้าทรูเมื่อดูคอนเทนต์ในทรูไอดีก็จะได้พอยต์นำไปแลกสินค้าและบริการจากอีโคซิสเต็มทรูได้อีก ดังนั้นนี่คือจุดแข็งที่จะดึงให้ผู้บริโภคใช้งานทรูไอดี แต่ความท้าทายสุดท้ายคือ จะขยายให้เครื่องมือของเราเป็นประโยชน์กับ Stakeholder ได้อย่างไร
“ภาพทั้งหมดหากเราทำสำเร็จ มันจะช่วยให้ลูกค้าได้แพลตฟอร์มที่ตอบโจทย์ตั้งแต่ตื่นจนถึงนอน เราเองก็จะสามารถก้าวกระโดดจากการเป็นธุรกิจแบบคอมมูนิตีเป็นมีเดีย ทำให้มี Profit ที่ดีขึ้น และเติบโตได้อย่างยั่งยืนกว่า”