สยามคูโบต้า ร่วมกับดีป้า ลงนามความร่วมมือโครงการ “คูโบต้าต้นกล้าดิจิทัล” มุ่งยกระดับภาคเกษตรกรรมไทยให้เข้มแข็งด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี สู่การเกิดเกษตรกรยุคดิจิทัลที่เข้มแข็ง ตั้งเป้า 5 ปี หวังสร้างคูโบต้าต้นกล้าดิจิทัลแตะ 1,000 ราย ทั่วประเทศ สานต่อองค์ความรู้สู่เกษตรกรสมัยใหม่
นางวราภรณ์ โอสถาพันธุ์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัท สยามคูโบต้า คอร์ปอเรชั่น จำกัด เปิดเผยว่า สยามคูโบต้า ในฐานะผู้นำนวัตกรรมการเกษตรเพื่ออนาคต มีความมุ่งมั่นในการส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาภาคเกษตรของไทยให้มีความเข้มแข็ง ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี เพื่อให้เกษตรกรก้าวทันต่อยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป พร้อมทั้งการสร้างเกษตรกรรุ่นใหม่อย่างต่อเนื่อง ผ่านองค์ความรู้ต่างๆ ที่สยามคูโบต้าได้สร้างขึ้น
ล่าสุด สยามคูโบต้า ได้ลงนามความมือร่วมกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือดีป้า ในโครงการ “คูโบต้าต้นกล้าดิจิทัล” เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการนำความรู้และเทคโนโลยีดิจิทัลไปประยุกต์ใช้ในภาคการเกษตรอย่างมีประสิทธิภาพ
โครงการคูโบต้าต้นกล้าดิจิทัล เป็นโครงการที่สยามคูโบต้าจะเข้าไปให้องค์ความรู้ สนับสนุนและส่งเสริมด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลด้านการเกษตร เครื่องจักรกลการเกษตร และอุปกรณ์การเกษตร พร้อมทั้งสร้างแรงจูงใจให้คนรุ่นใหม่หันมาประกอบอาชีพเกษตรกรรมมากยิ่งขึ้น และสามารถนำไปปรับประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและยกระดับกระบวนการผลิตสินค้าเกษตรได้อย่างมีประสิทธิผล ร่วมถึงการผลักดันให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับภาคการเกษตรเพื่อนำไปสู่การบริการในลักษณะของ Data as a service
โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาศักยภาพและองค์ความรู้ในด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลภาคการเกษตรให้แก่นักศึกษาวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี 44 แห่งทั่วประเทศ สู่การสร้างคูโบต้าต้นกล้าดิจิทัล 880 ราย ตลอดจนเกิดการต่อยอดถ่ายทอดองค์ความรู้สู่เกษตรกรอีกกว่า 2,640 ราย ภายในระยะเวลา 5 ปี
ด้านนายณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ดีป้า กล่าวว่า ดีป้ามีภารกิจหลักในการมุ่งส่งเสริมให้เกิดการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ยุคเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลอย่างรอบด้าน ไม่เว้นแม้แต่ภาคการเกษตรที่เป็นอีกอุตสาหกรรมที่สำคัญของประเทศ ซึ่งการร่วมมือกับบริษัท สยามคูโบต้า คอร์ปอเรชั่น ในครั้งนี้จะเป็นการดำเนินการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการนำความรู้และเทคโนโลยีดิจิทัลไปประยุกต์ใช้ในภาคการเกษตรตามความเหมาะสม และพอเพียงอย่างมีแบบแผน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการพัฒนาภาคการเกษตรไทย ทั้งลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความมั่นคงทางระบบเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ และที่สำคัญคือการยกระดับทักษะให้บุคลากรในท้องถิ่นให้มีความรู้ความเข้าใจในด้านเศรษฐกิจดิจิทัล ต่อยอดความรู้ไปสู่การพัฒนาพื้นที่จริงได้ เกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีหรือนวัตกรรมดิจิทัลในภาคอุตสาหกรรม ภาคการเกษตร และภาคธุรกิจ ตลอดจนสร้างโอกาสด้านรายได้ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม
การขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล เป็นการขับเคลื่อนที่ต้องใช้การร่วมงานกันหลายภาคส่วน ไม่ใช้แค่เพียงหน่วยงาน หรือ บริษัทใดบริษัทหนึ่งเท่านั้น แต่รวมถึงความพร้อมของภาคประชาชนด้วย โดยความร่วมมือในครั้งนี้เป็นอีกความร่วมมือระหว่างหน่วยงานรัฐและเอกชนการส่งเสริมและถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านดิจิทัลให้แก่ประชาชนอย่างรอบด้านเพื่อให้เกิดการประยุกต์ใช้ที่ตอบโจทย์ความต้องการที่มาจากความเข้าใจอย่างแท้จริงซึ่งประชาชนเป็นผู้เลือกเอง คิดเอง ทำเอง เพื่อให้เกิดความยั่งยืนต่อไป และเป็นประโยชน์สูงสุดต่อเศรษฐกิจและสังคมอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป
ทั้งนี้ หวังให้ผู้เข้าร่วมโครงการได้นำความรู้และเทคโนโลยีดิจิทัลที่ได้จากการเรียนรู้ ไปปรับประยุกต์ใช้ในภาคการเกษตรให้เกิดความเหมาะสมและพอเพียงอย่างมีแบบแผน เกิดประโยชน์สูงสุดในการพัฒนาภาคการเกษตรของประเทศไทยให้เข้มแข็งและทันต่อยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มตัว ทั้งเป็นการลดความเหลื่อมล้ำ ตลอดจนสร้างความมั่นคงทางระบบเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ