แคสเปอร์สกี้เตือนกระแส Clubhouse ทำผู้ใช้มีความเสี่ยง 2 ประเด็น หวั่นการซื้อขายคำเชิญอาจทำให้หลงกลแฮกเกอร์ อีกความเสี่ยงคือแอปพลิเคชันปลอมซึ่งผู้ไม่หวังดีต้องการใช้ประโยชน์จากความสนใจของผู้ใช้ในแพลตฟอร์มโซเชียลใหม่ กระตุ้นทุกฝ่ายระวังตัวและไม่ละเลยความปลอดภัย
นายเดนิส เลเกโซ ผู้เชี่ยวชาญความปลอดภัยไซเบอร์ แคสเปอร์สกี้ กล่าวถึงความเสี่ยงทางไซเบอร์ที่อาจเกิดขึ้นในการใช้งานแอปพลิเคชัน Clubhouse ว่าการขายคำเชิญเป็นเพียงการสร้างรายได้ในระดับต่ำ แต่แอปพลิเคชันปลอมนั้นร้ายแรงกว่า
“ความเสี่ยงด้านความปลอดภัยนั้นมี 2 ประเด็นหลักคือ การขายคำเชิญและแอปพลิเคชันปลอม ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่เกิดจากความต้องการของผู้ไม่หวังดีที่จะใช้ประโยชน์จากความสนใจของผู้ใช้ในแพลตฟอร์มโซเชียลใหม่นี้”
แคสเปอร์สกี้ อธิบายว่า ผู้โจมตีอาจจะสามารถกระจายโค้ดที่เป็นอันตรายซ่อนอยู่ในรูปของซอฟต์แวร์ยอดนิยมอย่างแอปพลิเคชัน Clubhouse สำหรับระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์เวอร์ชันปลอม แอปพลิเคชันปลอมสามารถทำสิ่งที่ผู้ใช้อนุญาตให้ทำได้ตามการตั้งค่าความปลอดภัยของแอนดรอยด์ เช่น การระบุตำแหน่งที่อยู่ของอุปกรณ์ การบันทึกเสียงและวิดีโอ การเข้าถึงแอปข้อความ
นอกจากนี้ ยังสามารถใช้เทคนิคที่ผิดปกติเพิ่มเติมได้ ตัวอย่างเช่น หากผู้โจมตีใช้ความสามารถในการบันทึกเสียงและอนุญาตให้ใช้ฟังก์ชันนี้ในอุปกรณ์ได้ ก็จะสามารถใช้การบันทึกเสียงคุณภาพสูงเพื่อฝึกอัลกอริทึมของเครื่อง เพื่อสร้างการปลอมแปลง หรือ deep fake ที่ซับซ้อนมากขึ้น วิธีที่ดีที่สุดในการรักษาความปลอดภัย คือ ไตร่ตรองอย่างระมัดระวังทุกครั้งที่ดาวน์โหลด และรักษาการตั้งค่าความปลอดภัยที่เหมาะสมบนสมาร์ทโฟน
สำหรับ Clubhouse นั้นเป็นโซเชียลมีเดียน้องใหม่ที่เริ่มได้รับความนิยมในประเทศไทยเป็นอย่างมากในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา หลักการทำงานของ Clubhouse นั้นเหมือนการรวม 3 บริการเข้าไว้ด้วยกัน ทำให้เกิดเป็นบริการกึ่งพอตคาสต์ กึ่งประชุมออนไลน์ กึ่งโซเชียลมีเดียที่มีแต่เสียง ไม่มีภาพ ขณะนี้ผู้มีสิทธิเข้าใช้จะต้องได้รับคำเชิญเท่านั้น โดยต้องใช้บริการบนเครื่องระบบปฏิบัติการ IOS