xs
xsm
sm
md
lg

เปิดความจริง เสาสัญญาณมือถือ 'ผลเสียต่อสุขภาพ' แค่ความเชื่อผิดๆ (Cyber Weekend)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สำนักงาน กสทช.แจง กมธ.ดีอีเอส เหตุความเชื่อผิดๆ ที่ว่าการแท้งบุตรผลจากการตั้งเสาสัญญาณโทรศัพท์มือถือใกล้ชุมชน ยันความแรงของคลื่นถูกคุมโดย ITU และผ่านการรับรองจาก WHO ว่าไม่มีผลต่อสุขภาพ ชี้ความต้องการในการติดตั้งเสามาจากคนในพื้นที่เนื่องจากความต้องการใช้บริการเพราะสัญญาณอ่อน ด้านนักวิชาการโทรคมนาคมย้ำ คลื่น 5G ไม่ได้แรงกว่า 4G การส่งสัญญาณเหมือนการใช้งานวิทยุ โทรทัศน์ทั่วไป ไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพแน่นอน

ความกังวลและข้อร้องเรียนไม่เห็นด้วยเกี่ยวกับการตั้งเสาสัญญาณโทรศัพท์มือถือในพื้นที่ชุมชนมีให้เห็นแบบไม่รู้จักเหน็ดรู้จักเหนื่อย เหมือนประเทศไทยมี 3 ฤดูคือ ร้อน ฝน หนาว อุตสาหกรรมโทรคมนาคมก็เช่นกัน มันมีรอบของระยะเวลาที่เรื่องความกังวลด้านสุขภาพในการตั้งเสาโทรคมนาคมใกล้ชุมชน จะคอยตามมาหลอกหลอน ทำให้หลายต่อหลายครั้งที่ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ (โอเปอเรเตอร์) และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ตลอดจนนักวิชาการต้องออกมาชี้แจงเป็นระยะๆเพื่อทำความเข้าใจพร้อมทั้งให้ข้อมูลที่ถูกต้องว่าสัญญาณโทรศัพท์มือถือนั้นไม่ได้เป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชนแต่อย่างใด

***กสทช.แจงเสาสัญญาณให้คุณมากกว่าโทษ

กระนั้นล่าสุด ก็ยังมีการนำเรื่องการแท้งบุตรของชาวบ้านที่เชียงคำ จ.พะเยา ที่ระบุว่าเสาสัญญาณโทรศัพท์มือถือเป็นสาเหตุทำให้ผู้หญิงในหมู่บ้านต้องแท้งบุตรไปแล้วถึง 5 คน เดือดร้อนจนกรรมาธิการการสื่อสาร การโทรคมนาคมและดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) หรือ กมธ.ดีอีเอส ต้องเชิญ ตัวแทนสำนักงาน กสทช.เข้ามาชี้แจงถึงเรื่องดังกล่าว


ทั้งนี้ สำนักงาน กสทช.ได้อธิบายถึงมาตรฐานความแรงของคลื่นว่าได้รับการรับรองจาก สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ หรือ ITU ซึ่งเป็นความแรงที่ไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนอย่างแน่นอน อีกทั้ง องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ก็มีผลการศึกษาออกมาว่าไม่ได้ส่งผลต่อปัญหาสุขภาพแต่อย่างใด แม้กระทั่งการกระตุ้นให้เกิดมะเร็ง

อย่างไรก็ตาม กสทช.ได้อธิบายถึงขั้นตอนการตั้งเสาสัญญาณโทรศัพท์มือถือว่า ต้องเกิดจากความต้องการของประชาชนในพื้นที่ก่อนว่า ในพื้นที่มีสัญญาณอ่อน หรือไม่มีเลย ทำให้ไม่สามารถใช้บริการสัญญาณโทรศัพท์มือถือได้ จากนั้นทางโอเปอเรเตอร์ต้องประชุมกับผู้นำหมู่บ้านและชาวบ้านในพื้นที่เพื่อให้ลงชื่อเสียงส่วนใหญ่ว่าต้องการหรือไม่ ซึ่งต้องยอมรับว่าบางพื้นที่มีความต้องการมากเพราะเขาไม่มีสัญญาณโทรศัพท์มือถือใช้งานเลย

เช่น กรณีมีชาวบ้านจากหมู่ 7 ต.ปากหมาก อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี หลงในป่าลึกพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติแก่งกรุง มีการระดมค้นหาเป็นเวลา 6 วัน 5 คืนจึงพบตัว โดย 'วิชวุทย์ จินโต' ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี กับ 'เจริญศักดิ์ วงศ์สุวรรณ' นายอำเภอไชยา ไปให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ทีมค้นหาและชาวบ้าน ซึ่งได้มีชาวบ้านร้องต่อ 'วิชวุทย์' อยากให้มีสัญญาณโทรศัพท์ใช้ในหมู่บ้านเพื่อความสะดวกในการติดต่อสื่อสารกับโลกภายนอก เพราะที่ผ่านมา ไม่สามารถติดต่อได้เลย จึงได้ให้ 'เจริญศักดิ์' ตรวจสอบจุดที่ตั้งเสาสัญญาณโทรศัพท์มือถือ โดย 'วิชวุทย์' ได้เดินเรื่องประสานกับบริษัทมือถือด้วยตัวเอง


ทว่า หากมีบางชุมชนที่ต้องการให้ย้ายจุด หรือ รื้อถอนออกภายหลังก็สามารถทำได้ ซึ่งสำนักงาน กสทช.มีหน้าที่ดูแลเรื่องนี้ให้ แต่ก็ต้องยอมรับว่า จุดที่โอเปอเรเตอร์ตัดสินใจตั้งนั้นเป็นจุดรับสัญญาณที่ดีที่สุด หากเคลื่อนย้ายสัญญาณอาจจะไม่ดี และอาจเกิดปัญหาในการใช้งานขึ้นมาอีก

***คลื่น 5G ไม่ต่างจากคลื่นวิทยุ-โทรทัศน์

ด้าน 'สืบศักดิ์ สืบภักดี' นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านโทรคมนาคม กรรมการบริหารและเลขาธิการ สมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า กระแสความตื่นตัวเรื่องเทคโนโลยี 5G ในบ้านเราเริ่มเป็นที่สนใจมาโดยลำดับนับตั้งแต่ กสทช. จัดให้มีการประมูลคลื่น 5G ทั้งความถี่ 700MHz 2600MHz และ 26GHz ต้นปี 2563 ที่ผ่านมา ต่อเนื่องกับการที่ผู้ประกอบการ 2 รายใหญ่ลงทุนขยายเครือข่าย 5G ทันที โดยวันนี้สามารถพูดได้ว่า ไทยเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่มีบริการ 5G เชิงพาณิชย์ให้บริการ รวมถึงมีพื้นที่ครอบคลุม 5G มากที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในอาเซียนที่ทยอยเปิดบริการ 5G ตามมา

แม้เทคโนโลยีมือถืออาจไม่ได้ใหม่สำหรับผู้ใช้ แต่ในเมื่อ 5G เป็นเรื่องใหม่ในแง่มุมของเทคโนโลยี ความรู้ความเข้าใจหรือการรับรู้ในรายละเอียดอาจมีความแตกต่างจากเทคโนโลยี 3G หรือ 4G ในอดีต สิ่งหนึ่งเลยที่คนมักเข้าใจผิดมากคือเรื่อง 'ความเร็ว' ที่ 5G สามารถทำได้มากกว่าเดิม 10 เท่า แสดงว่าส่งคลื่น 'แรง' กว่าเดิม 10 เท่าด้วย!! และถูกเชื่อมโยงไปสู่เรื่องอันตรายจากคลื่นที่แรงหรือกระทบสุขภาพเกิดเป็นกระแส บอกต่อ หรือแชร์ผ่านโลกโซเชียลต่อๆ กัน โดยขาดความเข้าใจที่แท้จริง

'สืบศักดิ์' ให้ข้อมูลในเรื่องนี้ไว้ว่า เทคโนโลยี 5G เป็นของใหม่ที่ต้องยอมรับว่าต้องให้เวลาสังคมหรือผู้บริโภคได้ทดลองใช้ หรือเข้าใจในตัวเทคโนโลยีให้มากขึ้นเช่นเดียวกับเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมในอดีตที่อาจมีข้อกังวลหรือไม่ยอมรับในช่วงแรก แต่เมื่อสังคมหรือผู้บริโภคมีความเข้าใจในข้อเท็จจริงและวางใจแล้ว ก็จะคลายความกังวลไป

เหมือนในอดีตที่คนไม่กล้าใช้เตาไมโครเวฟตอนที่เปิดตัวใหม่ๆ เพราะกลัวอันตรายจากคลื่นไปสู่อาหาร หรือแม้แต่โทรศัพท์มือถือในยุคแรกๆ ที่ผ่านมา ที่มีประเด็นเรื่องคลื่นจากเสาส่งสัญญาณ เช่นเดียวกันกับที่คนพูดถึงกันมากกับ 5G ตอนนี้

ทั้งที่โดยข้อเท็จจริง คลื่นก็คือคลื่น คลื่นที่ 5G ใช้ในวันนี้ก็ไม่ต่างจากคลื่นวิทยุ คลื่นโทรคมนาคม คลื่นโทรทัศน์ที่ส่งออกอากาศอยู่รอบตัวเรา เพียงแต่เทคโนโลยีที่นำมาใช้บนตัวคลื่นนั้นๆ ที่เปลี่ยนไป ให้สามารถรับส่งข้อมูลได้มากขึ้น หรือเร็วขึ้นในภาษาชาวบ้าน คนเลยไปตีความว่าเร็วขึ้น แสดงว่าแรงขึ้น แล้วอันตราย ซึ่งจริงๆ ไม่ใช่แบบนั้น 5G ก็ไม่ได้ส่งคลื่นแรงกว่าเดิมในแง่กำลังส่ง เสาส่งหรือสถานีฐานที่ตั้งอยู่ทั่วไปที่เห็นจริงๆ ก็มีกำลังส่งสูงสุด (Max Power) ไม่ได้ต่างจาก 4G เดิม อุปกรณ์พวกนี้มีมาตรฐานสากลในระดับโลกควบคุมและกำหนดไปยังผู้ผลิตแต่ละรายการที่จะบอกว่าเสาส่ง 5G ส่งแรงมากเกินมาตรฐานจึงเป็นเรื่องที่อาจจะเข้าใจคลาดเคลื่อนไปมาก

ในแง่เทคนิคกำลังส่งสูงสุดที่เห็นในความเป็นจริงเสาก็อาจไม่ได้ส่งออกเต็มกำลังเพราะระบบจะคอนโทรลให้เครื่องส่งใช้กำลังส่งเท่าที่จำเป็นไม่ไปรบกวนเซลไซต์ข้างๆ เทคโนโลยีมีการใช้หลายคลื่น หลายชุดเครื่องส่งพร้อมกันหากจะพูดแค่ว่าแรงกว่าเดิม อันตรายกว่าเดิม อาจไม่ใช่แบบนั้น

***เสาส่ง 5G ไม่ได้ส่งแรงกว่า 4G หรือมีอันตราย

'สืบศักดิ์' ระบุว่า เราอาจจะเคยได้รับข้อมูลผ่านโซเชียลมีเดีย เกี่ยวกับเรื่องทำนองนี้ เช่น 5G แรงจนทำนกใกล้ๆ เสาส่งตาย หรือ 5G ส่งผ่านคลื่นไวรัสยิ่งช่วงนี้มีกระแสโควิด-19 หรือ 5G อันตรายจนบางประเทศแบนไม่ให้ใช้ อะไรทำนองนี้บ่อยมาก


แต่อยากให้ลองใช้การคิดโดยหลักข้อเท็จจริงว่า คลื่นจะ 2G, 3G, 4G หรือ 5G ก็คือคลื่นวิทยุเหมือนกันต่างกันที่เทคโนโลยี กำลังส่งไม่ได้ต่างกัน ถ้ากลัวเรื่องกำลังส่งจริงๆ เสาส่งคลื่นแบบอื่นอาจใช้กำลังส่งมากกว่ามือถือ 5G ด้วยซ้ำ

แต่ที่ผ่านมา ก็ไม่ได้มีข่าวทำนกตายเป็นร้อยเป็นพันตัว หรือเรื่องการส่งไวรัสไปกับคลื่นมือถือยิ่งเป็นไปไม่ได้ นอกจากการให้คนเข้าใจในเรื่องเทคโนโลยีเพื่อเปิดใจ อาจต้องทำควบคู่กับการให้ข้อมูลที่ถูกต้องลบล้างกับ fake news ซึ่งแชร์กันโดยไม่มีต้นตอหรือข้อมูลที่สืบค้นหลักฐานมายืนยันได้ บางอันก็แปลจาก blog ต่างประเทศที่มีลักษณะเป็น clickbait ด้วยซ้ำ

***ถูกคุมโดยมาตรฐานสากลที่ได้รับการรับรองแล้ว

เรื่องมาตรฐานโทรคมนาคมเป็นเรื่องสากล ซึ่งมีหน่วยงานและกลไกดูแลทั้งระดับนานาชาติและระดับประเทศ สิ่งที่คนกังวลหรืออะไรที่มันจะเป็นอันตรายจริงๆ ย่อมต้องมีการศึกษารับรองแล้ว เรื่องแบบนี้ไม่ใช่เกิดแค่ระดับประเทศ แต่เป็นความปลอดภัยของผู้ใช้บริการทุกคนทั่วโลก

อุปกรณ์หรือเทคโนโลยีที่ใช้ในประเทศไทย ก็ผ่านมาตรฐานและมาจากผู้ผลิตที่ทำตามมาตรฐานที่กำหนดโดยสากล และยังมี กสทช. กำกับเรื่องมาตรฐานโทรคมนาคม เรื่องกำลังส่ง การขออนุญาตติดตั้ง และอื่นๆ หลายขั้นตอน ในโลกยุคปัจจุบันที่อะไรก็สื่อสารส่งข่าวได้ไวได้ทั่วโลกแบบ 5G เรื่องร้ายๆ อันตราย หรือสิ่งที่ไม่ปลอดภัยมันปกปิดกันไม่ได้อยู่แล้ว

'เว้นแต่เรื่องเหล่านั้นมันไม่จริงก็อาจเป็นกระแสอยู่ช่วงหนึ่ง สุดท้ายก็โดนหักล้างโดยข้อเท็จจริงและหลักฐานยืนยัน ขอให้ผู้ใช้บริการมั่นใจและวางใจเรื่องความปลอดภัยจากการใช้คลื่นได้ มีหน่วยงานและคนมอนิเตอร์เยอะไม่น่าต้องกังวล'

เทคโนโลยี 5G กำลังเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ในอนาคตเราจะเห็นการเชื่อมต่ออุปกรณ์ต่างๆ เข้ากับเครือข่ายและเกิดบริการที่จะขับเคลื่อนทั้งธุรกิจและการใช้ชีวิต ไม่เว้นแม้แต่เรื่องสุขภาพ เทคโนโลยีที่กังวลกันว่าอาจจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพจากความเข้าใจที่ได้รับมาไม่ถูกต้องหรือรอบด้าน ในวันหนึ่งจะเข้ามามีบทบาทอย่างมากต่อสุขภาพ วงการแพทย์ หรือแม้แต่การรักษาผู้ป่วยแบบออนไลน์ผ่านโครงข่าย 5G ที่ส่งผ่านข้อมูลได้รวดเร็วครอบคลุม เมื่อถึงวันนั้นทุกคนอาจจะลืมไปแล้วก็ได้ว่าครั้งหนึ่งเราเคยกังวลกับ 5G แบบเรื่องเล่าที่ส่งต่อๆ กันทุกวันนี้


กำลังโหลดความคิดเห็น