xs
xsm
sm
md
lg

"พุทธิพงษ์" แจงสภา รัฐบาลให้ความสำคัญปกป้องข้อมูลประชาชน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"พุทธิพงษ์" แจงสภา ย้ำรัฐบาลให้ความสำคัญปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชน ชี้ไทยบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลเป็นประเทศแรกๆ ในอาเซียน

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ตอบกระทู้ถามทั่วไป เรื่องติดตามความคืบหน้าการแต่งตั้งคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญและจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลว่า กระทรวงดีอีเอสทำหน้าที่ในการเป็นเพียงสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เป็นคนกลางประสานในช่วงต้นเท่านั้น

โดยความคืบหน้าของกระบวนการสรรหาประธานและคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลนั้น ทางคณะกรรมการสรรหาทั้ง 8 คนได้สรรหาจนครบ 10 คนแล้วตั้งแต่วันที่ 28 เม.ย.2563 ไม่ได้ล่าช้า แต่เนื่องจากยังมีข้อสอบถามจากภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง จึงอยู่ในช่วงที่คณะกรรมการสรรหาจะต้องชี้แจงให้เกิดความชัดเจน ก่อนจะให้กระทรวงดีอีเอสนำเรื่องจากคณะกรรมการสรรหา ส่งให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา เพื่อนำไปสู่ขั้นตอนการประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป

นายพุทธิพงษ์ ระบุว่า รัฐบาลและกระทรวงดีอีเอสให้ความสำคัญกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชน เพื่อสร้างความมั่นคงปลอดภัยให้แก่ประชาชนผู้บริโภค จึงได้ผลักดันให้ออกกฎหมาย 2 ฉบับ คือ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และ พ.ร.บ.ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ พ.ศ.2562 ซึ่งประเทศไทยถือเป็นประเทศแรกๆ ในอาเซียนที่ออกกฎหมายและเริ่มบังคับใช้แล้ว

ทั้งนี้ กฎหมายดังกล่าวจะช่วยป้องกันข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนผู้บริโภค รวมถึง ภาครัฐ ภาคธุรกิจ เอกชนให้รับการคุ้มครองจากผู้ไม่หวังดี หรือมิจฉาชีพ ที่พบว่า ปัจจุบันมีการทำธุรกิจเกี่ยวกับการขายข้อมูลส่วนบุคคลเกิดขึ้นแล้ว โดยจะเจาะไปเอาข้อมูลผ่านการสมัครใช้งานแพลตฟอร์ม แอปพลิเคชัน หรือเว็บไซต์ขายของออนไลน์ต่างๆ เป็นจำนวนไม่น้อย

ส่วนกรณีข้อมูลผู้บริโภครั่วไหลเมื่อเดือน พ.ย.2563 นั้น ได้เชิญบริษัทอีคอมเมิร์ซแพลตฟอร์มต่างประเทศมาสอบถาม ได้ข้อมูลว่า สาเหตุเป็นเพราะบริษัทคนกลางที่รับช่วงต่อบริการข้อมูลลูกค้าทำรั่วไหล จึงได้ให้สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) กระทรวงดีอีเอส จัดให้ลงทะเบียน และอบรมผู้บริการอีคอมเมิร์ซ มีผู้เข้าร่วมเกือบ 150 บริษัท โดยหลังจากนี้หากพบการรั่วไหลของข้อมูลผู้บริโภคในจุดใดก็สามารถเอาผิดต่อผู้ที่รับผิดชอบให้บริการตามกฎหมายได้ทันที เพราะถือว่ากฎหมายบังคับใช้แล้ว


กำลังโหลดความคิดเห็น