xs
xsm
sm
md
lg

มุมมอง 'AIS NEXT' 5 เทรนด์ใหญ่ที่ต้องเร่งปรับตัวรับอนาคต (Cyber Weekend)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การแยกหน่วยธุรกิจออกมาคิดค้นนวัตกรรม ถือเป็นทิศทางที่เกิดขึ้นกับทุกๆองค์กรใหญ่ ที่ต้องการทีมงานที่มีความคล่องตัว สามารถคิดค้นนวัตกรรมหรือรูปแบบธุรกิจใหม่ๆ เพื่อเข้ามาปรับเปลี่ยนรูปแบบการสร้างรายได้พร้อมกับเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม

จากความท้าทายของ 'ดิจิทัล ดิสรัปชัน' ที่ทุกภาคธุรกิจต้องเผชิญ หน่วยงานคนรุ่นใหม่เหล่านี้จึงเกิดขึ้นเพื่อคิดค้น และนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยตอบโจทย์การใช้ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป ด้วยการนำเครื่องมือต่างๆ ที่องค์กรธุรกิจมี เสริมด้วยไอเดีย เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงให้แก่สังคม

หนึ่งในนั้นคือ 'AIS NEXT' ซึ่งถือเป็นหน่วยงานสำคัญที่มีจุดกำเนิดในช่วงที่เอไอเอส ต้องการเปลี่ยนผ่านองค์กรจากผู้ให้บริการโทรคมนาคม สู่ดิจิทัล เซอร์วิส โพรวายเดอร์ ด้วยการเข้าไปส่งเสริมสตาร์ทอัปต่างๆ ให้สามารถสร้างสินค้าและบริการที่เข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาในระดับประเทศ

อราคิน รักษ์จิตตาโภค หัวหน้าฝ่ายขับเคลื่อนนวัตกรรม บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส เปิดเผยข้อมูลว่าในช่วงที่ผ่านมามีโครงการถูกนำเสนอเข้ามาใน AIS NEXT กว่า 211 โครงการ แต่มีโครงการที่สำเร็จ และถูกนำมาให้บริการจริงราว 20 กว่าโครงการเท่านั้น

ดังนั้น จึงเป็นเรื่องปกติที่การทำสตาร์ทอัปในปัจจุบันกว่า 95-99% มีโอกาสที่ธุรกิจนั้นจะไม่เกิดขึ้น โดยเฉพาะความท้าทายในการสร้างนวัตกรรมในประเทศไทยที่มีประชากรอยู่ราว 70 ล้านคน เมื่อเทียบกับการแข่งขันในระดับโลกที่มีฐานผู้ใช้กว่าพันล้านคนนั้นถือว่าเป็นกำแพงขนาดใหญ่ที่ทำให้นวัตกรรมในไทยเกิดได้ยากขึ้น

'การสร้างนวัตกรรมให้เกิดขึ้นนั้น อย่างแรกเลยคือต้องยอมรับให้ได้ก่อนว่ามีโอกาสที่จะผิดพลาดได้ โดยให้คิดไว้ว่าถ้าไม่ได้ลงมือทำจะรู้สึกผิดพลาดมากกว่าจึงอยากเข้ามาเชิญชวนให้คนไทยทุกคนเข้ามาร่วมสร้างนวัตกรรมร่วมกันในระดับประเทศ'

ประกอบกับ เมื่อ 'เอไอเอส' มีเทคโนโลยีในการสื่อสารที่สำคัญๆ อย่าง 5G จนถึงเทคโนโลยีที่เกี่ยวเนื่องทั้งคลาวด์ ปัญญาประดิษฐ์ บิ๊กดาต้า จนถึง IoT เข้ามาเป็นเครื่องมือในการสร้างนวัตกรรมให้แก่ประชาชนทั่วไปให้สอดคล้องกับเทรนด์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นเพื่อผสมผสานออกมาให้สร้างประโยชน์แก่สังคมมากที่สุด


โดย AIS NEXT ได้มีการสรุปถึง 5 เทรนด์ที่ถือว่าเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมส่งผลกระทบแก่ผู้ใช้ องค์กร จนถึงระดับประเทศ มาไว้เป็นแนวทางในการสร้างความท้าทายให้ทุกฝ่ายเข้ามาเตรียมความพร้อมในการรับมือและสร้างการเปลี่ยนแปลงไปด้วยกัน ประกอบไปด้วย

1.Digital Identity Foundation Initiative หรือการสร้างรูปแบบการยืนยันตัวตนที่เป็นมาตรฐานให้ทุกองค์กรหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถเข้ามาหยิบใช้ในการยืนยันตัวตนผู้ใช้ได้ เพียงแต่ต้องมีการควบคุมความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้จนถึงทำอย่างไรให้ประชาชนเชื่อมั่นในการเก็บข้อมูลของหน่วยงานราชการในไทย

2.Digital Archive & Intelligence Initiative เมื่อการเก็บข้อมูลด้วยเซ็นเซอร์และอุปกรณ์ IoT ต้องถูกนำไปวิเคราะห์เพื่อให้สามารถตอบสนองการใช้งานของผู้ใช้เพื่อให้เกิดข้อมูลเชิงลึก ทำอย่างไรจึงสามารถเก็บข้อมูลเหล่านี้ไว้ในคลาวด์เพื่อให้ผู้ที่สนใจสามารถนำข้อมูลไปประยุกต์ใช้งานต่อได้

3.Phygital Exchange Market Initiative จากการที่ปัจจุบันเทรนด์ของการแลกเปลี่ยนสิ่งของในโลกความเป็นจริงและโลกเสมือนเริ่มเกิดขึ้นแล้ว ทำอย่างไรถึงจะสามารถควบคุมตลาดซื้อขายระหว่างสินทรัพย์ดิจิทัลและสินทรัพย์จริง จนถึงการสร้างระบบการจัดเก็บข้อมูลดิจิทัลระหว่างสินทรัพย์ในโลกจริงและโลกเสมือนที่เป็นรากฐานให้แก่ประเทศไทย

4.Future Workforce Platform Initiative การที่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ภาวะสังคมผู้สูงอายุ ทำให้ขาดทักษะของกลุ่มคนรุ่นใหม่ในสังคมจนทำให้เกิดการแยกกันระหว่างกลุ่มดิจิทัลโดยกำเนิด (Digital Natives) และกลุ่มผู้อพยพทางดิจิทัล (Digital Immigrants) ทำให้เทรนด์ของการเรียนรู้แบบทีละเล็กละน้อย (Micro-Learning) เกิดขึ้นในวงกว้าง ทำอย่างไรถึงจะเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาเหล่านี้เพื่อปรับเปลี่ยนโครงสร้างสังคมในการทำงานให้ดียิ่งขึ้น

5.Digital Police Initiative เมื่อสินค้าและบริการต่างๆ อยู่ในรูปแบบของดิจิทัลมากขึ้น การบังคับใช้กฎหมายในโลกดิจิทัลในประเทศไทย รวมถึงการใช้กฎหมายดิจิทัลกับโลกของอุปกรณ์ IoT ในยุค 5G เพื่อรักษาความปลอดภัย และอาชญากรรมไซเบอร์ทำให้ต้องมีกฎระเบียบที่ชัดเจนเข้ามาควบคุม

จาก 5 เทรนด์นี้ ทำให้ AIS NEXT มีการเปิดรับสมัครผู้ที่สนใจเข้าร่วมคิดค้นนวัตกรรมภายใต้โครงการอย่าง 'JUMP THAILAND 2021' ผ่านรูปแบบของ Online Hackathon ซึ่งจะเริ่มรับหัวข้อที่ต้องการเห็นประเทศไทยเปลี่ยนแปลงจนถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์นี้ ก่อนเริ่มการแข่งขันเพื่อชิงงบประมาณสนับสนุนกว่า 100 ล้านบาท

สิ่งหนึ่งที่ทีม AIS Next ได้เรียนรู้จากช่วงที่ผ่านมาคือการกำหนดเป้าหมายจะทำให้เกิดความกดดันในการคิดค้นนวัตกรรม จนทำให้ทีมงานหรือพนักงานไม่เกิดการเสนอไอเดีย เพราะเริ่มรู้สึกว่าไม่สนุก ดังนั้น ในปีนี้จึงไม่ได้มีการวางเป้าหมายที่ชัดเจนไว้ว่าจะต้องมีไอเดียใหม่ๆ ที่ถูกคิดค้น และลงมือทำให้สำเร็จจำนวนเท่าไหร่

อย่างช่วงที่ผ่านมา มีโครงการที่ทำสำเร็จไปแล้วประมาณ 20 โครงการ สามารถสร้างรายได้กลับมาให้แก่บริษัทกว่า 100 ล้านบาท เป้าหมายของปีนี้จึงเป็นการเพิ่มสัดส่วนในการสร้างรายได้ และนำแนวคิดของแต่ละโครงการมาผลักดันให้เกิดการสร้างนวัตกรรมเพิ่มเติมมากกว่า

'ขณะเดียวกัน ยังพบว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในยุคปัจจุบันนี้คือขอบเขตของธุรกิจไม่ใช่สี่เหลี่ยมที่แต่ละองค์กรต้องอยู่ในกรอบอีกต่อไป แต่เริ่มมีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น ทำให้ทางเอไอเอสต้องมีการออกจากโลกเก่าที่เป็นโทรคมนาคม ซึ่งถือว่ามีพื้นฐานที่แข็งแรงและมีประสิทธิภาพสูงมากสามารถนำไปต่อยอดทางธุรกิจได้หลายแขนง'

ก่อให้เกิดแนวคิด ส่งเสริมให้เอไอเอสนำแพลตฟอร์มที่มีเข้าไปเชื่อมต่อกับพันธมิตรทางธุรกิจได้หลากหลาย ภายใต้แนวคิดที่จะเติบโตร่วมกันไปกับพันธมิตรทางธุรกิจด้วยการเข้าไปอยู่เบื้องหลังความสำเร็จของธุรกิจต่างๆ ที่นำเทคโนโลยีไปต่อยอดอย่างธุรกิจประกันภัย ที่เริ่มจากการเป็นโบรกเกอร์นำเสนอประกันภัยรูปแบบต่างๆ หรือการนำเทคโนโลยีไปผสมผสานกับการใช้งานรถยนต์ เพื่อนำเสนอประกันภัยรถที่จะตรวจจับเวลาใช้รถ รวมถึงนำพฤติกรรมการขับรถมาคำนวณเบี้ยประกันต่างๆ เป็นต้น

'ดังนั้น นวัตกรรมที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอาจจะเกิดขึ้นจากไอเดียเล็กๆ ที่ต้องการเข้าไปแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมที่ถูกขับเคลื่อนด้วยแพลตฟอร์มเทคโนโลยีระดับประเทศเพื่อร่วมยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยให้ดีขึ้นได้'


กำลังโหลดความคิดเห็น