xs
xsm
sm
md
lg

"พล.ต.สุพิชาติ" ผู้สมัคร กสทช.ร้อง ปธ.วุฒิสภา พบผู้ผ่านคุณสมบัติ กสทช.ขาดคุณสมบัติทางกฎหมาย 4 ด้าน 5 คน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"พล.ต.สุพิชาติ" 1 ใน 80 ผู้สมัครกรรมการ กสทช. ด้านกฎหมาย ร้องประธานวุฒิสภา แจงผู้ผ่านคุณสมบัติ กสทช.มีคุณสมบัติขัดต่อกฎหมาย 4 ด้าน 5 คน ขอให้วุฒิสภานำรายชื่อกลับไปให้คณะกรรมการสรรหา กสทช.เลือกใหม่ เผยสัปดาห์หน้าเดินทางร้องศาลปกครอง ขอทุเลาการสรรหา กสทช.เหตุพบ 10 ใน 14 รายชื่อที่ผ่านคุณสมบัตินั้นตกคุณสมบัติทั้งหมด

เมื่อเวลา 10.00 น. พล.ต.สุพิชาติ เสนานุรักษ์ อายุ 68 ปี ข้าราชการบำนาญ กองทัพบก ผู้สมัครด้านกฎหมาย เดินทางมายังสำนักงานประธานวุฒิสภาเพื่อยื่นหนังสือถึงประธานวุฒิสภา นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ผ่าน นายพงศ์กิตติ์ อนุณภักดีสกุล ที่ปรึกษาด้านการเมือง การปกครอง และการบริหารจัดการ สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา เรื่อง ผู้สมัคร กสทช.ขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมาย

พล.ต.สุพิชาติ กล่าวว่า หลังจากยื่นหนังสือในครั้งนี้แล้ว ภายในสัปดาห์หน้าตนจะรวบรวมเอกสารเกี่ยวกับการขาดคุณสมบัติของผู้สมัคร 10 จาก 14 คน ต่อศาลปกครองกลางเพื่อให้ทุเลาการสรรหา กสทช.ไปก่อน

ทั้งนี้ ตามที่คณะกรรมการสรรหา กสทช. ได้ประกาศรายชื่อผู้ที่ผ่านการคัดเลือกในรอบแรกจำนวน 14 คนนั้น เห็นว่าคณะกรรมการสรรหา กสทช. มีการคัดเลือกน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากกระทำการโดยไม่มีอำนาจหรือนอกเหนืออำนาจหน้าที่ หรือไม่ถูกต้องตามกฎหมายหรือโดยไม่ถูกต้อง ตามรูปแบบขั้นตอนหรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้สำหรับการกระทำนั้นหรือโดยไม่สุจริตหรือมีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมหรือมีลักษณะเป็นการสร้างขั้นตอนโดยไม่จำเป็นหรือสร้างภาระให้เกิดกับผู้สมัครเป็นสมควรหรือเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ

ทั้งนี้ เนื่องจากปรากฏข้อเท็จจริงว่า มีบุคคลผู้สมัครที่คณะกรรมการสรรหา กสทช. ได้คัดเลือกหลายรายเป็นบุคคลที่ขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 7 และมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) และมีความใกล้ชิดสนิทสนมกับคณะกรรมการสรรหา กสทช. โดยมีประโยชน์ได้เสียหรือทับซ้อนที่เห็นได้อย่างชัดเจนที่สุด คือ การที่คณะกรรมการสรรหา กสทช. มีการถามนำในการแสดงวิสัยทัศน์ให้ผู้สมัครบางคนที่ตนเองมีรายชื่อตามโผมาแล้วโดยถามคำถามอันเป็นการให้ผู้สมัครมีการแก้ตัว เป็นคำถามที่เอื้อประโยชน์ต่อตัวผู้สมัครเองหรือถามคำถามในลักษณะให้ผู้สมัครได้รับความเสียหายถือว่าเป็นการใช้ดุลพินิจโดยไม่ชอบ เมื่อพิจารณาจากรายชื่อผู้ที่ผ่านกระบวนการคัดเลือกในรอบแรกจำนวน 14 คนนั้น จะเห็นได้ว่ามีบุคคลบางรายมีส่วนได้เสียเกี่ยวข้องกับคณะกรรมการสรรหา กสทช. ไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อม กล่าวคือ

1.ด้านโทรคมนาคม (เป็นบุคคลเดิมผู้เคยได้รับคัดเลือกมาแล้วปี 2561) คือ นายกิตติศักดิ์ ศรีประเสริฐ อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท จำกัด (มหาชน) เป็นบุคคลที่เคยถูกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สั่งให้พ้นจากการเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่เพราะมีพฤติการณ์ไม่น่าไว้วางใจ จบการศึกษาระดับปริญญาตรี (วศ.บ. ) จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าฯ เจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจร.) และ ได้ไปเรียนต่อด้านวิทยาศาสตร์และบริหารธุรกิจที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เคยเป็นผู้ผ่านการสรรหาเป็นกรรมการ กสทช. ในรอบ 14 คนปี 2561 (แต่ถูกมาตรา 44 ยกเลิก)

และมีข้อมูลปรากฏในประวัติในการสมัครเข้ารับการสรรหา กสทช. ว่า นาย กิตติศักดิ์ ทำงานเป็นที่ปรึกษาด้านโทรคมนาคมให้แก่ บริษัท เพลย์เวิร์ค จำกัด ภายหลังจากที่ได้ออกจาก กสท โทรคมนาคม แล้ว แต่น่าจะเป็นตำแหน่งที่ไม่เป็นจริง เพราะบริษัท เพลย์เวิร์ค จำกัด  และ ข้อเท็จจริงปรากฏว่า บุคคลผู้นี้ได้ทำงานด้านบริหารธุรกิจตลอดมาระยะเวลาการทำงานในด้านกิจการโทรคมนาคมจึงขาดตอนเป็นช่วงๆ ไม่สม่ำเสมอและต่อเนื่อง รวมแล้วไม่ถึง 10 ปี และเป็นผู้ไม่มีความรู้ความเชี่ยวชาญประสบการณ์และผลงานด้านโทรคมนาคมตามที่ลงสมัครแต่อย่างใด จึงถือได้ว่าเป็นผู้ที่ขาดคุณสมบัติตามมาตรา 14/1, 14/2 (6) และมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 7 ข (14) กล่าวคือ เคยเป็นผู้ต้องพ้นจากตำแหน่งกรรมการหรือผู้บริหารบริษัทมหาชนจำกัด เพราะเหตุมีลักษณะที่แสดงถึงการขาดความเหมาะสมที่จะได้รับความไว้วางใจให้บริหารจัดการกิจการที่มีมหาชนเป็นผู้ถือหุ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

2.ด้านวิศวกรรม คือ นายสมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร เคยเป็นแต่อาจารย์สอนหนังสือ ไม่เคยปฏิบัติงานด้านโทรคมนาคมมาก่อนเลยจึงเป็นผู้ไม่มีความเชี่ยวชาญประสบการณ์และผลงานด้านโทรคมนาคมตามที่ลงสมัครแต่อย่างใดตามมาตรา 14 และเมื่อตรวจสอบประวัติปรากฏข้อเท็จจริงว่าบุคคลผู้นี้ได้เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท เพลย์เวิร์ค จำกัด จำนวนหนึ่งจึงถือได้ว่า เป็นผู้ที่ขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 7ข (12) กล่าวคือเป็นหรือเคยเป็นกรรมการผู้จัดการผู้บริหารที่ปรึกษาพนักงานผู้ถือหุ้น หรือหุ้นส่วนในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนหรือนิติบุคคลอื่นใดที่ประกอบธุรกิจด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมในระยะเวลา 1 ปีก่อนได้รับการคัดเลือกตามมาตรา 15

นายอานนท์ ทับเที่ยง ประธานสาขาการจัดการธุรกิจดิจิทัลประธานสาขาการจัดการโทรคมนาคมและบรอดคาสติ้ง อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบุคคลที่เคยถูกคณะกรรมการบริหารของทีโอที มีมติเลิกจ้างให้พ้นจากตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ ทีโอที เนื่องจากมีวิธีการทำงานไม่สอดคล้องเหมาะสมไปกันไม่ได้กับบอร์ดบริหารของทีโอที เนื่องจากช่วงที่ผ่านมาปรากฏว่า การบริหารงานไม่มีประสิทธิภาพไม่สนองตอบนโยบายของบอร์ดทำให้ทีโอทีเสียหายไม่สามารถแข่งขันกับผู้ให้บริการโทรคมนาคมรายอื่นได้ โดยเฉพาะทำให้โครงการ 3G ทั่วประเทศล่าช้าไม่สามารถเปิดให้บริการได้ทันตามกำหนดเวลาได้ ทำให้รัฐต้องเสียประโยชน์เป็นอย่างมากจึงมีมติเลิกจ้างให้ นายอานนท์ พ้นจากตำแหน่งโดยการเซ็นใบลาออกล่วงหน้ามีผลในวันที่ 24 ก.พ.2555 ทั้งนี้ เนื่องจากรูปแบบสัญญาจ้างของนายอานนท์ ที่เริ่มงานเมื่อวันที่ 27 เม.ย.2554 ในสมัยของรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งบอร์ดชุดที่แล้วไม่ได้ดำเนินการในส่วนของสัญญาการประเมินผลงานจากมาตรฐานสัญญาจ้างของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่ต้องประเมินทุก 5 เดือน ส่งผลให้ที่ผ่านมา นายอานนท์ ไม่เคยถูกประเมินผลงานเลยบอร์ดจึงให้ดำเนินการในลักษณะการให้เซ็นใบลาออก เพื่อจะได้สรรหาผู้บริหารคนใหม่ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น อีกทั้งยังพบปัญหาว่า ไม่เหมาะที่จะทำงานในระดับบริหารสูงสุด เนื่องจากไม่สามารถควบคุมหรือสั่งงานระดับรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ได้ นายอานนท์ จึงไม่ยอมดำเนินการใดๆ ในการประสบกับปัญหาอุทกภัยที่ผ่านมาส่งผลทำให้โครงการต่างๆ ของทีโอทีล่าช้ามากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีปัญหาภายในบอร์ดทีโอทีขาดเอกภาพและขัดแย้งกันอย่างหนักจากการที่บอร์ดแต่ละรายมาจากหลายขั้วอำนาจแม้จะอยู่ภายใต้รัฐบาลเดียวกันก็ตาม โดยเฉพาะโครงการ 3G ทั่วประเทศที่มีบอร์ดบางรายมีความเชื่อมโยงกับ บริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ชนะการประมูลในนามเอสแอลคอนซอร์เดียม จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงถือได้ว่า นายอานนท์ เป็นบุคคลที่เคยต้องพ้นจากตำแหน่งผู้บริหาร บริษัทมหาชน เพราะเหตุขาดความเหมาะสมจึงทำให้ขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 7ข. (14) กล่าวคือเคยเป็นผู้ต้องพ้นจากตำแหน่งกรรมการหรือผู้บริหารบริษัทมหาชนจำกัด เพราะเหตุมีลักษณะที่แสดงถึงการขาดความเหมาะสมที่จะได้รับความไว้วางใจให้บริหารจัดการกิจการที่มีมหาชนเป็นผู้ถือหุ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

3.ด้านกฎหมาย คือ ร.ท.ดร. ธนกฤษฎ์ เอกโยคยะ เป็นนักวิชาการพาณิชย์ชำนาญการพิเศษ สำนักเครื่องหมายการค้า กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงปรากฏว่า บุคคลผู้นี้มีตำแหน่งเทียบได้กับข้าราชการพลเรือนในระดับ 8 เท่านั้นซึ่งถือว่ามิใช่รองหัวหน้าหน่วยงานใดๆ จึงเห็นได้ว่าเป็นบุคคลผู้ที่ขาดคุณสมบัติ ตามมาตรา 14/2 (1) กล่าวคือเป็นหรือเคยเป็นข้าราชการพลเรือนพนักงานในหน่วยงานอื่นของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจที่ดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่ารองหัวหน้าส่วนราชการตั้งแต่ระดับกรมขึ้นไป หรือรองหัวหน้าหน่วยงานอื่นของรัฐที่เป็นนิติบุคคลหรือรัฐวิสาหกิจ

4.ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคหรือส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน คือ พล.ต.ท.เกียรติพงศ์ ขาวสำอางค์ อดีตผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จากการตรวจสอบกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ระบุข้อมูลว่า เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2564 ว่าบุคคลผู้นี้เป็นกรรมการ บริษัท เซเว่น ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นนิติบุคคลประกอบธุรกิจการสื่อสารโทรคมนาคมได้มีการจดทะเบียน บริษัท 3 พีอินโฟเซอร์วิส จำกัด เป็นบริษัทย่อยของบริษัท เซเว่น ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด ที่ถือหุ้นผ่านบริษัท เทเลแม็กซ์ เอเชีย คอร์ปอเรชั่น 70% เป็นผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม ได้เคยเข้าร่วมการประมูลโครงการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงชายขอบ (ยูโซ่เน็ต) เฟส 2 ของสำนักงาน กสทช. ที่เปิดประมูลเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2561 จำนวน 7 สัญญา ซึ่งบริษัทย่อยของบริษัทเซเว่น ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ ที่บุคคลผู้นี้เป็นกรรมการเข้าร่วมประมูล 1 สัญญา มูลค่าราว 2,000 ล้านบาท ปจจุบันยังเป็นนิติบุคคลที่ประกอบธุรกิจโทรคมนาคมอยู่โดยถือหุ้นผ่านบริษัทลูกคือ บริษัท อินฟอร์เมติกส์พลัส จำกัด และบริษัท เอ็มโซลูชั่น จำกัด โดยประกอบธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศและให้บริการด้านข้อมูลข่าวสารและเทคโนโลยี จึงถือได้ว่าบุคคลผู้นี้เป็นผู้ที่ขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามอย่างชัดเจนตามมาตรา 7ข. (12) กล่าวคือเป็นหรือเคยเป็นกรรมการผู้จัดการผู้บริหารที่ปรึกษาพนักงานผู้ถือหุ้นหรือหุ้นส่วนในบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนหรือนิติบุคคลอื่นใดที่ประกอบธุรกิจด้านกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมในระยะเวลา 1 ปีก่อนได้รับการคัดเลือกตามมาตรา 15






กำลังโหลดความคิดเห็น