xs
xsm
sm
md
lg

สำนักงาน กสทช. เตรียมชงคลื่น 3500 MHz ให้บอร์ดชุดใหม่เคาะประมูล

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สำนักงาน กสทช.กางแผน 5G ปี 2564 เตรียมนำคลื่น 3500 MHz ให้บอร์ด กสทช.ชุดใหม่เคาะวันประมูล ส่วนคลื่นที่เหลือ 1800 MHz และ 28 GHz เร่งต่อยอดยูสเคสใช้งาน 5G พร้อมดันการใช้โครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมร่วมกัน ควบคู่การดำเนินการจัดระเบียบสายโทรคมนาคม เพิ่มความเร็วเน็ตถิ่นทุรกันดาร ปรับกฎหมายให้สอดคล้องกับยุคสมัยใหม่ และปรับองค์กรสู่ดิจิทัล ชี้ไม่นาน 5.5G มาแน่ ตอบโจทย์ความต้องการแบนด์วิธสูงขึ้น และการเชื่อมต่อระหว่างอุปกรณ์กับอุปกรณ์ รวมถึงการสื่อสารแบบสมจริง 
***ศึกษาคลื่น 3500 MHz ก่อนประมูล


นายสุทธิศักดิ์ ตันตะโยธิน รองเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวถึงแผนการประมูลคลื่น 5G ในปี 2564 ว่า จะเป็นการเตรียมความพร้อมในการนำคลื่น 3500 MHz จำนวน 300 MHz มาประมูลซึ่งสำนักงาน กสทช.ต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์ต่างๆ เช่น คลื่นที่ต้องกันมาทำการ์ดแบนด์ เพื่อไม่ให้มีสัญญาณรบกวน ต้องใช้เท่าไหร่ รวมถึงการศึกษาเรื่องเงินเยียวยาคลื่นให้แก่ผู้ใช้จานดำกว่า 10 ล้านราย เป็นต้น คาดว่าจะดำเนินการศึกษาในช่วงไตรมาส 2 หรือ 3 ของปี 2564

ทั้งนี้ สำนักงานต้องเตรียมความพร้อมสำหรับเป็นข้อมูลให้คณะกรรมการ (บอร์ด) กสทช.ชุดใหม่ตัดสินใจได้ทันที คาดว่าจะสามารถออกหลักเกณฑ์การประมูลภายในปลายปี 2564 นอกจากนี้ ยังมีคลื่นอื่นๆ ที่คาดว่าจะต้องเตรียมนำมาประมูลอีก ได้แก่ คลื่น 1800 MHz เหลืออยู่ 35 MHz และคลื่น 28 GHz จำนวน 2 GHz รวมถึงต้องมีการจัดทำมาตรฐานการให้บริการ 5G ด้วย

นอกจากนี้ สำนักงาน กสทช.ต้องเร่งผลักดันให้เกิดยูสเคส 5G ใหม่ๆ ต่อเนื่องจากปี 2563 ที่ได้เริ่มทำไปแล้วกับภาคการเกษตร สาธารณสุข และการท่องเที่ยว โดยในปี 2564 จะมีการเพิ่มเติมในกลุ่มการศึกษา ซึ่งอยู่ระหว่างการหาพันธมิตรสถาบันการศึกษา กลุ่มคมนาคม ขนส่ง เช่น การทำสถานีบางซื่อให้เป็นสถานี 5G และกลุ่มการบริหารทรัพยากรน้ำ ซึ่งทำร่วมกับมูลนิธิปิดทองหลังพระ ภายใต้งบประมาณ 20 ล้าน ใช้เวลา 6 เดือน เพื่อติดเซ็นเซอร์ตามแปลงเกษตรกร ในการควบคุมการปล่อยน้ำให้เกษตรกร ให้มีน้ำเพียงพอเหมาะสมกับการทำการเกษตรตามฤดูกาล รวมถึงป้องกันการลักลอบปล่อยน้ำ หรือขโมยน้ำ เป็นต้น ซึ่งสำนักงาน กสทช.จะดำเนินงานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) คาดว่าจะมีการเสนอต่อคณะกรรมการขับเคลื่อน 5G แห่งชาติ (บอร์ด 5G) ในเดือน ม.ค.2564

***จัดระเบียบสาย-เพิ่มความเร็วเน็ตถิ่นทุรกันดาร

นายสุทธิศักดิ์ กล่าวว่า การส่งเสริมและสนับสนุนการใช้เทคโนโลยี 5G เป็น 1 ใน 4 แนวทางการดำเนินด้านกิจการโทรคมนาคม ซึ่งสำนักงาน กสทช.ต้องมีแผนในการดำเนินงานดังกล่าวอีก 3 ด้าน ประกอบด้วย 1.การส่งเสริมและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม โดยต้องหาแนวทางในการส่งเสริมให้เกิดการใช้งานโครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน ได้แก่ การจัดระเบียบสายสื่อสารแบ่งออกเป็นการจัดระเบียบสายสำหรับพื้นที่ที่ยังไม่สามารถลงดินได้ จำนวน 600 กม. และการจัดระเบียบสายลงดิน จำนวน 200 กม.รวมถึงต้องเร่งหาข้อสรุปเรื่องค่าเช่าท่อร้อยสายระหว่างบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด

นอกจากนี้ ต้องมีการขยายความเร็วอินเทอร์เน็ตในการให้บริการโครงการ USO Net ในถิ่นทุรกันดารจากเดิมที่ให้บริการอยู่ที่ 30/10 Mbps รวมถึงการเร่งเปิดประมูลโครงการ USO Net ในพื้นที่ที่บริษัท ทีโอที ทำไม่เสร็จ เพื่อให้ผู้ประกอบการรายอื่นดำเนินการต่อให้แล้วเสร็จโดยเฉพาะศูนย์ USO Net ที่มีปัญหาอยู่

2.การยกระดับการกำกับดูแลยุคใหม่ ได้แก่ การปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการโทรคมนาคมที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2551 ให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีที่มีการหลอมรวมกัน การออกกฎ หรือการกำกับผู้ได้รับใบอนุญาตให้เหมาะสมกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ รวมถึงมีการขยายความร่วมมือความปลอดภัยด้านข้อมูลในบริการโทรคมนาคม ต่อยอดจากที่ได้ตั้ง TCC-CERT เพื่อเฝ้าระวังภัยคุกคามด้านโทรคมนาคม ซึ่งจะมีการจับมือเพิ่มเติมกับธนาคารแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลการเฝ้าระวังภัยไซเบอร์ที่เกิดในวงการการเงินกับวงการโทรคมนาคมที่เกี่ยวข้องกันด้วย ตลอดจนการยกระดับการให้บริการโทรคมนาคมให้มีมาตรฐานและความปลอดภัยผ่านโมบาย ไอดี และการยืนยันตัวตน e-KYC

ด้านสุดท้าย คือ การทรานฟอร์เมชันองค์กรไปสู่องค์กรดิจิทัล โดยสำนักงาน กสทช.จะมีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อใช้ในการกำกับดูแลและการวิจัยมากขึ้น ด้วยการประยุกต์ใช้ เทคโนโลยีการวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อพัฒนาฐานข้อมูลโทรคมนาคม เพื่อให้มีการรายงานแบบอินเตอร์แอ็กทีฟมากขึ้น รวมถึงการนำเครื่องมือดิจิทัลมาใช้งานให้เป็นประโยชน์ในการประสานความร่วมมือกับผู้ประกอบการ ตลอดจนหน่วยงานวิจัยทั้งภายใน และนอกประเทศ เพื่อลดการใช้งานเอกสารกระดาษ เป็นต้น

***ชี้เทรนด์ 5.5G มาแน่

สำหรับทิศทางเทคโนโลยี คาดว่าภายในไม่กี่ปีเทคโนโลยี 5.5G จะมีความสำคัญมาก ซึ่งหัวเว่ยมีการระบุว่า รูปแบบการเชื่อมต่อระหว่างสิ่งของต่างๆ จะต้องได้รับการพัฒนาให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้นไปอีก ดังนั้น การมี 5.5G จึงเป็นสิ่งสำคัญซึ่งนิยามของ 5.5G จะมีคุณสมบัติเพิ่มเติมจาก 5G จากเดิมที่ความสามารถของ 5G คือ ความเร็ว ความสามารถในการเชื่อมต่ออุปกรณ์ และความหน่วงต่ำ อีก 3 ประการ ประกอบไปด้วย 1.การอัปลิงก์ ตอบสนองการอัปโหลดเอชดีวิดีโอ บนโซเชียลเน็ตเวิร์ก ซึ่งต้องใช้แบนด์วิธขนาดใหญ่ เป็น 10 เท่าของ 5G

2.เรียลไทม์ รองรับโฮโลกราฟิก เช่น วีอาร์ เออาร์ และที่เหนือกว่า คือ เอ็มอาร์ ผสมผสานกับเรื่องจริง เช่น กำลังดูการแข่งขันฟุตบอลจากบ้านแต่เห็นภาพฉายเป็นโฮโลแกรมซึ่ง 5G ก็ ทำได้ แต่ 5.5 G จะทำให้เรียลไทม์มากขึ้นและเข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันมากขึ้น เช่น การคุยกับเพื่อนแบบโฮโลกราฟิก และ 3.ความหน่วงต่ำ ทำให้ระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติเกิดขึ้นได้จริง เช่น การเชื่อมต่อรถยนต์กับรถยนต์ กรณีรถไร้คนขับ หรือหุ่นโดรนเชื่อมต่อถึงกันได้จริง รวมถึงทำให้สถานการณ์ต่างๆ ที่ต้องใช้ระบบการขับเคลื่อนแบบอัตโนมัติเกิดขึ้นได้จริง


กำลังโหลดความคิดเห็น