หนึ่งในแพลตฟอร์มที่มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดในปีนี้ โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา ที่มีจำนวนผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทย แต่เป็นกระแสที่เกิดขึ้นทั่วโลกคงหนีไม่พ้น TikTok แพลตฟอร์มวิดีโอสั้นที่เปิดให้ผู้คนเข้ามารับชมคอนเทนต์ความบันเทิงที่หลากหลาย
ขณะเดียวกัน TikTok ยังกลายเป็นแพลตฟอร์มที่ส่งต่อจากกระแสรองให้กลายมาเป็นกระแสหลักในสังคม ผ่านการทำแคมเปญชาเลนจ์ต่างๆ ที่กระตุ้นให้ผู้ชมเกิดการทำตาม อย่างการเต้น ร้องเพลง ประกอบกับความนิยมในการเข้าถึงวิดีโอแบบสั้นมีเพิ่มมากขึ้น เพราะช่วยประหยัดเวลาในการเข้าถึงคอนเทนต์ต่างๆ ได้
แน่นอนว่า ภาพในปัจจุบันของ TikTok ในเวลานี้ ไม่ได้เหมือนกับในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา หลังจากที่มีกลุ่มผู้ใช้งานเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะบรรดาครีเอเตอร์ที่เข้ามาสร้างสรรค์คอนเทนต์ที่แปลกใหม่ สร้างความบันเทิงให้แก่ผู้ใช้งาน
ทำให้ในปี 2564 TikTok ได้มีการวางกลยุทธ์ครั้งสำคัญที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้แก่แพลตฟอร์มวิดีโอสั้นนี้ ด้วยการยกระดับให้กลายเป็นแพลตฟอร์มที่เป็นศูนย์รวมความคิดสร้างสรรค์ ให้แรงบันดาลใจแก่ทุกคน
สุรยศ เอี่ยมละออ หัวหน้าฝ่ายการตลาด TikTok ประเทศไทย กล่าวถึงภาพรวมของ TikTok ในช่วงปีนี้ว่า มีการเปลี่ยนแปลงหลักๆ ด้วยกัน 2 ส่วน คือ ในช่วงที่เกิดสถานการณ์กักตัว ได้มีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่เริ่มต้น และหยุดลงในช่วงนั้น อย่างการเข้ามาหาคอนเทนต์เพื่อความบันเทิงหรือการเปลี่ยนรูปแบบในการทำงานเฉพาะช่วงเวลานั้น
อีกส่วนคือเป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นในช่วงนั้น และมีการใช้งานต่อเนื่องมาจนปัจจุบันที่กลายเป็นวิถีชีวิตรูปแบบใหม่ อย่างการสั่งซื้อของผ่านช่องทางออนไลน์ สั่งอาหารผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ
หนึ่งในกระแสคอนเทนต์แนวใหม่ที่เกิดขึ้นคือ การส่งต่อความรู้ ภายใต้ #TikTokUni ที่สามารถสร้างยอดวิวสูงสุดในประเทศไทยได้กว่า 1.07 หมื่นล้านครั้ง แสดงให้เห็นว่า ครีเอเตอร์ไทย และผู้ใช้งานนิยมคอนเทนต์ที่มีเนื้อหาให้ความรู้ จนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภาพของแพลตฟอร์มขึ้น
ขณะเดียวกัน TikTok ได้มีการทำแคมเปญอย่าง #เมษาAtHome ที่ชวนให้คนไทยกักตัวอยู่บ้าน มียอดวิวสูงถึง 1.9 พันล้านครั้ง ส่วน TikTok Stars ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือ @kik0404 ที่มียอดกว่า 310 ล้านไลก์ ในกลุ่ม Music ที่มีศิลปินลาวที่ร้องเพลง ใส่ใจได้แค่มอง ของ Gx2 มียอดวิวกว่า 777 ล้านครั้ง สุดท้ายคือกลุ่ม Celeb ที่ @janeydm มียอด 298.1 ล้านไลก์
'เมื่อศึกษาเข้าไปในรูปแบบการใช้งานจะพบว่า ด้วยกระแสความนิยมคอนเทนต์วิดีโอสั้นที่มาแรง ทำให้เข้ามาทดแทนคอนเทนต์ภาพนิ่ง และวิดีโอที่มีความยาวได้ง่ายขึ้น จนเป็นที่มาของความสำเร็จในปีนี้ของ TikTok โดยเฉพาะในไทยที่มียอดผู้ใช้งานเติบโตเป็นลำดับต้นๆ ของภูมิภาค'
การที่จุดเด่นของ TikTok มีอยู่ 4 ส่วนด้วยกันคือ 1.การเป็นแพลตฟอร์มวิดีโอสั้นที่ใช้ระยะเวลาในการรับชมน้อยต่อคอนเทนต์ ท่ามกลางการแย่งชิงเวลาใช้งานจากบริการและอุปกรณ์อื่นๆ 2.แพลตฟอร์มในการค้นหาคอนเทนต์ ด้วยการนำแมชชีนเลิร์นนิ่งมาช่วยนำเสนอคอนเทนต์ที่ผู้บริโภคสนใจ 3.มีเครื่องมือให้ครีเอเตอร์เข้ามาสร้างสรรค์ผลงานบน TikTok ให้มีความน่าสนใจ และสุดท้าย 4.เป็นแพลตฟอร์มที่ให้ผู้ใช้เข้ามาร่วมกันสร้างคอนเทนต์ ทำให้เกิดความสนใจจากกลุ่มเพื่อน จนถึงการบอกต่อไปสู่ไวรัลมาร์เกตติ้งในท้ายที่สุด
'เมื่อเทียบกับแพลตฟอร์มวิดีโอขนาดยาว ผู้ใช้จะต้องใช้เวลามากกว่าในการเข้าถึงคอนเทนต์ ในขณะที่พฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้คนมีความเร่งรีบมากขึ้น จึงเป็นหนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ทำให้ TikTok ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น'
***สู่แพลตฟอร์มความคิดสร้างสรรค์ และแรงบันดาลใจ
เป้าหมายของ TikTok ที่ตั้งไว้ว่าจะเกิดขึ้นในปี 2564 คือมุ่งสู่การเป็นแพลตฟอร์มสร้างแรงบันดาลใจ ภายใต้ 3 กลยุทธ์ ที่นำคอนเทนต์ มาเป็นหัวใจหลัก เสริมด้วยผลิตภัณฑ์ และครีเอเตอร์ ในการยกระดับจากแพลตฟอร์มเพื่อความบันเทิง มาเป็นศูนย์รวมความคิดสร้างสรรค์และแรงบันดาลใจต่างๆ
โดย 3 กลยุทธ์นี้ จะประกอบไปด้วย 1.ด้านคอนเทนต์ ที่เข้าไปร่วมกับพันธมิตรในอุตสาหกรรมบันเทิง ดารา ศิลปิน มาร่วมสร้างคอนเทนต์แบบเอ็กซ์คลูซีฟ 2.ด้านผลิตภัณฑ์ ในการเพิ่มฟีเจอร์ใหม่ๆ อย่าง TikTok Live ให้ผู้ใช้ที่มีผู้ติดตามเกิน 1,000 คน เพิ่มความยาวคอนเทนต์วิดีโอเป็น 3 นาที สำหรับผู้ที่มีคนติดตามเกิน 5,000 คน ให้ตอบโจทย์การสร้างคอนเทนต์มากขึ้น
สุดท้าย 3.ด้านครีเอเตอร์ ที่เปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถเป็นครีเอเตอร์อาชีพ ด้วยการเข้าร่วมแคมเปญ ให้ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ จนถึงการเปิด TikTok Creator Marketplace เชื่อมต่อระหว่างแบรนด์ และครีเอเตอร์ให้เกิดการสร้างรายได้ โดยจะเริ่มทำแคมเปญกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ และสร้างแรงบันดาลใจในช่วงกลางเดือนธันวาคมนี้ ด้วยเนื้อหาเกี่ยวกับ #TikTokHowToรู้เลย ในการสอนใช้ชีวิตประจำวัน ทำอาหาร เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น
เพิ่มช่องทางการสร้างรายได้ผ่านระบบ Coin ให้สามารถเข้าไปสนับสนุนครีเอเตอร์ที่ชื่นชอบได้ รวมถึงการร่วมกับครีเอเตอร์ในการนำเนื้อหาบางส่วนจากแพลตฟอร์มอื่นเข้ามาเผยแพร่ภายใน TikTok เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงกัน อย่างเช่นการนำคอนเทนต์ให้ความรู้ผ่านพอดคาสต์มาเผยแพร่เป็นคลิปสั้นผ่าน TikTok ถ้าอยากฟังฉบับเต็มก็สามารถเชื่อมโยงไปได้
ขณะเดียวกัน TikTok ยังคงรักษาการพัฒนาแพลตฟอร์มให้ตอบโจทย์การใช้งานของผู้ใช้ทุกกลุ่มอายุ ภายใต้เป้าหมายระยะยาวคือการสร้างแพลตฟอร์มให้เติบโตอย่างยั่งยืนในประเทศไทย
***อัปเดตแนวทางปฏิบัติสำหรับชุมชน
นอกจากนี้ การที่ TikTok มีผู้ใช้งานที่อายุต่ำกว่า 24 ปี จำนวนกว่า 60% ทำให้ต้องพัฒนาระบบรักษาความปลอดภัย ทั้งความเป็นส่วนตัว และการจำกัดคอนเทนต์ที่ไม่เหมาะสมแก่เยาวชน เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ใช้งาน ครีเอเตอร์ และพันธมิตรในอีโคซิสเต็มเพิ่มเติมด้วย
ทำให้ในช่วงปีที่ผ่านมานี้ TikTok มีการเพิ่มเครื่องมือมาช่วยอย่าง Family Pairing หรือโหมดแนะนำโดยผู้ปกครอง ในการเชื่อมต่อบัญชีของผู้ปกครองเข้ากับบุตรหลาน เพื่อควบคุมระยะเวลาการใช้งาน จำกัดการแสดงเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม และจำกัดผู้คนที่จะส่งข้อความเข้ามาพูดคุย จนถึงปิดกั้นการรับข้อความ
จนถึงล่าสุด ได้เพิ่มฟีเจอร์เข้าไปให้ผู้ปกครองบริหารจัดการการใช้งานให้ใกล้ชิดมากขึ้น อย่างกำหนดการค้นหาข้อมูลของบุตรหลาน ผู้ใช้ แฮชแท็ก และเสียง กำหนดการแสดงความคิดเห็นที่จะเลือกได้ว่าให้ใครก็ได้มาแสดงความคิดเห็น หรือเลือกเฉพาะคนที่เป็นเพื่อน จนถึงปิดไม่ให้แสดงความคิดเห็นก็ได้
เช่นเดียวกับการดูเนื้อหาในแอ็กเคานต์ ที่ผู้ปกครองสามารถตั้งค่าได้ว่าจะให้ใครสามารถเข้าถึง หรือดูเนื้อหาของบุตรหลานได้ รวมถึงการแสดงเนื้อหาที่บุตรหลานเข้าไปกดไลก์ หรือชื่นชอบ
10 เทคนิคช่วยผู้ปกครองดูแลการใช้ TikTok
1.เปิดใช้โหมดแนะนำโดยผู้ปกครอง (Family Pairing) : เนื่องจาก TikTok พัฒนามาให้เยาวชนที่มีอายุ 13 ปีขึ้นไป เข้าใช้งานได้ ทำให้ผู้ปกครองต้องสามารถควบคุมการใช้งานให้เหมาะสมได้
2.ตั้งค่าความเป็นส่วนตัวให้กับบัญชีของบุตรหลาน (Private) : เนื่องจากค่าตั้งต้นจะเปิดให้บัญชีเป็นแบบสาธารณะ (Public) ดังนั้นถ้าเป็นเยาวชนใช้งานควรกำหนดให้เป็นแบบส่วนตัวเพื่อความปลอดภัย
3.เลือกว่าใครสามารถติดตามบัญชีของบุตรหลาน : เพื่อให้การใช้งานปลอดภัยมากที่สุด ผู้ปกครองสามารถเลือกได้ว่าจะอนุญาตให้ใครติดตามบัญชีของบุตรหลานได้ ในกรณีที่ไม่ต้องการก็สามารถลบ หรือบล็อกได้ด้วย
4.จำกัดคอนเทนต์ที่บุตรหลานมองเห็น : จากการที่เป็นแพลตฟอร์มที่เปิดกว้างทำให้คอนเทนต์มีความหลากหลาย ดังนั้น ถ้าเป็นบัญชีสำหรับเยาวชน ควรเลือกใช้งานในโหมดจำกัดเนื้อหาที่อาจไม่เหมาะสม จากหน้าการตั้งค่า
5.ควบคุมการแสดงความคิดเห็นในวิดีโอของบุตรหลาน : ด้วยการเปิดใช้งานฟิลเตอร์กรองความคิดเห็น และเลือกกำหนดคีย์เวิร์ดที่ไม่เหมาะสม
6.ตั้งค่าการส่งข้อความของบุตรหลาน : การพูดคุยสื่อสารกับคนแปลกหน้าอาจทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมาได้ ดังนั้น ผู้ปกครองสามารถยกเลิกการติดตาม เพื่อให้การส่งข้อความทำได้ยากขึ้น หรือปิดการส่งข้อความได้เช่นเดียวกัน
7.จำกัดการดูเอ็ท (Duet) ของบุตรหลาน : หนึ่งในกิจกรรมยอดนิยมใน TikTok คือการ Duet กับครีเอเตอร์ที่ชื่นชอบ ในจุดนี้บุตรหลานสามารถเลือกได้ว่าจะให้ใครสามารถเข้าถึงคอนเทนต์ได้ หรือเลือกรีแอ็กกับวิดีโอของตนได้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดคอนเทนต์ที่ไม่เหมาะสม
8.รายงานคอนเทนต์หรือบัญชีผู้ใช้ที่ละเมิดข้อกำหนด : เมื่อพบเจอคอนเทนต์ที่ขัดกับแนวทางปฏิบัติสำหรับชุมชน สามารถรายงานให้ TikTok ทำการตรวจสอบได้ทันที
9.จำกัดเวลาการใช้แพลตฟอร์มของบุตรหลาน : เพื่อให้การใช้งานแพลตฟอร์มเกิดความเหมาะสม ผู้ปกครองสามารถจำกัดระยะเวลาใช้งานได้สูงสุดที่ 2 ชั่วโมง โดยสามารถควบคุมได้โดยตรงผ่านโทรศัพท์มือถือ
10.สร้างสรรค์คอนเทนต์กับบุตรหลาน : การที่ TikTokเป็นแพลตฟอร์มที่สนุกและใช้งานง่าย การเข้าไปร่วมสร้างสรรค์คอนเทนต์กับบุตรหลาน จะช่วยสร้างความสนุกสนาน และเข้าไปมีส่วนร่วมในการใช้ชีวิตของบุตรหลานได้ด้วย