xs
xsm
sm
md
lg

กสทช. มอบใบอนุญาตวงโคจรดาวเทียมครั้งแรกของประเทศไทย

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กสทช. เดินหน้ามอบใบอนุญาตวงโคจรดาวเทียมครั้งแรกของประเทศไทย เริ่มที่หน่วยงานรัฐ-ภาคการศึกษา เพื่อนำไปศึกษาและวิจัย

นายเสน่ห์ สายวงศ์ วิศวกรเชี่ยวชาญพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 30 ก.ย.2563 พล.อ.สุกิจ ขมะสุนทร ประธานกรรมการ กสทช.เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วย พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ รองเลขาธิการกสทช.มอบใบอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม ครั้งแรกของประเทศไทยที่อนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในระบบใบอนุญาต จากเดิมที่เป็นระบบสัมปทาน ซึ่งการอนุญาตสิทธิดังกล่าวเป็นไปตามประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการออกอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 19 ก.พ.2563

สำหรับผู้ที่มารับมอบใบอนุญาตดังกล่าวเป็นดาวเทียมแบบวงโคจรไม่ประจำที่ (Non-Geostationary Satellite Orbit : NGSO) เช่น ดาวเทียมวงโคจรต่ำ (Low Earth Orbit : LEO) และดาวเทียมวงโคจรระยะปานกลาง (Medium Earth Orbit : MEO) ที่มีขนาดเล็กและสามารถส่งขึ้นไปบนฟ้าได้ครั้งละหลายพันดวง ดาวเทียมเหล่านี้สามารถให้บริการได้หลากหลาย เช่น การส่งสัญญาณอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง การส่งผ่านข้อมูลความเร็วสูง การส่งสัญญาณโทรทัศน์ด้วยเทคโนโลยีภาพที่คมชัดมากขึ้น รวมถึงการสำรวจ การนำทาง และการถ่ายภาพที่มีความชัดเจนในระดับสูงมาก

ทั้งนี้มี 5 หน่วยงานที่ได้รับใบอนุญาต 7 ข่ายดาวเทียม ประกอบด้วย การเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมขั้นสมบูรณ์ จำนวน 1 ข่ายดาวเทียม และการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมขั้นต้น จำนวน 6 ข่ายงานดาวเทียม ดังนี้

1.กองทัพอากาศ โดยกรมสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ทหารอากาศ เป็นผู้รับอนุญาตสิทธิขั้นต้น สำหรับข่ายงานดาวเทียม NAPA-2 (NGSO) และข่ายงานดาวเทียม RTAFSAT (NGSO)

2.สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) เป็นผู้รับอนุญาตสิทธิขั้นต้น สำหรับข่ายงานดาวเทียม THEOS2 (NGSO) และสิทธิขั้นสมบูรณ์ สำหรับข่ายงานดาวเทียม THEOS (NGSO)

3.สมาคมวิทยุสมัครเล่นแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมป์ เป็นผู้รับอนุญาตสิทธิขั้นต้น สำหรับข่าวงานดาวเทียม JAISAT-1 (NGSO)

4.โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย เป็นผู้รับอนุญาตสิทธิขั้นต้น สำหรับข่ายงานดาวเทียม BCCSAT-1 (NGSO)

5.กองทัพอากาศ โดยโรงเรียนนายเรืออากาศนวมินทกษัตริยาธิราช เป็นผู้รับอนุญาตสิทธิขั้นต้น สำหรับข่ายงานดาวเทียม THAIIOT (NGSO)

ทั้งนี้ ระยะเวลาการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมของข่ายงานดาวเทียมดังกล่าวข้างต้นจะแบ่งตามประเภทสิทธิที่ได้รับการอนุญาต กล่าวคือ สิทธิขั้นสมบรูณ์จะมีระยะเวลาการอนุญาต 15 ปี นับแต่วันที่ได้รับสิทธิ สำหรับสิทธิขั้นต้นจะมีระยะเวลาการอนุญาตนับแต่วันที่ได้รับสิทธิไปจนถึงวันที่จะได้รับสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมขั้นสมบูรณ์ ภายใน 7 ปี ไม่เช่นนั้นใบอนุญาตจะหมดอายุ

พล.อ.ท.ธนพันธุ์ กล่าวว่า ตอนนี้นับว่าเป็นการเปิดเสรีดาวเทียมแล้ว เพราะภาคธุรกิจก็สามารถเข้ามาขออนุญาตดาวเทียมทั้งแบบไม่ประจำที่ และแบบประจำที่ (Geostationary orbit) แต่ยังไม่มีภาคธุรกิจมาขอในรูปแบบประกอบธุรกิจเชิงพาณิชย์ ซึ่งจะต้องมีค่าใบอนุญาต ขณะนี้จึงมีเพียงแค่หน่วยงานรัฐและภาคการศึกษามาขอใบอนุญาตเพื่อศึกษาและวิจัยเท่านั้น

สำหรับความคืบหน้าในการนำวงโคจรดาวเทียมประจำที่ (Geostationary orbit) ที่มีวงโคจรแล้วแต่ไม่ได้ใช้งานมาเปิดประมูลในปีหน้านั้น ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนเตรียมนำหลักเกณฑ์และวิธีการออกอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมแบบจัดชุด ประชาพิจารณ์ในเดือน พ.ย.2563 นี้ คาดว่าจะสามารถประกาศหลักเกณฑ์และเปิดประมูลได้ต้นปี 2564 โดยเบื้องต้นจัดแบ่งเป็น 4 ชุด (หรือ 4 Package) ดังนี้

ชุดที่ 1 ประกอบด้วย วงโคจร 50.5E (ข่ายงาน C1 และ N1) และ วงโคจร 51E (ข่ายงาน 51)
ชุดที่ 2 ประกอบด้วย วงโคจร 78.5E (ข่ายงาน A2B และ LSX2R)
ชุดที่ 3 ประกอบด้วย วงโคจร 119.5E (ข่ายงาน IP1, P3 และ LSX3R) และ วงโคจร 120E (ข่ายงาน G2K และ 120E)
ชุดที่ 4 ประกอบด้วย วงโคจร 126E (ข่ายงาน 126E) และ วงโคจร 142E (ข่ายงาน G3K และ N5)

ทั้งนี้ ข่ายงาน หรือ Network Filing ทั้งหมดเป็นข่ายงานที่ไม่อยู่ภายใต้สัญญาสัมปทาน ยกเว้น A2B ซึ่งอยู่ภายใต้ดาวเทียมไทยคม 5 ซึ่งหมดอายุก่อนหมดสัญญาสัมปทานในวันที่ 11 ก.ย.2564 และ IP1 ของไทยคม 4 ซึ่งจะมีอายุทางวิศวกรรมถึงปี พ.ศ.2566 ที่ถือว่าเป็นการจัดสรรล่วงหน้าในลักษณะหลายชุดพร้อมกัน เนื่องจากการสร้างดาวเทียมต้องวางแผนล่วงหน้าอย่างน้อย 2-3 ปี










กำลังโหลดความคิดเห็น